หากใช้แค่กฎหมายเพื่อแก้ปัญหา ระวัง! จะตกหลุมพราง "บีอาร์เอ็น"






บทความ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก


สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วงเวลานี้มีสิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดอยู่ 2 ประเด็นที่ถือว่ามีความสำคัญมาก กล่าวคือ

หนึ่ง – การก่อการร้ายของ “บีอาร์เอ็น” ที่หลังเลือกตั้งมีปฏิบัติการถี่ขึ้นผิดปกติ นอกจากเป็นไปตามวงรอบและยุทธศาสตร์ทางการทหารแล้ว ยังมีนัยทางการเมืองที่แอบแฝงด้วย กล่าวคือ เป็นการส่งสัญญาณถึง “รัฐบาลใหม่” ในการกำหนด “นโยบายดับไฟใต้” และโดยเฉพาะ “การเจรจาสันติภาพ” ที่ไม่ประสงค์ให้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมโต๊ะการเจรจาด้วย

น่าสังเกตคือ การก่อเหตุของบีอาร์เอ็นช่วงหลังเลือกตั้งนอกจากลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ อ.กระพ้อ จ.ปัตตานี และ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตามวงรอบปกติแล้ว เป้าหมายลอบบึ้มยังมี “พระสงฆ์” รวมถึงการเข่นฆ่า “ชาวไทยพุทธ” ที่มีอาชีพหาของป่าและล่าสัตว์ด้วย โดยหลังเกิดเหตุกลับไม่เห็นปฏิบัติการเชิงรุกกลับจากกองกำลังทหารของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” แต่อย่างใด

เรื่องนี้ผิดกับที่ผ่านๆ มา ที่หลังเกิดเหตุจะมีการส่งกองกำลังรุกกลับทั้งไล่ล่า ปิดล้อมและตรวจค้นแหล่งหลบซ่อนกบดานทั้งของ “แนวร่วม” ในหมู่บ้านและของ “กองกำลังติดอาวุธ” ตามป่าเขาหลังหมู่บ้านหรือบนเทือกเขาต่างๆ อย่างเป็นข่าวครึกโครมให้เห็นตลอด

การปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามกระทำเพียงฝ่ายเดียว เรื่องนี้มองเป็นอื่นไม่ได้เลยนอกจากปล่อยให้มีการทำลายความเชื่อมั่นจากประชาชน และโดยเฉพาะกระทบต่อขวัญและกำลังใจของข้าราชการและชาวไทยพุทธในพื้นที่อย่างมาก จนดูเหมือน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่มีน้ำยาต่อกรกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่เคยป่าวประกาศมาโดยตลอดว่ากองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นมีเพียง “หยิบมือเดียว” เท่านั้น





สอง – การดำเนินการกับ “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” และ “ภาคประชาสังคม” รวมทั้งคนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพปาตานีเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมศรีวังสา คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี โดยให้ “ทดลองลงประชามติกำหนดอนาคตตนเอง” ที่มีการตีความว่านำอาจจะไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 “พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค” แม่ทัพภาคที่ 4 ผอ.รมน.ภาค 4 ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายแจ้งความกับ สภ.เมืองปัตตานี ให้ดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องจำนวน “5 คน” ซึ่งในทางการสืบสวนสอบสวนพบว่า มีความผิดที่ค่อนข้างชัดเจนในข้อหาเกี่ยวกับการกระทำที่มี “เจตนา” ในการ “แบ่งแยกดินแดน”

เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่อไป โดยเฉพาะปฏิกิริยาของกลุ่มองค์กร “นักศึกษา” และ “เอ็นจีโอ” ต่างๆ ซึ่งก็มีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนออกมาเคลื่อนไหวบ้างแล้ว อย่างล่าสุดการออกแถลงการณ์ของ “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง” (คนส.) พร้อมเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าหยุดดำเนินคดี รวมถึงข่มขู่หรือคุกคามประชาชน

ดังนั้น สิ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าควรดำเนินการหลังจากนี้ใน 2 ประเด็นคือ 1.ต้องใช้ “งานการข่าว” ติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายบีอาร์เอ็นว่า จะก่อเหตุร้ายเพื่อ “ตอบโต้” กรณีนี้อย่างไร รวมถึงการปกป้องไม่ให้เกิดความสูญเสียที่จะตามมา

และ 2.ต้อง “ทำความเข้าใจกับสังคม” โดยเฉพาะกับกลุ่มนักศึกษาและภาคประชาสังคม ซึ่งเรื่องนี้ ปีกทางการเมืองของบีอาร์เอ็นนำเอาไปปฏิบัติการไอโอเพื่อปลุกระดม “มวลชนในพื้นที่” แล้วว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าใช้กฎหมาย “รังแก” นักศึกษาและประชาชน


ไม่รู้ว่าวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้สร้างความเข้าใจต่อประชาชนในพื้นที่ไปถึงไหนแล้ว หรือทำเพียงแค่ให้เห็นว่าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษไปแล้วเท่านั้น




ความจริงแล้วการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าใช้กฎหมายและมุ่งให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมถือเป็นสิ่งที่พึ่งกระทำ ดีกว่าการใช้วิธีการเถื่อนๆ เช่น อุ้มฆ่าผู้ที่เห็นต่าง เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำความเข้าใจกับสังคมด้วย โดยต้องไม่ปล่อยให้ “มวลชนในพื้นที่” เข้าใจผิดตามการชี้นำของฝ่ายบีอาร์เอ็น เพราะนั่นจะเป็นผลเสียต่อมาตรการดับไฟใต้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่ “มวลชนในพื้นที่” ยังเลือกที่จะอยู่กับฝ่ายบีอาร์เอ็นจนเดินงานการเมืองสร้าง “มวลชนปฏิวัติ” หรือ “เยาวชนปฏิวัติ” ได้สำเร็จ ที่เป็นเช่นนี้ล้วนมาจาก “ความล้มเหลว” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยเฉพาะในเนื้องานด้านการสื่อสารและทำความเข้าใจกับสังคมอย่างเป็นสำคัญ

ดังนั้น จึงเห็นว่าหาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ามุ่งเน้นใช้กฎหมายแก้ปัญหาอย่างเดียว โดยไม่ให้ความสนใจในเรื่องการทำความเข้าใจกับสังคม โดยเฉพาะกับ “มุสลิมในพื้นที่” นั่นมีแต่จะเดินไปสู่ “หลุมพราง” ที่บีอาร์เอ็นขุดรอไว้เสียมากกว่า แถมยังจะช่วยเร่งรัดเวลาปฏิวัติมวลชนของฝ่ายเขาประสบความสำเร็จรวดเร็วขึ้น

ไม่ต้องเชื่อสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอก็ได้ เพราะเวลาอีกไม่นานจะช่วยพิสูจน์ในเรื่องเหล่านี้เอง เช่นเดียวกับกรณีที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” พร่ำพ่นมานานว่า ไม่มี “บีอาร์เอ็น” และไม่มี “องค์กรต่างชาติ” เข้ามาแทรกแซงวิกฤตไฟใต้ ซึ่งผู้เขียนก็ค้านมาตลอด แล้วสุดท้าย “ฝ่ายความมั่นคง” ก็หนีความจริงไปไม่พ้น



ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]