โควิด-19 มา 2 ปี 'ชายแดนภาคใต้' รอไม่ได้อีกแล้ว รัฐบาลต้องกล้าเดินหน้า "นิคมอุตสาหกรรมจะนะ"



 โดย.. เมืองไม้ขม



เป็นที่แน่นอนว่าโรค ”โควิค-19" ยังอยู่กับเราอีกนาน และเราต่างหากที่ต้องปรับทุกอย่างแบบ ”นิว นอร์มอล” เพื่อที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้ได้ เพื่อจะเดินหน้าในการขับเคลื่อนทุกองคาพยพของประเทศไปให้ได้


การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเปิดประเทศท่ามกลางความเสี่ยงในวันที่ 1 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เพราะประเทศไม่มีทางเลือกอีกต่อไป นั่นคือ บ้านเมืองต้องเดินหน้า ทุกอย่างต้องเป็นไปตามวิถีของธรรมชาติ เราจะปิดประเทศ ล็อกดาวน์เมือง ปิดหมู่บ้าน เพื่อรอให้โควิด-19 หยุดการระบาด หรือให้ตัวเลขเป็นศูนย์ แล้วจึงค่อยกลับมาขับเคลื่อนประเทศไม่ได้แล้ว


โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศ ทุกโครงการที่ว่าจะเป็นเล็ก ใหญ่ ที่หยุดชะงักไปร่วม 2 ปี ต้องเร่งรีบในการเดินหน้า เพราะเราเสียเวลาไป 2 ปี ถือว่า มากพอในการทำให้การพัฒนาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความล่าช้า โดยเฉพาะในสภาวะที่ประเทศถดถอยทางเศรษฐกิจ การลงทุน ซึ่งไม่แน่ใจว่า ต้องใช้เวลา 2 หรือ 5 ปี กว่าที่สภาวะของการค้า การลงทุน จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ


สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น โควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจถดถอย การลงทุนเป็นศูนย์ คนว่างงานเพิ่มสูง เพราะโครงการต่างๆ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ศอ.บต.ได้ทำการขับเคลื่อนอย่างเป็นมรรคเป็นผล โดยเฉพาะโครงการที่นักลงทุนจากต่างประเทศได้เข้ามาดำเนินการในเบื้องต้น ต้องหยุดชะงัก เพราะปัญหาของโควิด-19 ทั้งสิ้น


โครงการที่ยังมีการขับเคลื่อนไปได้บ้าง ท่ามกลางปัญหาอุปสรรคของโควิด-19 คือ โครงการ ”เมืองต้นแบบที่ 4" หรือ ”เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีข่าวความคืบหน้าปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ เช่น มีการทำแผนแม่บทของการจราจรและโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเติบโตของการค้าการลงทุนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” โดยทำเอ็มโอยู ระหว่าง ศอ.บต.กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี



การทำเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.หาดใหญ่) เพื่อให้เป็นผู้รับฟังความคิดเห็น เพื่อลงรายละเอียดของโครงการว่า โรงงานอุตสาหกรรม ประเภทอุตสาหกรรม ในพื้นที่มีอะไรบ้าง และตั้งอยู่ตรงไหนของพื้นที่ ตามรายละเอียดของกลุ่มทุน ที่เป็นเอกชน เจ้าของโครงการ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะหากขาดความรอบคอบ และไม่มีการศึกษาอย่างเพียงพอ อาจจะเกิดปัญหากับประชาชนในอนาคต


และอีกความคืบหน้าหนึ่งคือ องค์กรบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ได้ดำเนินการว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา เป็นผู้ออกแบบ เพื่อการรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ อ.จะนะ ในภาพรวม และในพื้นที่ 3 ตำบล ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในการเปลี่ยนสีผังเมืองตามกฎหมายผังเมือง ที่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการออกแบบ เพื่อลงการพื้นที่ในการรับฟังความคิดเห็น


แต่...การดำเนินการคงจะไม่ง่ายนัก เนื่องจากขณะนี้ เอ็นจีโอเจ้าเก่า หมอเจ้าเก่า และกลุ่มชาวบ้านกลุ่มเก่า ที่ค้านทุกอย่าง ทุกโครงการ ที่ถูกนำเข้ามาในภาคใต้ ได้มีการ ”ออกโรง” ปลุกระดม โดยอ้างเรื่องของ ”โควิด-19" ที่ยังมีการระบาดอยู่ว่า ทำไมรัฐจึงไม่รอให้โควิด-19 หมดไปก่อน แล้วค่อยดำเนินการเปิดการรับฟังความคิดเห็น การเร่งรัดเพื่อรับฟังความคิดเห็นเป็นการ ทำตามความต้องการของกลุ่มทุนหรือไม่


โดยข้อเท็จจริง วิธีการเปิดรับฟังความคิดเห็นมีด้วยกันหลายรูปแบบ อย่างน้อยก็ 5 วิธีการด้วยกัน ไม่จำเป็นที่ต้องต้องจัดเวทีเพื่อให้ประชาชนมาครั้งละมากๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การจัดเวทียิ่งแยกย่อย ยิ่งน้อยคน และให้ถี่ๆ ขึ้น หรือการประชุมกลุ่มแบบ ”นิว นอร์มอล” ยิ่งได้ประโยชน์ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้โควิด-19 เป็นศูนย์แล้วค่อยจัด เพราะเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะคอยให้โควิด-19 หายไปก่อน และจึงมาเริ่มขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ นั่นหมายถึงการซ้ำเติมประเทศให้บอบซ้ำและแห้งตายเร็วขึ้น


ปัญหาที่เอ็นจีโอออกมาเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการเปลี่ยนสีผังเมือง เพราะ เอ็นจีโอและกลุ่มผู้ที่เห็นต่างไม่ต้องการให้ใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นแบบนิว นอร์มอล แต่ต้องการให้มีการตั้งเวทีใหญ่ มีคนร่วมในเวทีแบบมากแบบเปิดกว้าง เพื่อที่เอ็นจีโอจะได้ดำเนินการแบบที่เคยทำสำเร็จ นั่นคือการใช้คนจำนวนน้อยที่เห็นต่างขัดขวางมิให้คนส่วนมากที่เห็นด้วยเข้าไปแสดงความเห็นด้วยในเวที เป็นการ ”ล้มเวที” ตามที่เอ็นจีโอทำได้ผลมาแล้วหลายครั้งในหลายโครงการนั่นเอง



การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งที่เป็นแบบแม็คโครและไมโครของจังหวัดชายแดนภาคใต้รอไม่ได้อีกต่อไป เพราะสถานการณ์วันนี้ คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับผลกระทบมากกว่าคนในภูมิภาคอื่นๆ ที่หลังการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เศรษฐกิจ การค้า อาจจะกระเตื้องขึ้นได้โดยเร็ว แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เหมือนกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ ถ้าไม่มีการสร้างงานในพื้นที่เพื่อให้มีการจ้างงาน คนที่นี่ต้องเดินทางไปมาเลเซียอย่างเดียว และหลังการเกิดขึ้นของโควิด-19 สถานการณ์การจ้างงานของประเทศมาเลเซียย่อมไม่เหมือนเดิม


รัฐบาลจึงต้องเร่งเดินหน้าในการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ให้รวดเร็ว รอบครอบ รอบด้าน และไม่ปิดบังอำพรางข้อเท็จจริงของโครงการ โดยการให้มหาวิทยาลัย ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ซึ่งมีประสบการณ์ หลักวิชาการ ในการดำเนินการ เพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและเห็นต่าง วันนี้ ไม่ใช่เวลาที่จะมา ”รีรอ” เพื่อให้สถานการณ์ของโควิด-19 จบก่อนแล้วค่อยดำเนินการ เพราะตามที่กล่าวมาแต่ต้นคือ “เราต่างหากที่ต้องรู้จักที่จะอยู่กับโควิด-19 ให้มีความปลอดภัย“ และดำเนินการทุกอย่างให้เดินหน้าไปได้


ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะแก้ปัญหาประเทศชาติจริง ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการที่จะอยู่ยาว เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีก สิ่งที่ต้องมีคือ ”แผนงาน” และ ”ผลงาน” โดยต้องกล้า ”ขับเคลื่อน” ทุกโครงการใหญ่ ที่นำประเทศให้พ้นจาก ”หลุมดำ” ที่เป็น “กับดัก” ทางเศรษฐกิจให้เป็นผลสำเร็จ และสิ่งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องมีคือ ความกล้า กล้าที่จะไม่เกรงกลัวเอ็นจีโอและผู้ที่เห็นต่างเพียงหยิบมือ เพื่อขัดขวางการพัฒนาประเทศ ที่เป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่


แต่....ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ยังเกรงกลัวต่อการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ เกิดอาการยึกยัก กล้าๆ กลัวในทันที่ที่เอ็นจีโอออกมาประท้วง ก็พัฒนาประเทศให้”มั่นคง มั่งคัง” ไม่ได้


0 ความคิดเห็น