มหากาพย์ "จัดซื้อรถ อบจ.สงขลา" คดีสุดอลเวง ถ้า 80 ล้านบาทอยู่กับกลุ่มฮั้วงาน ใครจะรับผิดชอบ?!





บทความ โดย.. เมือง ไม้ขม


คดีฮั้วประมูล ซึ่งเกิดที่องค์การส่วนบริหารจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ระหว่างบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ผู้ชนะการประมูลจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางของ อบจ. สงขลา กับนายนิพนธ์ บุญญามณี ครั้งที่ยังดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ที่ปัจจุบันมีตำแหน่ง รมช.มหาดไทยนั้น นอกจากจะเป็นคดีที่เป็นมหากาพย์ทางการเมืองแล้ว ยังเป็นคดีที่อลเวงที่สุดคดีหนึ่ง

สาเหตุของความอลเวงครั้งนี้ น่าจะมาจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีธง เพราะมีผู้บงการ ที่เป็น ”พี่ใหญ่ทางการเมือง” อยู่เบื้องหลัง

คดีนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ อบจ.สงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สถานีตำรวจเมืองสงขลา ศาลปกครองสงขลา ศาลทุจริตประพฤตมิชอบภาค 9 และ ป.ป.ช. ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดที่กล่าวมาเข้าไปเกี่ยวข้องจากการที่นายอิทธิพล ดวงเดือน เจ้าของบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส ดำเนินการร้องเรียนกับหน่วยงานดังกล่าวว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการที่ อบจ.สงขลาไม่จ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทาง ที่ตนเองชนะการประมูลและ อบจ.สงขลาได้ตรวจรับรถยนต์ไปแล้วตามสัญญา

โดยข้อเท็จจริง การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งที่นายอุทิศ ชูช่วย เป็นนายก อบจ. สงขลา แต่ในระหว่างการดำเนินการทางเอกสารเพื่อจ่ายเงิน อยู่ในช่วงที่นายกอุทิศหมดวาระการดำรงตำแหน่ง และมีการเลือกตั้งนายก อบจ.ตามวาระ ซึ่งนายอุทิศ ชูช่วย พ่ายแพ้ต่อนายนิพนธ์ บุญญามณี

หลังนายนิพนธ์เข้ามาเป็นนายก อบจ.สงขลาคนใหม่ ก็ต้องดำเนินการในเรื่องของการรับรถยนต์ซ่อมบำรุงทางและมีการตรวจสอบหลักฐานความถูกต้อง ก่อนที่จะจ่ายเงินให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส ที่เป็นผู้ชนะการประมูล

จากการตรวจสอบของคณะทำงานของนายนิพนธ์พบว่าในการประมูลครั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากล หลายประเด็น ทั้งในเรื่องเอกสารและอื่นๆ โดยเฉพาะบริษัทเทียบ ที่นำมาประมูล มาจากแหล่งเดียวกัน ซึ่งเข้าลักษณะของการ ”ฮั้วประมูล” ที่ผิดกฎหมาย จึงได้มีการชะลอการจ่ายเงิน และรวบรวมหลักฐาน เข้าแจ้งความที่ สภ. เมืองสงขลา เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ร่วมหัวกันในการฮั้วครั้งนี้

หลังการที่ อบจ.สงขลาได้ชะลอการจ่ายเงิน บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ก็ได้ร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ศาลปกครองจังหวัดสงขลา และสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้ อบจ.สงขลาจ่ายเงินและให้เอาผิดนายนิพนธ์ บุญญามณี ที่เป็นนายก อบจ.สงขลาในขณะนั้น และขณะนี้คือ รมช.มหาดไทย

คดีนี้เป็นคดีที่ใช้เวลาต่อสู้คดีอย่างยาวนานเกือบ 8 ปี โดยที่นายนิพนธ์ บุญญามณี ซึ่งถูกกล่าวหาในกฎหมายมาตรา 157 หมายถึงการ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” และนายนิพนธ์ ซึ่งเชื่อว่าการที่ตนสั่งชะลอ การจ่ายเงินในครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่ถูกต้อง เพราะผู้ที่ประมูลได้และฟ้องร้องตนเองเป็นผู้ที่มีความผิดในข้อหาฮั้ว ที่หากจ่ายเงินไป โดยที่คดีฮั้วยังไม่ถึงที่สุด เงินที่จ่ายไป ซึ่งเป็นภาษีของประชาชนจะสูญเปล่าเป็นความเสียหายต่อประเทศ

คดีนี้จึงดำเนินไปด้วยการที่ฝ่ายบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส ใช้ความเป็นผู้ที่ชนะการประมูลเป็นเครื่องมือในการร้องเรียนไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนนายนิพนธ์ก็ใช้ความพยายามในการหาหลักฐาน เพื่อใช้ในการหักล้างและต่อสู้คดี เพื่อแสดงให้หน่วยงานต่างๆ ที่รับเรื่องร้องเรียนจากบริษัท พลวิศว์ฯ เห็นว่า การชนะการประมูลของ บริษัทพลวิศว์เข้าข่ายเป็นการฮั้วประมูล

แต่แล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้พิพากษาให้ อบจ. สงขลาจ่ายเงินทั้งต้นทั้งดอกให้บริษัท พลวิศว์ 80 ล้านบาท โดยการยึดหลักในข้อกฎหมายว่า บริษัท พลวิศว์ฯ เป็นผู้ที่ชนะการประมูล ส่วนจะชนะแบบไหน ด้วยวิธีการอย่างไร “ฮั้วหรือไม่ฮั้ว” อบจ.สงขลาจะชะลอการจ่ายเงิน ไม่น่าจะเอามาเป็นประเด็นในการพิจารณาได้


ถ้าพิจารณาถึงประเด็นของข้อเท็จจริง ที่ อบจ.สงขลาพบว่ามีการฮั้วงาน จึงได้หาหลักฐานเพื่อดำเนินคดี และชะลอ”การจ่ายเงิน ก็จะเห็นว่า นายนิพนธ์มีเหตุผลในการไม่จ่าย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ การพิจารณาของศาลปกครองอาจจะยึดในข้อกฎหมายอย่างเดียว จึงสั่งให้ อบจ.สงขลาจ่ายเงินให้ผู้ชนะการประมูล นั่นคือ บริษัท พลวิศว์ฯ

ประเด็นต่อมา คดีนี้ถูกนำไปสู่ศาลทุจริตฯภาค 9 และศาลได้ตรวจสอบหลักฐานพบว่า การประมูลครั้งนี้ ผู้ประมูลได้มีการฮั้วงาน เป็นการกระทำผิดกฎหมาย จึงให้ออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 8 บริษัท ที่เป็นทั้งผู้ชนะประมูลและบริษัทคู่เทียบ เพราะถือว่าทำเป็นขบวนการ

หลังจากที่ศาลทุจริตฯ ภาค 9 ได้สั่งให้ออกหมายจับนั้น ปรากฏว่า กลุ่มผู้ที่หาที่ถูกออกหมายจับได้หลบหนี และบางคนเช่น นายอิทธิพล ดวงเดือน เจ้าของบริษัท พลวิศว์ฯ ผู้ชนะการประมูล ก็ได้หลบหนีไปยังเมืองโดฮา ประเทศการ์ต้า ซึ่งตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รายงานว่า ผู้ถูกออกหมายจับรายนี้ได้เดินทางไปเมืองโดฮา ประเทศกาต้าร์ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 โดยเที่ยวบิน QR 0831

ไม่ว่าการเดินทางออกนอกประเทศครั้งนี้เป็นการหลบหนี เพื่อไปตั้งหลักแล้วค่อยกลับมาต่อสู้คดีหรือ อย่างไรก็แล้วแต่ แต่ก็ถือว่าเป็นการหลบหนีความผิดที่ถูกออกหมายจับนั่นเอง

เรื่องน่าจะจบและนายนิพนธ์น่าจะไม่มีความผิด เพราะผู้ที่ชนะการประมูล มีการฮั้วงานและหลบหนีหลังรู้ว่า ศาลทุจริตออกหมายจับ แต่เปล่าเลย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ได้แถลงข่าวว่า ป.ป.ช.จะเดินหน้าฟ้องนายนิพนธ์ด้วยตนเองต่อศาล หลังจากที่ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ ป.ป.ช.ส่งสำนวนให้ฟ้องนายนิพนธ์ สั่ง ”ไม่ฟ้อง” เพราะ สำนวนของ ป.ป.ช.ที่ส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีความบกพร่องหลายจุด

ล่าสุด มีข่าวว่า ป.ป.ช. จะฟ้องทั้งนายนิพนธ์ บุญญามณี นายอิทธิพล ดวงเดือน และกลุ่มผู้ฮั้วงานทั้งหมด ซึ่งก็สร้างความแปลกใจให้ผู้ที่ติดตาม “มหากาพย์” เรื่อง”รถซ่อมบำรุงทาง” ของ อบจ.สงขลา เป็นอย่างยิ่งว่า ในเมื่อ ป.ป.ช.ฟ้องกลุ่มผู้ที่ฮั้วงานก็แสดงว่ามีการฮั้วงานจริง แล้วทำไม่ต้องฟ้องนายนิพนธ์ด้วย

ถ้ากลุ่มฮั้วงานมีความผิด การที่นายนิพนธ์ไม่จ่ายเงินให้บริษัท พลวิศว์ ก็น่าจะถูกต้อง

ประเด็นนี้คือความสับสนอลหม่าน ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การทำคดีนี้ของ ป.ป.ช.เหมือนกับ “มีธง” อยู่ก่อนหรือไม่ หรือมีใบสั่งของใครอยู่เบื้องหลัง เพราะมีรายงานข่าวว่า กลุ่มของผู้ฮั้วประมูลมี ”ขาใหญ่” ทั้งที่เป็น ”สีเขียว” และ”สีกากี” ให้การ “สนับสนุน” และใช้วิธีการฮั้วงานแบบเดียวกับที่ อบจ.สงขลา ในการทำมาหากินเป็นขบวนการ โดยที่ไม่เคยถูกเปิดโปง ซึ่งก็ไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ได้สร้างความเสียหายให้ภาษีของประชาชนไปแล้วมากน้อยแค่ไหน

วันนี้คดีฮั้วยังไม่ได้ยุติแค่การที่ ป.ป.ช.จะยื่นฟ้องนายนิพนธ์ บุญญามณี ด้วย ป.ป.ช.เอง โดยไม่ต้องใช้อัยการสูงสุด แต่ยังมีความพยายามที่จะให้คดีนี้หมดอายุความ เพราะจับผู้ต้องหาไม่ได้ตามกรอบเวลาของกฎหมาย เช่นเดียวกับคดีของนายสุนทร วิลาวัลย์ นายก อบจ.ปราจีนบุรี เรื่องการออกโฉนดในที่อุทยาน และยังมีความต้องการที่จะโอนคดีไปให้ "กองปราบ” เป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งไม่แน่ใจว่า การโอนคดีไปให้กองปราบฯ เพื่อเป็นการช่วยผู้ต้องหาตามที่มีผู้สงสัยว่ามีใบสั่ง หรือเป็นการโอนไปเพื่อให้กองปราบฯ ที่เป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญในคดีฮั้วงาน เพื่อการ ทลายขบวนการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

ส่วนในทางการเมืองนั้น ฝ่ายค้านก็จะจับไปเป็นประเด็นของการซักฟอกเพื่อไม่ไว้วางใจรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับนายนิพนธ์ บุญญามณี ถ้ารู้ว่า การกระทำทุกอย่างที่ทำไปเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์และถูกต้อง เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ การได้ชี้แจงเรื่องนี้ต่อประชาชนทั้งประเทศ ให้รู้ถึงข้อเท็จจริง เป็นความสง่างามเป็นอย่างยิ่งในทางการเมือง

เป็นห่วงก็เพียงเรื่องที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ อบจ.สงขลาจ่ายเงิน 80 ล้านบาทให้ผู้ชนะการประมูล ซึ่งบัดนี้เป็นผู้ที่หนีหมายจับไปแล้ว ภายใน 60 วัน ถ้าเงินจำนวนนี้มีผู้รับไป และภายหลังมีการพิพากษาคดีฮั้วที่เกิดขึ้นถึงที่สุด ใครจะติดตามเงินจำนวนนี้กลับคืนมาให้แผ่นดิน หรือทุกฝ่ายจะปล่อยให้เงิน 80 ล้านบาท ถูกคนที่ทำผิดกฎหมายรับไปอย่างง่ายๆ โดยไม่หาทางยับยั้งอย่างนั้นหรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]