ชายแดนภาคใต้: กพต.อนุมัติ 6 โครงการตามที่ ศอ.บต.เสนอ ทั้งการขจัดความยากจน การขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้-ไม้ผลเศรษฐกิจ การพัฒนาเมืองต้นแบบเบตงยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะปากน้ำเทพา โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบระยะเร่งด่วน และการพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซียทั้ง 9 ด่าน
29 ต.ค. - ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำเสนอ ประกอบด้วย 1.กรอบการบูรณาการโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านโครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ภายใต้ระบบ 1 ข้าราชการ 1 ครัวเรือนยากจน มุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจน 5 มิติ 2.อนุมัติหลักการโครงการขยายพื้นที่ปลูกไม้และไม้ผลเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจครัวเรือนควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยเริ่มจากจัดที่ดินสาธารณะประโยชน์ หนึ่งตำบล หนึ่งพื้นที่สาธารณะ และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ
3.อนุมัติหลักการและกรอบวงเงินโครงการยกระดับการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบเบตง จ.ยะลา “Amazean Jungle Trial” เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาไปสู่ระดับนานาชาติ 4.เห็นชอบหลักการและกรอบงบประมาณโครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันการกัดเซาะบริเวณปากน้ำเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา จว.สงขลา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินเรือและลดปัญหาผลกระทบความเสียหายจากน้ำท่วมต่อเนื่องที่ผ่านมา 5.อนุมัติกรอบวงเงินสนับสนุน โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบระยะเร่งด่วน เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จชต.เป็นกรณีเร่งด่วน และ 6.การพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรชายแดนไทย-มาเลเซียทั้ง 9 ด่าน เพื่อยกระดับการค้าชายแดนและความร่วมมือในมิติต่างๆ
ในที่ประชุม พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ (ศอ.บต.) ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาของ ศอ.บต. ว่า ความคืบหน้าการช่วยเหลือและพัฒนาแรงงานไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แล้วกว่า 10,000 คน และจะเร่งช่วยเหลืออีก 7,000 คนให้แล้วเสร็จในเดือน มี.ค. 2565 แยกได้ 3 กลุ่มคือ 1.กลุ่มผู้ที่ประสงค์จะประกอบอาชีพในภูมิลำเนาเดิม 2.ผู้ที่พร้อมไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่และ 3.ผู้ที่ประสงค์เข้าทำงานเกษตรสวนปาล์มในมาเลเซีย สำหรับการแก้ปัญหาการระบาดของโรคใบไม้ร่วงชนิดใหม่ในยางพารา รวม 308,351 ไร่ การยางแห่งประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 331 ล้านบาทเพื่อใช้เร่งศึกษาแก้ปัญหาร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ พร้อมพัฒนาทักษะอาชีพชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบ ให้มีการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่นำร่องและพื้นที่ขยายผลอีก 22,000 ไร่ควบคู่กันแล้ว
ด้าน พล.อ.ประวิตร กล่าวขอบคุณ ศอ.บต.และทุกส่วนราชการที่ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้คืบหน้าอย่างมากต่อเนื่องมา และขอให้ ศอ.บต.ขยายผลเร่งด่วนในกลุ่มเป้าหมายเด็กเล็กและโรงเรียนตาดีกา เพื่อโอกาสในการพัฒนาทักษะภาษาไทยและการนำไปใช้ดำเนินชีวิตในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรมร่วมกัน พร้อมกำชับให้ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ และ ศอ.บต. ปรับปรุงระเบียบด้านแรงงานและอำนวยความสะดวกการทำงานในมาเลเซีย รองรับการเปิดประเทศในต้น พ.ย.
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอย้ำให้ ศอ.บต.เป็นหลักในการประสานขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดเงื่อนไขความรุนแรง โดยให้เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรสวนยางและประมง ซึ่งเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ของประชาชนในพื้นที่ โดยขอให้ทุกฝ่ายทำงานเชิงรุกมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดและหากเกิดต้องลดความเสียหายให้เร็วที่สุด โดยมอบให้ผู้ว่าราชการทั้ง 5 จังหวัดเป็นเจ้าภาพ ใช้ข้อมูลและลงทำงานแก้ปัญหาความยากจนระดับพื้นที่อำเภอและตำบล และให้ปรับแผนการทำงานร่วมกันในการขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์และภูมิสังคมของพื้นที่
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า สำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวขอให้ทุกส่วนราชการส่งเสริมให้มีการจัดการแข่งขันในทุกปีและต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลในการพัฒนาพื้นที่ระยะยาว และขอให้เร่งผลักดันขับเคลื่อนการพัฒนาด่านชายแดนทั้ง 9 ด่านให้เร็วขึ้น เพื่อเป็นประตูชายแดนอำนวยความสะดวกการผ่านแดนและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้โดยรวม
ไม่มีความคิดเห็น: