ต่อยอดเพิ่มมูลค่า "ผ้าขาวม้านาหมื่นศรี" สู่แฟชั่นร่วมสมัยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่





รายงานพิเศษ: นักศึกษาสาขาออกแบบแฟชั่นและธุรกิจ ม.ธุรกิจบัณฑิต ร่วมกับ บริษัทไทยเบฟเวอเรจจำกัด(มหาชน) เพิ่มมูลค่าผ้าขาวม้า จากวิสาหกิจชุมชนทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง เป็นเสื้อผ้าและสินค้าแฟชั่น ร่วมสมัย-สีสันคัลเลอร์ฟูล เหมาะกับกลุ่มวัยรุ่น-คนรุ่นใหม่ เป็นเพิ่มฐานลูกค้าให้เข้าถึงทุกเพศทุกวัย

27 พฤษภาคม 2565 - วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ร่วมกับสาขาการออกแบบแฟชั่นและธุรกิจ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (Fashion Business DPU) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรังจำกัด นำเสนอผลงานออกแบบตัดเย็บต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าของผ้าทอนาหมื่นศรีให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัยตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โดยไม่ทิ้งความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอนาหมื่นศรี

นอกจากนี้ ยังเรียนรู้กรรมวิธีการทอผ้าด้วยการทอในเฟรม การย้อมเส้นใยด้วยสีธรรมชาติ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ผ้าทอ ซึ่งสมาชิกวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีได้ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลต่างๆ แก่นักศึกษาเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของกลุ่มร่วมกันต่อไป ซึ่งการนำเสนอผลงานครั้งนี้มีทั้งเสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าที่ระลึกเป็นไอเทมร่วมสมัย กำหนดสีตามเทรนด์แฟชั่น ประเภทการใช้งาน อาทิ หมวกแก๊ป พวงกุญแจดอกศรีตรัง ตุ๊กตาที่ระลึก รูป ปลา เต่าทะเล กระเป๋า เป็นต้น

น.ส.ปริญญา วัฒนาวิทย์ ดีไซน์เนอร์นักศึกษาสาขาการออกแบบแฟชั่นและธุรกิจ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ตนวางคอนเซ็ปต์ด้านเพิ่มมูลค่าให้สินค้าของชุมชน ให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้มากขึ้น วัสดุที่เลือกใช้เน้นใช้สีฉูดฉาดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอนาหมื่นศรี เพราะเห็นว่าน่าจะเจาะกลุ่มวัยรุ่นได้ เพราะสีสันคัลเลอร์ฟูลกำลังมาแรง เช่น ชุด เสื้อกับกระโปรงและมีเสื้อคลุม





“จากการลงพื้นที่และการออกแบบ เรามองว่าจุดเด่นของผ้าขาวม้านาหมื่นศรีคือเรื่องของสีสัน และมีลวดลายเอกลักษณ์ เรารู้สึกว่าผ้าไทยพัฒนาต่อยอดได้ อยากให้ทุกคนอย่ามองว่าผ้าไทยนั้นเชย หากมองดีๆ จะมีความสวยงาม มีความเป็นไทย” น.ส.ปริญญากล่าว

ด้านนายปรัชญา พิระตระกูล หัวหน้าหลักสูตรออกแบบธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า หลักสูตรออกแบบธุรกิจแฟชั่นของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เปิดมากว่า 10 ปีแล้ว ได้สร้างบัณฑิตแฟชั่นออกไปมากมาย และช่วง 4-5ปี ที่ผ่านมา ภาควิชาได้เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น โดยเน้นให้นักศึกษาสร้างตราสินค้าขึ้นมาเป็นสำคัญ ไม่ใช่แค่การออกแบบเพียงอย่างเดียว จนขณะนี้ นักศึกษาได้นำผลิตภัณฑ์ชุมชนมาสร้างเป็นตราสินค้า เช่น ชุมชนใน จ.ลำปาง สุโขทัย นนทบุรี และประจวบคีรีขันธ์

นายปรัชญากล่าวว่า ผ้าทอนาหมื่นศรีถือเป็นก้าวแรกๆของการสร้างสินค้าให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชน โครงการครีเอทีฟ ยัง ดีไซน์เนอร์ โดยไทยเบฟฯ เป็นโครงการที่ไทยเบฟฯ ต้องการให้มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตร่วมกับนักศึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชน ที่นาหมื่นศรีเราเน้นใช้ผ้าขาวม้า ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานแฟชั่นขึ้นมา โดยชุมชนมีโจทย์ว่าอยากให้ผลิตภัณฑ์ออกไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ และกลุ่มวัยรุ่น





นายปรัชญากล่าวอีกว่า หลังจากนั้น มหาลัยได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลต่างๆ รวมถึงวิถีชุมชนเพื่อนำไปพัฒนาออกแบบ ซึ่งการลงพื้นที่นักศึกษาได้เห็นกระบวนการทำงาน ผลิตภัณฑ์ และวิถีชุมชน และนำสิ่งที่เห็นมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่นักศึกษาทำขึ้น และชาวบ้านได้มาชื่นชมกับผลงานที่นักศึกษาทำขึ้น ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะยังมีสินค้าชุมชนอีกมากที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น ต้องการความรู้และแนวคิดใหม่ๆมาสร้างสรรค์ผลงานนำสู่การเพิ่มมูลค่า เปิดตลาดใหม่ๆ ได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น

“นักศึกษาเองในช่วงแรกอาจจะรู้สึกขัดแย้งบ้าง อาจรู้สึกว่าเชย แต่เมื่อทำงานร่วมกัน มีการศึกษาหาข้อมูลที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์เมื่อสำเร็จเป็นชิ้นงานแล้วมีรูปแบบหน้าตาที่ร่วมสมัย ลักษณะเด่นของผ้าทอนาหมื่นศรีมีสีสดกว่าชุมชนในภาคอื่น การทอมีการใส่ลูกเล่น ใส่ลวดลายยกดอกเข้าไป ซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ถ้าใครเห็นก็จะดูออกว่ามีความแตกต่างและเป็นจุดเด่น" นายปรัชญากล่าว


นายปรัชญากล่าวว่า ขอเสนอแนะชุมชนว่า เส้นใย วัตถุดิบ ควรใช้เส้นด้ายที่เป็นธรรมชาติหรือออแกนิค จะเข้ากับความสนใจของปัจจุบัน ส่วนเรื่องสี ควรจัดกลุ่มคู่สีให้ลงตัว การที่มีโครงการดีๆ แบบนี้ ทำให้มีนักศึกษาหลายคนเข้ามาทำผลิตภัณฑ์ของชุมชน ชุมชนเองก็มีการต่อยอดต่อไป นำสิ่งที่นักศึกษาออกแบบไปขาย มีรายได้กลับมา ซึ่งคณะยังคงให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับชุมชน เพราะผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นฐานสำคัญที่จะส่งเสริมอาชีพ รายได้ เศรษฐกิจของไทย นักศึกษาควรจะลงมือทำงานร่วมกับชุมชน ถ้าเราไม่เข้าไปกระตุ้นการรับรู้ เขาจะไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีอยู่ และสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเป็นสากลได้

ขณะที่นางจำรัส ทองแจ้ง สมาชิกวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี กล่าวว่า ตนทอผ้ามานานแล้ว และเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่ม 20 ปีแล้ว วันนี้รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก ที่นักศึกษาได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรีไปเพิ่มมูลค่า ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า ที่สวยทันสมัย ดูแล้วมีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้น และขอขอบคุณทุกๆคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการต่อยอดสินค้าชุมชนให้เป็นรูปธรรม





สำหรับผ้าทอนาหมื่นศรี เป็นผ้าทอโบราณของ จ.ตรังอายุกว่า 200 ปี กี่ที่ใช้ทอผ้ามี 2 ชนิด ได้แก่ 1.กี่พื้นเมือง หรือกี่แบบโบราณ และ 2.กี่กระตุก แบ่งตามลักษณะโครงสร้างของผืนผ้า ได้ 3 ชนิด ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าตา และผ้ายกดอก ซึ่งแต่ละชนิดแบ่งย่อยเป็นชื่อลายต่างๆ ได้อีกหลายลาย เช่น ผ้าพื้น เป็นผ้าที่ใช้ด้ายยืนสีเดียว มีผ้าพื้นธรรมดา แบ่งเป็นผ้าพื้นสีเรียบและผ้าพื้นสีเหลือบ ผ้าหางกระรอก และผ้าล่อง หรือผ้าริ้ว มีลายต่างๆ ได้แก่ ลายหัวพลู ลายดอกเข็ม ลายดอกข่อย

ส่วนผ้าตา เป็นผ้าที่ใช้ด้ายยืนสลับกันตั้งแต่สองสีขึ้นไป ลายตาสมุก ลายลูกโซ่ตาราง ลายตานก และ ลายดอกมุด และผ้ายกดอก เป็นผ้าที่ใช้ด้ายพุ่ง 2 ชนิด เกิดจากการทอด้วยวิธียกดอก หรือการสร้างลวดลาย โดยการเพิ่มด้ายพุ่ง มักใช้ลวดลายดั้งเดิมที่มีความซับซ้อน ใช้จำนวนตะกอ (เขา) มาก

ในอดีตมีการทอผ้าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีจำนวนตะกอนับร้อย ลวดลายเฉพาะของผ้ายกนาหมื่นศรี ได้แก่ ลายลูกแก้ว ลายลูกแก้วโข่ง ลายลูกแก้วสี่หน่วยใน ลายราชวัตร ลายดอกจัน ลายเกสร ลายดอกกก ลายดอกพิกุล ปัจจุบันมีลวดลายที่นิยมทอเพิ่มอีกกว่า 30 ลาย เช่น ลายพิกุลแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ลายแก้วชิงดวง เป็นต้น

ล่าสุด ลายแก้วชิงดวง ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ผ้าอัตลักษณ์” ประจำ จ.ตรัง เพื่อกระทรวงวัฒนธรรมจะดำเนินการจัดทำหนังสือ “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่น สู่สากล” เนื่องในโอกาสพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2565 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระวิริยะอุสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่อง “ผ้าไทย”

0 ความคิดเห็น