ศอ.บต.ชง กพต.ใช้โดรนประสิทธิภาพสูงเฝ้าระวัง "9 หัวเมืองปลอดภัย"






ชายแดนใต้: ศอ.บต.เตรียมหารือ กพต.ที่จะล่องใต้ลงพื้นที่นราธิวาสวันที่ 19 กันยายนนี้ ผลักดันโครงการ "9 หัวเมืองปลอดภัย" ใช้เทคโนโลยีมาบริหารจัดการเชื่อมโยงข้อมูล ติดตั้งกล้องวงจรปิดตรวจสอบป้ายทะเบียน-ตรวจจับใบหน้า ระบบแจ้งเหตุ ใช้โดรนร่วมตรวจสอบรักษาความปลอดภัย-บรรเทาสาธารณภัย "นราธิวาส" เจ้าภาพเตรียมเสนอ 8 โครงการ

17 กันยายน 2565 - จากกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (ผอ.กอนช.) และประธานกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เตรียมลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ในวันที่ 19 กันยายน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ และประชุม กพต. พร้อมตรวจติดตามการขับเคลื่อนมติ กพต.ในพื้นที่นั้น พล.อ.ประวิตรยังจะพบปะหารือกับผู้บริหารภาคธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไปชมจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก (ไทย-มาเลเซีย) แห่งที่ 2 ที่เชื่อมระหว่าง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาสกับ เมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย รวมถึงรับฟังความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำในพื้นที่ชุมซน จ.นราธิวาส (คันกั้นน้ำ) ที่สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก

ทั้งนี้ ในการประชุม กพต. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา นราธิวาส พร้อมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หารือเพื่อผลักดันโครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเชื่อมโยงข้อมูล สร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 9 หัวเมืองสำคัญ เชื่อมโยงการบริหารจัดการด่านชายแดนไปยังพื้นที่อื่นๆ

9 หัวเมืองสำคัญ ประกอบด้วย 1.อ.เมืองยะลา 2.อ.เบตง จ.ยะลา 3.อ.เมืองนราธิวาส 4.อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 5.อ.เมืองสตูล 6.อ.ควนโดน จ.สตูล 7.อ.เมืองสงขลา 8.อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.สะเดา จ.สงขลา


โครงการนี้ กพต.ได้เห็นชอบกรอบข้อเสนอแล้ว และมอบหมายให้ ศอ.บต.เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานการปฏิบัติงานกับ 4 จังหวัด อีกทั้ง กพต.เห็นชอบให้แต่งตั้งอนุกรรมการ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานยกระดับ 9 หัวเมือง เชื่อมโยงด่านพรมแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความมั่นคงและปลอดภัยด้วย

สำหรับโครงการนี้จะมีการสำรวจและติดตั้งระบบเสานิรภัย ประกอบด้วย 1.ระบบกล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสอบความปลอดภัยให้ประชาชน 2.ระบบแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3.ระบบตรวจจับความเร็วและแผ่นป้ายทะเบียน เพื่อตรวจสอบรถที่เข้าออกในพื้นที่และตรวจจับความเร็วเพื่อปลอดภัย 4.ระบบกล้องและระบบตรวจจับพฤติกรรมน่าสงสัย พร้อมตรวจจับใบหน้า 5.เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้งานรักษาความปลอดภัยและบรรเทาสาธารณภัย

6.พัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแจ้งเตือนประชาชน และให้ประชาชนแจ้งเหตุผิดปกติ 7.จัดระบบเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ จัดทำแผนที่ 3 มิติจากอากาศยานไร้คนขับที่มีความละเอียดสูง เพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง โดยดำเนินการจัดทำแยกเป็นโครงการในแต่ละจังหวัด เพื่อสอดรับกับความต้องการของประชาชนและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่



ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ศอ.บต.ได้นำทีมลงพื้นที่เพื่อทำประชาคม พบปะประชาชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนหรือความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ทั้งในระดับตำบลและจังหวัด แล้วขมวดความต้องการของประชาชนชาว จ.นราธิวาส เป็นแผนงานโครงการที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กพต. ในวันที่ 19 กันยายนนี้รวม 8 โครงการ

ประกอบด้วย 1.โครงการการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีชายทะเลระยะทาง 57 กิโลเมตร โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีการทำแนวกั้นการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งในส่วนของ อปท.ในพื้นที่ กรมโยธาธิการ และผังเมือง ได้ทำแนวกั้นการกัดเซาะชายฝั่งในบางจุด ที่มีการกัดเซาะเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อทำแนวกั้นแล้ว น้ำก็จะไปกัดเซาะในจุดใหม่อีก ดังนั้นในจุดที่เรายังไม่ได้ทำแนวกั้น ได้มีการคุยกันว่าครั้งนี้เราน่าจะเสนอเข้าที่ประชุม กพต. เพื่อที่จะขยายผลไปศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างแนวกั้นการกัดเซาะ

2.การยกระดับสนามบินนราธิวาส ให้เป็นสนามบินนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมา สนามบินนราธิวาสได้รับโอกาสให้เป็นสนามบินที่นำผู้แสวงบุญไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งจะเห็นได้ว่าความเป็นนานาชาติเกิดขึ้นแล้ว และผู้โดยสารที่มาใช้บริการก็ไม่ได้มีแค่เพียงชาว จ.นราธิวาส ยังรวมไปถึงชาวยะลา ปัตตานี จึงเล็งเห็นว่าถ้ายกระดับสนามบินนราธิวาสให้เป็นสนามบินนานาชาติได้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเรามีชายแดนที่ติดกับประเทศมาเลเซียถึง 3 ด่าน โอกาสที่ชาวมาเลเซียและพื้นที่รอบๆ ข้างเคียงจะมาใช้บริการเพื่อเดินทางไปยังกรุงเทพมหานครหรือภูมิภาคอื่นๆ ก็จะมีมากขึ้นด้วย

3.พื้นที่แนวริมทะเล น้ำที่ใช้สำหรับอุปโภคบริโภค เมื่อเจาะบ่อบาดาลลงไปจะเป็นน้ำกร่อยหรือเป็นน้ำสนิม เนื่องจากติดทะเล ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน จึงมีการเสนอแผนงานที่จะขยายเขตประปาของการประปาภูมิภาคให้เพิ่มขึ้นในพื้นที่ของ จ.นราธิวาส ในพื้นที่ที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล



4.ชาวประมงชายฝั่ง ในพื้นที่ จ.นราธิวาส มีสินค้า O-TOP ที่มีความโดดเด่น ก็คือปลากุเลาเค็ม ซึ่ง ณ วันนี้ ปลากุเลาที่นำไปทำเป็นวัตถุดิบปลากุเลาเค็มมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจับจ่ายซื้ออาหาร เราจึงเตรียมเสนอแผนที่จะสร้างความอุดสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในแนวชายฝั่งทะเลเพื่อจะเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งอนุบาล เป็นแหล่งผสมพันธุ์ของสัตว์น้ำ จึงมีแผนงานโครงการในเรื่องของการทำซั้ง หรือปะการัง ในแนวชายฝั่ง เพื่อให้ชายฝั่งทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ ตลอดจนให้ความรู้ต่อพี่น้องกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน

5.จังหวัดได้ให้งบประมาณในการก่อสร้างสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ในส่วนของอาคารสำนักงานใช้ได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามบริเวณดังกล่าวจำเป็นต้องมีสถานที่ประกอบศาสนกิจ เพื่อรองรับประชาชนที่มาติดต่องานกับสำนักงานฯ จึงได้นำเข้าแผนโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

6.ปัจจุบันปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น จึงได้คิดกันว่า เราน่าจะต้องหาอะไรมาชดเชยปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงอยู่ในตลาด จึงได้หารือกับสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้คิดกันว่า เราน่าจะมีการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพชั้นดีให้เกษตรกร 7.โครงการขยายเขตประปา และ 8.โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่ง เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ของชายฝั่งทะเลที่เป็นแหล่งอาหารให้ประชาชน ให้ชาวประมงชายฝั่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]