ถาม 2 นายกรัฐมนตรี ปรับ ครม.ใหม่ไม่ยึดโยง ‘ดับไฟใต้’ จะแก้วิกฤตได้อย่างไร?






บทความ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก



ความรุนแรงในชายแดนใต้ในเวลานี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน” ที่มี “พรรคเพื่อไทย” เป็นแกนนำอย่างแน่นอน เพราะตั้งแต่ได้อำนาจบริหารประเทศ เหตุการณ์ก็เพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต เมื่อเทียบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐบาลชุดก่อนที่มีตัวเลขสถิติจำนวนการเกิดเหตุลดลง

อาจเป็นเพราะในรัฐบาลก่อน “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ได้ทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง เนื่องจากผู้นำรัฐบาลเคยเป็น “ผู้นำทหาร” มาก่อน แตกต่างจากรัฐบาลนี้โดยสิ้นเชิง ที่เสนาบดีกลาโหมก็ไม่ได้มาจาก “กองทัพ” แถมยังมีความสับสนเกี่ยวกับรองนายกฯ ที่กำกับดูแลงานด้านความมั่นคง

เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพลเรือน สถานะของกองทัพก็เปลี่ยนไป 

ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่างก็มีชื่อนำหน้าว่า “นาย” ไม่ใช่ “พลเอก” และอาจหมายรวมถึง “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)” ที่ไม่ได้เป็นทหาร แต่เป็น “ตำรวจ” ที่ไม่ต้องเกรงใจใน “สีเดียวกัน” หรือเป็น “รุ่นพี่-รุ่นน้อง” ในเหล่าทัพ

ปฏิบัติการของหน่วยงานความมั่นคงหลังมีรัฐบาลพลเรือนจึงมีความแตกต่าง เหตุรุนแรงในชายแดนใต้จึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่ง “บีอาร์เอ็น” ก็มองเห็น “จุดอ่อน” นี้

จึงสร้างสถานการณ์ให้รัฐบาลพลเรือนเดินเข้าสู่ “กับดัก” ได้อย่างง่ายๆ

ตัวอย่างเช่นการขับเคลื่อนการเจรจาสันติภาพในยุครัฐบาลทหาร 9 ปีไม่มีความก้าวหน้า ไม่มีการลงนามร่วมใดๆ เพราะ “บิ๊กตู่” สั่ง “นายพล” หัวหน้าคณะเจรจาได้ทุกคน 

ต่างจาก “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ “นายสุทิน คลังแสง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเวลานี้

ส่งผลให้บีอาร์เอ็นฉวยโอกาสกดดันและโหมไฟใต้เต็มที่

จึงไม่แปลกที่ในยุค “รัฐบาลลูงตู่” กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ประเมินสถานการณ์ว่าดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะนโยบายที่ใช้ “เดินมาถูกทางแล้ว” แต่มาถึง “รัฐบาลน้านิด” พอเจอเกมรุกกลับฉับไวของบีอาร์เอ็นในทุกแนวรบกลับทำให้ดู กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าปั่นป่วนรวนเร มือไม้สั่นไปไม่เป็นอย่างที่เห็น




เหตุความรุนแรงเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 บอกให้รู้ว่า แม้ก่อนหน้านายเศรษฐาจะ “สร้างภาพใหญ่” นำคณะลงพื้นที่ค้างคืนและไปกินปลานิลสายน้ำไหล ที่ จ.ยะลา พร้อมประกาศ “ก้าวข้ามความรุนแรง” โดยใช้การพัฒนาเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้าง “มิติใหม่” ให้ชายแดนใต้ก็แทบไม่เกิดมรรคผล

เพราะหลัง “เสี่ยนิด” กลับเมืองกรุงเพียงไม่กี่เพลาก็เกิดปฏิบัติการ “สวนควันปืน” ด้วยการวางระเบิด วางเพลิงเผาโรงงานอุตสาหกรรม ร้านสะดวกซื้อและร้านค้า เพื่อบอกว่าถ้ายังไม่รีบตั้งโต๊ะเจรจาเพื่อรับข้อเสนอให้บีอาร์เอ็นพอใจ

ก็อย่าหวังจะมาพัฒนาใดๆ ในชายแดนใต้!

สุดท้ายเหตุการณ์ที่เกิดกับ 2 โรงงานไฟฟ้าชีวะมวลที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี กับที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้สร้างความหวั่นไหวให้แก่โรงงานไฟฟ้าชีวะมวลที่เหลืออยู่ในชายแดนใต้ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ต้องหนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ไฟใต้ที่ลุกโชนในขณะนี้มีส่วนอย่างสำคัญกับรัฐบาลพลเรือน แถมยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นพลเรือน ที่เอาแต่พูดเรื่องลงทุน “ซื้ออาวุธ” ให้กองทัพ 

แต่ไม่เคยพูดถึงการลงทุนเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินคนในชายแดนใต้แต่อย่างใด

จึงไม่แปลกที่ในการปรับ ครม.ที่เพิ่งผ่านพ้นไปหมาดๆ ปรากฏว่า นายสุทินยังได้ “ตีตั๋ว” อยู่ต่อไปในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

อีกทั้งก็เพราะกองทัพเองที่ต้องการเก็บ “เสนบดี” อย่างนี้ไว้

นั่นคือปฏิบัติการที่พุ่งเป้าเข้าใส่รัฐบาลพลเรือน ขณะที่ในส่วนของ “การเมือง” บีอาร์เอ็นก็รุกคืบทั้งใน “สภาผู้แทนราษฎร” และ “ภาคประชาสังคม” ในชายแดนใต้ 

อย่าลืมว่าการเกิดขึ้นของ “กรรมาธิการสันติภาพ” ทีมี “นายจาตุรนต์ ฉายแสง” นั่งเป็นประธานอยู่ นั่นก็มาจากการผลักดันของปีกการเมืองบีอาร์เอ็น

เคยเสนอให้นำ “เหตุการณ์ตากใบ” ที่เกิดเมื่อปี 2547 และกำลังจะหมดอายุความขึ้นฟ้องศาลเพื่อเอาผิด 9 เจ้าหน้าที่มีส่วนสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส

เวลานี้ก็มีการหยิบ “เหตุการณ์ปุโละปุโย” จ.ปัตตานี มาทำ “ไอโอ” เพื่อกดดันให้มีการฟ้องศาลเอาผิดเจ้าหน้าที่เช่นเดียวกัน




ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า หลังการเข้ามาของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแก่นแกนจัดตั้ง ความรุนแรงของไฟใต้ยิ่งโชนเปลวต่อเนื่อง โดยฝีมือบีอาร์เอ็นที่เปิดเกมรุกทั้งทางด้านการทหารและทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน

ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แม้ไม่อยู่ในสถานะ “ยะญ่ายพ่ายจะแจ” แต่ก็ไม่ “เข้าตาประชาชน” เพราะแทบทุกวันมีแต่เรื่องความสูญเสีย

ถ้าไม่ใช่ “กำลังพล” ก็เป็นเรื่อง “เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน” ซึ่งที่จริงกำลังพลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เวลานี้ป้องกันตนเองยังไม่ได้ 

แล้วจะหวังให้ป้องกันเหตุร้ายได้อีกหรือ

การปล่อยให้ “กองกำลังติดอาวุธ” บีอาร์เอ็นข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลกจากฝั่งมาเลเซียเข้ามาใช้ทั้งระเบิดและปืนถล่มตำรวจ เสร็จแล้วล่าถอยกลับไปยังฝั่งมาเลเซียได้สะดวกดาย นับเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึง “ความบกพร่อง” และ “ไม่เอาไหน” ของผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าว

การปล่อยให้ “แนวร่วม” บีอาร์เอ็นทิ้งใบปลิวข่มขู่เอาชีวิต “ทหารพราน” และ “อส.” ทั้งที่ อ.บันนังสตา และ อ.เมือง จ.ยะลา เป็นการทำ “สงครามจิตวิทยา” ที่มีผลต่อกำลังพล โดยเฉพาะ “กองกำลังท้องถิ่น” รวมถึงประชาชนในพื้นที่ให้หวาดกลัวและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลบีอาร์เอ็นมากขึ้น

และการที่ “แกนนำ” ระดับ “รองหัวหน้าขบวนการ” ส่งสารข่มขู่ “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” และ “ผู้นำศาสนา” ด้วยการถามว่ารู้จัก “ทหารของปาตานี” หรือ “บีอาร์เอ็น” หรือไม่ ถือเป็นการ “เปิดหน้าชก” จึงต้องถามว่าแม่ทัพ นายกองและเสนาธิการของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าว่า มีความรู้สึกรู้สาหรือไม่

ถ้า “รู้ร้อนรู้หนาว” ก็ต้องถามต่อว่า แม่ทัพ นายกองและเสนาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะปฏิบัติการต่อสถานการณ์ต่างๆ เหล่านั้นอย่างไร

ที่สำคัญมากคือต้องถามนายเศรษฐา ทวีสิน ผู้นั่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ “นายทักษิณ ชินวัตร” คือผู้ที่ถูกสังคมมองว่าเป็น “นายกรัฐมนตรีตัวจริง” ว่า จะแก้วิกฤตไฟใต้ให้มอดดับได้อย่างไร



นี่ก็เพิ่งปรับ ครม. แต่ก็แทบไม่มีอะไรที่ยึดโยงกับ “มาตรการดับไฟใต้” แม้แต่น้อย แถม “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม” ก็ไม่มี ที่สำคัญ “รองนายกรัฐมนตรี” ที่จะกำกับดูแล “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ ศอ.บต. และ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ก็ยังไม่ชัด และที่มีอยู่ดูหน้าตาแล้วยังไม่เห็นว่ามีใครสันทัด

จึงอุทานได้เลยว่า “จบเห่”

หรือห้วงกว่า 20 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุขึ้นมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 นับจากนี้ไปจะเป็นช่วงแห่ง “คนตาบอดเดินจูงคนตาดี” และแถมยังเป็นการ “ข้ามสะพานไม้แผ่นเดียว” อีกต่างหาก

หรือไม่ก็เป็นยุค “มือบอด” สำหรับการแก้ปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง

###





ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]