ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

Amazean Jungle Trail By UTMB ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ พลิกฟื้นเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ชายแดนใต้

 


หลังค่ำคืน วันที่ 7 พ.ค. 2565 UTMB โดย “SABRINA DENADAI” ผู้บริหารได้ประกาศรับรองมาตรฐาน ให้สนามวิ่งเทรล "เบตง" จ.ยะลา เป็นสนาม World Series แห่งที่ 2 ของประเทศไทย ใช้ชื่อว่า “Amazean Jungle Trail By UTMB” ซึ่งถือเป็นการ “จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่” ของเมืองท่องเที่ยว เบตง จ.ยะลา และจังหวัดชายแดนภาคใต้

การประกาศให้เบตงเป็นสนามวิ่งเทรลระดับโลกเป็น “เครื่องการันตี” ความสวยงาม ปลอดภัย และน่าประทับใจ!

ถือเป็นการเชิญชวน ‘นักวิ่งเทรล’ และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้ามาเที่ยวชมและทดลองสนาม สัมผัสบรรยากาศ “ผืนป่าอเมซอนแห่งอาเซียน” ที่ ‘อุดมสมบูรณ์’ เป็นที่ประจักษ์!

กว่า “101 ล้านบาท” เป็นตัวเลขจำนวนเงิน ที่ “สะพัด” ในวันที่ 6-8 พ.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังจัดงาน Amazean Jungle Trail พื้นที่ทุกตารางนิ้วอัดแน่นไปด้วย “ผู้คน” และ “นักกีฬา” ที่หลั่งไหลสู่ “อ้อมอก” แห่งเมืองที่มี ‘เอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะ’

ผู้ประกอบการในพื้นที่ อ.เบตง เล่าว่า โรงแรมและที่พักบริเวณโดยรอบกว่า 100 แห่งราว 4,000 ห้อง มีการ ‘จอง’ และเข้าพัก ‘เต็มทุกห้อง’ โดยมีอัตราการเข้าพัก ตั้งแต่วันที่ 4-9 พ.ค. ส่งผลให้ร้านค้า ทั้งร้านเล็ก-ใหญ่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้เบตงมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในรอบ 3 ปี


Amazean Jungle Trail เป็นการ “พลิกโฉม” การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ดึงนักท่องเที่ยว ทั้งไทยและเทศมารวมตัวกัน เพื่อ “ชมเมือง บรรยากาศ อาหาร ความสวยงาม ด้วยการกีฬา!” เพราะความ “มีดี” ของเมือง จึงทำให้เป้าหมาย “สร้างเมืองให้คนรู้จักทั่วโลก” ประสบผลสำฤทธิ์

"เราใฝ่ฝันที่จะให้ 'เมืองเบตง' เป็นที่รู้จักของชาวโลกในลักษณะภาพลักษณ์ของเมือง ที่มีความสวยงาม มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว และนักวิ่งจากทั่วโลก ภาพตรงนี้ส่งผลให้คนรู้จัก ให้คนทั่วโลกอยากมาทดลองวิ่งและท่องเที่ยว เราทำงานอย่างหนักเพื่อเปลี่ยนมุมมองเมืองเบตงและจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสายตาชาวโลก กิจกรรม Amazean Jungle Trail ได้รับผลลัพธ์และผลตอบรับดีเกินความคาดหมาย พลิกประวัติศาสตร์เมืองเบตง และจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง" พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. เล่า

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยถึงที่มาของ Amazean Jungle Trail ว่า UTMB เป็นหน่วยงานที่ ‘ตั้งและมอบชื่อนี้ให้จัดกิจกรรม’ เพราะเห็นถึงความสวยงามของผืนป่าในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งตราสัญลักษณ์ของ UTMB World Series ทางองค์กรมีกฎในการมอบตราคือ “ความปลอดภัยและการมีส่วนร่วม” จึงการันตีได้ว่า เบตง มีความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ Amazean Jungle Trail By UTMB เป็นสนามเก็บคะแนนของนักวิ่งเทรลทั่วโลกในปี 2566 คือ วันที่ 17-19 ก.พ. กำหนดระยะทาง 170 กิโลเมตร

Amazean Jungle Trail By UTMB “ถือกำเนิด” จากความ “ตั้งใจ” วางเป้าหมาย “งานพัฒนา” จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ ปี 2559 ในโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของ ศอ.บต. ที่แม้แต่คนในพื้นที่ก็ยัง “ไม่มีความมั่นใจ” ว่าจะพลิกฟื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่ มีเพียงรัฐบาลและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่มั่นใจเต็มร้อย ปูทางโครงการดังกล่าว เพื่อเป้าหมายความสงบ มั่นคง ประชาชนรักถิ่นเกิดและมีที่ยืนในสังคมด้วยอาชีพและรายได้


SABRINA DENADAI ผู้บริหาร UTMB เปิดเผยว่า ตื่นเต้นเป็นอย่างมาก ที่เห็นงานระดับโลกจัดขึ้นในผืนป่า ซึ่งเป็นผืนป่าที่มีเอกลักษณ์ และคิดว่า นักกีฬาทุกประเทศก็คิดเห็นเช่นเดียวกัน “ความสงบและสวยงาม” เป็น 2 คำ ที่บรรยายได้จากการวิ่งเทรลในเบตงวันนี้

ข้อคิดเห็นของผู้บริหาร UTMB ตรงกันกับความคิดเห็นของนักวิ่ง 14 ประเทศกว่า 1,300 คน ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมแข่งขัน และเช่นเดียวกับ ทีมนักวิ่งจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่คว้าอันดับที่ 8 จากการวิ่ง 50 กิโลเมตร ซึ่งบอกเล่าถึงความตื่นเต้นในการเยือนเบตง และตั้งเป้าว่า ครั้งหน้าจะลงแข่งขันในระยะ 100 กิโลเมตรให้ได้ แม้การแข่งขันค่อนข้างยาก ต้องใช้ไม้โพล และอาหารสำรองระหว่างการวิ่ง แต่การดูแลจากทีมงาน และความสวยงามเป็นอย่างมากของเส้นทาง ทำให้คุ้มค่ากับการเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ รู้สึกประทับใจกับเมืองเบตง จ.ยะลา

วริทธิท ลักคณาโฆษิตย์ นักวิ่งประเทศไทย เผยว่า ได้วิ่งระยะทาง 25 กิโลเมตร ซึ่งจากประสบการณ์ เส้นทางของเบตงจะมีความชันที่ไม่เหมือนกับที่อื่น แต่ไม่อันตราย ถ้าเป็นมือใหม่มาได้ อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเคยมาเที่ยว อ.เบตงแล้ว เมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งเบตงวันนั้นไม่เหมือนวันนี้ ซึ่งวันนี้มีความน่ามาเที่ยวมากๆ

วันนี้ “ความไม่มั่นใจ” ในงาน “พัฒนา” ได้คำตอบจากกิจกรรม Amazean Jungle Trail ในครั้งนี้เป็นรูปธรรม ซึ่งไม่เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองเบตงเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินทางสู่เมืองเบตง จ.ยะลา ใต้สุดแดนสยาม!

ด้านประชาชนเมืองเบตงและนักท่องเที่ยว เห็นว่า การพัฒนาในทุกๆ ด้าน พร้อมผลักดันให้เกิดการแข่งขัน Amazean Jungle Trail ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนของเมืองเบตง จ.ยะลา อย่างสิ้นเชิง จากเมืองท่องเที่ยวเล็กๆ ที่มีเพียงนักท่องเที่ยวในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน จะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนรู้จักทั่วโลก และเดินทางเข้ามาทุกช่องทาง ไม่ว่าจะด้วยทางรถยนต์เพื่อพิชิต 100 โค้ง 1,000 เลี้ยว เส้นทางสู่เบตง หรือ เดินทางโดยเครื่องบินพาณิชย์ที่สะดวกสบาย ซึ่งจะเป็นการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบหลังจากนี้

แม้จะใช้ระยะเวลา แรงคน งบประมาณ และการลองผิดลองถูกในบางเวลา วันนี้ “Amazean Jungle Trail By UTMB” ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ในการพลิกฟื้นจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ชาวโลกได้เห็นถึงความสวยงาม ปลอดภัย ไร้สถานการณ์ความไม่สงบ ไร้ความแตกแยก พี่น้องทุกเชื้อชาติรวมใจเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างเมืองและสังคมให้น่าอยู่เสมือนผืนป่าอเมซอนแห่งอาเซียน ที่สมบูรณ์ และโอบอุ้มแผ่นดินแห่งนี้ไว้ให้งดงาม



ไม่มีความคิดเห็น: