เพราะวางเฉยต่อการเข้ามาของตะวันตก?! วันนี้จึงมีเรื่อง “ประชามติแยกชายแดนใต้”






บทความ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก

ผู้เขียนน่าจะเป็นคอลัมนิสต์เพียงคนเดียวที่เกาะติดความเคลื่อนไหวสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบกัดไม่ปล่อย โดยมุ่งเน้นนำเสนอใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย

หนึ่ง - ความเคลื่อนไหวของกองกำลังติดอาวุธที่ปฏิบัติการใน 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย รวมทั้งความเคลื่อนไหวของขบวนการบีอาร์เอ็นในประเทศมาเลเซีย

สอง - วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ปกครอง รวมถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) กระทรวงต่างประเทศ และกระทั่งระดับนำในรัฐบาล

สาม - ฉายภาพให้เห็นปีกการเมืองของขบวนการบีอาร์เอ็นที่แฝงฝั่งอยู่ขบวนการนิสิตนักศึกษา ภาคประชาสังคม หรือสถาบันต่างๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในบริบทเห็นต่างจากรัฐไทย

และ สี่ - เปิดโปงปฏิบัติการองค์กรต่างประเทศ (ประมาณว่ามีกว่า 35 องค์กร) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการเข้ามาเพื่อแทรกแซงงานด้านความมั่นคงในชายแดนใต้ เช่น เจนีวาคอลล์ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) โดยเฉพาะจากชาติตะวันตกไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เป็นต้น

แน่นอนว่าการแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนผ่านคอลัมน์นี้มักจะถูกตอบโต้บ่อยมาก โดยเฉพาะจาก “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” รวมถึงจาก “นายพล” ที่หอมก้นฝรั่ง เพราะค่าตอบในตำแหน่งที่ปรึกษา หรือไม่ก็ได้พ็อกเก็ตมันนี่ทัวร์จนเคยชิน



จึงไม่แปลกที่เวลานี้ องค์กรชาติตะวันตกได้ “เสี้ยมสอน” ให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นเคลื่อนไหวในกระบวนการเจรจาสันติภาพได้อย่างเป็นระบบ แถมปฏิบัติการต่างๆ ก็สอดรับกับความเป็นสากล ขณะเดียวกันก็เกิดการรวมตัวกันของ “แวรุง” ในชายแดนใต้เคลื่อนไหวได้แบบถี่ๆ

ปรากฏการณ์ต่างๆ ในลักษณะนี้ทำให้หลายฝ่ายเป็นห่วงกันมากว่า อีกไม่นานการแบ่งแยกแผ่นดินชายแดนใต้ออกจากประเทศไทยอาจจะทำได้สำเร็จ หรืออย่างน้อยก็อาจจะได้เห็น “เขตปกครองตนเอง” หรือไม่ก็ “เขตปกครองพิเศษ” อะไรในทำนองนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นที่ประจักษ์

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ก็เกิดข่าวครึกโครมที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้เขียนให้ข้อมูลมาต่อเนื่อง นั่นคือ มีเวทีเปิดตัว “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” และการจัดกิจกรรม “การกำหนดอนาคตตนเองกับสันติภาพปาตานี” ที่ห้องประชุมศรีวังสา ตึกรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

หากจะว่าไปแล้ว “การกำหนดอนาคตตนเอง” กับ “การกำหนดใจตนเอง” ถือเป็นเรื่องเดียวกัน และสิ่งนี้เป็นที่รับรู้กันว่าปรากฏอยู่ใน “กฎบัตรของสหประชาชาติ” ที่องค์กรชาติตะวันตกนำมาบ่มเพาะให้แก่มวลชนบีอาร์เอ็นมานานแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อให้นำมาใช้ “ลงประชามติ” เมื่อเงื่อนไขความขัดแย้งถึงจุดที่สุกงอม

ที่สำคัญในกิจกรรมวันนั้นยังมีการให้ผู้เข้าร่วมได้ “ทำประชามติจำลอง” เสมือนเตรียมการให้ประชาชนได้ทดลองลงมติเพื่อร่วมกันกำหนดว่า แผ่นดินชายแดนใต้ควรจะเดินไปในทิศทางไหน เช่นให้เป็น “จังหวัดจัดการตนเอง” หรือควรให้เป็น “เขตปกครองพิเศษ” หรือเป็น “เขตปกครองตนเอง” เป็นต้น

จากข่าวครึกโครมดังกล่าวจนถึงวันนี้ก็ยังถกเถียงกันไม่จบว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนั้นถือว่า “ผิดกฎหมาย” หรือไม่ ความเห็นจำนวนมากชี้ว่าเป็นเรื่อง “หมิ่นเหม่” แต่ก็มีบางส่วนฟันธงว่าผิดตามมาตรา 113 ซึ่งเรื่องนี้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ควรต้องให้คำตอบที่ชัดเจนแก่ประชาชนโดยเร็ว

มีคำถามจากประชาชนที่ไม่มีความคิดให้ “กำหนดใจตนเอง” เพื่อนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนก็คือ ถ้ากิจกรรมครั้งนั้นผิดกฎหมาย แล้วจะดำเนินการอย่างไรกับ “ผู้จัด” และ “ผู้ร่วมเวที” หรือกระทั่ง “ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง” ต่างๆ



อย่างไรก็ตามก็เข้าใจได้ว่าการแก้ปัญหาไฟใต้ต้องใช้ทั้ง “นิติศาสตร์” และ “รัฐศาสตร์” ควบคู่กันไป แต่ในบางกรณีก็ต้องมีความเด็ดขาดมิใช่หรือ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดการ “บานปลาย” แบบที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับหลายเหตุการณ์ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ใช้วิธี “ซุกขยะไว้ใต้พรม” หรือ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” มาตลอด

ตัวอย่าง “อดีตแม่ทัพภาคที่ 4” หลายคนไม่ยอมรับว่า “บีอาร์เอ็น” มีอยู่จริง แต่โยนการก่อการร้ายไปให้เครือข่ายยาเสพติดและน้ำมันเถื่อน พร้อมเลือกรายงานแต่เรื่องดีๆ เพื่อให้ได้รับคำชื่นชมจาก “พวกที่นั่งบนหอคอยงาช้าง” ซึ่งนั่นก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ “ไฟใต้” ติดกับดักชาติตะวันตกที่ “กางแหฟ้า ตาข่ายดิน” เอาไว้จวบจนวันนี้

ที่ไฟใต้เดินมาถึงจุดที่มีการ “จำลองการลงประชามติ” แถมยังมี “ตัวแทนพรรคการเมือง” เข้าร่วมด้วย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับวางเฉยต่อการเข้ามาแทรกแซงขององค์กรชาติวันวันตกใช่หรือไม่ ถ้าใช่แล้ว กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงรัฐบาลจะรับผิดชอบกันอย่างไร

และโดยเฉพาะบรรดา “นายพล” ที่ได้ไปนั่งเป็นที่ปรึกษาองค์กรจากชาติตะวันตก ผู้ซึ่งนิยมดมก้นฝรั่งตาน้ำข้าวว่าหอมนั้น ต้องถือว่าพวกท่านมีส่วนโดยตรงทำให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น ท่านจะรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร ช่วยตอบคำถามให้คนไทยทั้งประเทศรับรู้ด้วย

ถึงตรงนี้ก็ได้แต่ภาวนาให้พวกท่านในฐานะนายพลนอกราชการส่วนใหญ่ อย่าเพิ่งล้มหายตายจากโลกนี้ไปเสียก่อน ขอให้พวกท่านจงมีชีวิตยืนยาวเพื่อจะได้เห็นอนาคตแผ่นดินปลายด้ามขวานในวันที่จะมีการ “ลงประชามติ” กันจริงๆ เพราะสิ่งนี้ต้องนับเป็น “ผลงานอัปยศ” ของพวกท่านที่สร้างไว้ให้แก่ลูกหลานสืบไป



ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]