ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

เก่าไปใหม่มา! หลังเปลี่ยน "แม่ทัพภาค 4" กับการเลือกตั้งที่ใกล้มาถึง หนทาง "ดับไฟใต้" จะไปในทิศทางใด







บทความ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก


วันนี้ความรุนแรงในชายแดนใต้จะมากขึ้นหรือน้อยลงนั้น ไม่ได้รับความสนใจเท่ากับเรื่องปากท้องและของแพง เช่นเดียวกับรัฐบาลก็ไม่ได้ใส่ใจวิกฤตไฟใต้เท่ากับเกมการเมือง ซึ่งอาจจะลืมไปแล้วว่าคนในพื้นที่ยังต้องทุกข์ทนกับความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะเสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

“พรรคการเมือง” หรือ “นักการเมือง” ที่หยิบยกกรณีไฟใต้ไปอภิปรายในสภาฯ นั่นก็หมายความว่า พวกเขาต้องการที่จะหา “คะแนนเสียง” มากกว่าที่จะสะท้อนถึงข้อเท็จจริงเพื่อให้รัฐบาลนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปแก้ไข

แม้คนในชายแดนใต้เองก็ “ชินชา” กับความรุนแรงไปแล้ว ใช้ชีวิตแบบแก้ปัญหาด้วยตนเอง ไม่เรียกร้องอะไรจากหน่วยงานรัฐ เมื่อตายก็ยอมรับชะตากรรม ทำศพและรับเงินเยียวยาไป บางครอบครัวย้ายออกจากพื้นที่ บ้างอยู่ต่อเพราะไม่มีที่ไป โดยพร้อมที่จะรับกับความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นอีกกี่ระลอกก็ตาม

เสียงปืนและเสียงระเบิดจากฝีมือกองกำลังติดอาวุธ บีอาร์เอ็น เพื่อรักษาสถิติและหล่อเลี้ยงความรุนแรงไว้ หนักบ้าง เบาบ้างตามเงื่อนไข โดยเฉพาะจากกระบวนการ “พูดคุยสันติสุข” สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องที่จะได้อยู่ต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งในสมัยหน้าหรือไม่



1 ตุลาคมที่จะถึงนี้จะเปลี่ยนผ่านตำแหน่ง “แม่ทัพภาคที่ 4” ในฐานะ “ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า”

ตามวาระที่ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ต้องไปติดยศ “พลเอก” ในตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ.ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ซึ่งเป็นการปูนบำเหน็จอันเป็นวัฒนธรรมองค์กรของกองทัพบก

การทำหน้าที่ดับไฟใต้ 2 ปีที่ผ่านมา ใครจะเห็นว่า “บิ๊กเกรียง” คว้าชัยชนะหรือล้มเหลวอย่างไรนั่นก็แทบไม่มีความสำคัญ เพราะวันนี้ทั้งรัฐบาลและกองทัพก็ไม่ได้มองเห็นความเป็นความตายของคนในพื้นที่ รวมถึงความสูญเสียของนักธุรกิจและนักลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข หรือลึกๆ อาจเห็นว่าเป็นเรื่องที่แก้ไม่ได้แล้วด้วยซ้ำ

แต่ไม่ว่าอย่างไร การมี “แม่ทัพคนใหม่” ที่จะมากำหนดนโยบายดับไฟใต้ก็อาจทำให้ผู้คนอยากเห็นแนวทางใหม่ๆ ที่อาจจะนำความเปลี่ยนแปลงในทางดีขึ้นบ้าง

เช่นเดียวกับที่อดีตแม่ทัพ 4 คนก่อนๆ เคยทำกันมาอย่าง พล.อ.ปราการ ชลยุทธ ทำ “ทุ่งยางแดงโมเดล” พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช เคย “พาคนกลับบ้าน” พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ มุ่งขจัด “ภัยแทรกซ้อน” พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ เน้นแก้ “ยาเสพติด” และตั้ง “ชป.จรยุทธ์” เป็นต้น

สำหรับแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่จะมาดับไฟใต้ต่อจากนี้คือ พล.ต.ศานติ สกุลตนาค

ขึ้นมาจากรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งชีวิตราชการวนเวียนอยู่ในพื้นที่ภาคใต้มาตลอด ณ ตอนนี้จึงยังไม่กล้าที่จะติเรือทั้งโกลน คงต้องรอแถลงนโยบายและให้ได้แสดงความสามารถก่อน ซึ่งคงจะใช้เวลาไม่นาน จากนั้นค่อยวิพากษ์วิจารณ์กันก็ยังไม่สาย

เพราะวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ใช่ต้องดับไฟใต้เพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะเรื่องราวฉาวโฉ่อย่าง “บัญชีผี” ที่ต่อเนื่องมาจากกรณี ส.ต.ท.เมีย ส.ว.ซ้อมทหารรับใช้ เรื่อง “ส่วย” ระหว่างกองพันกับกองพลที่เกิดจากการนินทากันเอง เหล่านี้ รอการสะสางจากแม่ทัพคนใหม่ทั้งสิ้น

และเดือนตุลาคมนี้จะมี “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” หรือ “เจรจาสันติภาพ” ระหว่างตัวแทนรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย อันเป็นการพูดคุยเจรจาต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่างคาดหวังว่าน่าจะได้ข้อตกลงที่เดินไปถึงจุดหมายของแต่ละฝ่ายได้เสียที



ก่อนหน้านี้ บีอาร์เอ็นเปิดเกมรุกด้วยการให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์ถึงความไม่ก้าวหน้า โดยชี้นิ้วมายังฝ่ายไทยที่ไม่ยอมลงนามในเอกสารข้อตกลง เปรียบเหมือนธนบัตรที่ไม่มีลายเซ็นผู้ว่าการแบงก์ชาติแล้วจะนำไปใช้ได้อย่างไร

ตอกย้ำว่าเหมือนการตั้งโต๊ะพูดคุยที่ผ่านๆ มาเป็นไปแบบเถื่อนๆ ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ

มีการอ้างถึงความลำบากใจของสักขีพยานและผู้สนับสนุนในต่างประเทศด้วย เพราะสารัตถะของการพูดคุยในประเด็นสำคัญๆ ไม่มีความก้าวหน้า รวมทั้งระบุชัดว่าบีอาร์เอ็นไม่เห็นด้วยกับการ “ลดความรุนแรง” แต่ต้องการให้มีการ “ลงนามหยุดยิง” ของทั้ง 2 ฝ่าย

แต่ที่สำคัญมากคือ บีอาร์เอ็นต้องการให้การเจรจาถูกยกเป็น “วาระชาติ” ที่ผ่านการรับรองจากรัฐสภาไทยด้วย แถมยังสำทับว่าพฤติกรรมของฝ่ายไทยเป็นไปแบบ “มือขวาถือน้ำผึ้ง มือซ้ายถือยาพิษ

สรุปได้ชัดเจนว่า กระบวนการพูดคุยหรือเจรจาเป็นไปอย่างที่คอลัมน์นี้เคยวิพากษ์วิจารณ์ไว้มาตลอดคือ “นอนเตียงเดียวกัน แต่ฝันคนละเรื่อง”

ที่สำคัญคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทยไม่มีกลยุทธ์ชิงมวลชนและพื้นที่สื่อ ทำได้แค่เพียงให้ได้ใช้งบประมาณไปเรื่อยๆ แบบยากหาจุดจบ

ในขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นกลับมีการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างมีเป้าหมายชัดเจน ใช้เวทีเจรจาสร้างเงื่อนไขรุกกลับฝ่ายไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการหวังผลทางการเมืองได้ชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมทั้ง “ภายใน” และ “ภายนอก”

ที่น่าจับตาคือ เมื่อไม่นานมานี้ “สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP)” นำโดย นายมูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ และพวกได้เดินทางไปร้องเรียนต่อ “คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร” ให้ตรวจสอบการบริหารงานในกองทัพที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และการบังคับใช้กฎหมายเกินความจำเป็น



อีกทั้งยังรวมถึงประเด็นการจัดงาน “มลายู รายอ 2022” ที่ผ่านมา ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีข้อสงสัยว่าเป็นการปลุกระดมในเชิงต่อต้านอำนาจรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพดังกล่าวได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน” ไปแล้วด้วย

ทั้งหมดคือสถานการณ์ไฟใต้ที่ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหนก็จะเห็นถึงการ “รุกคืบ” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ในขณะที่รัฐไทยไม่ว่าจะมองจากมิติไหนก็จะพบแต่การ “ตั้งรับ” และ “ถอยร่น” เพื่อนำไปสู่ภาวะ “หนีญญ่าย พ่ายจะแจ” ทั้ง “ภายใน” และ “ภายนอก” ทั้งสิ้น

แน่นอนถ้าภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่กำลังจะมีขึ้น คนไทยยังได้ “รัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจ” แบบเดิมๆ เชื่อว่ายังคงได้ทั้ง “ยุทธศาสตร์” และ “ยุทธวิธี” ดับไฟใต้แบบเดิมๆ

นั่นเท่ากับประเทศไทยเรากำลังก้าวเดินไปสู่ความพ่ายแพ้ในสงครามแบ่งแยกดินแดนบนแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้หรอกหรือ

ไม่มีความคิดเห็น: