ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

เมื่อหยุดยิงจนเกิด "รอมฎอนสันติสุข" ได้ บีอาร์เอ็นก็ต้องสร้าง "เข้าพรรษาสันติสุข" ด้วย





บทความ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก


การจี้ชิงรถขยะ อบต.ลางา อ.มายอ จ.ปัตตานี ไปทำคาร์บอมบ์หนัก 50 กิโลกรัม แล้วนำไปจอดริมถนนสายปัตตานี-นราธิวาส ย่านตลาดปาลัส อ.ปะนาเระ จ.นราธิวาส ช่วงหัวค่ำคืนวันที่ 20 มิถุนายน 2565 จนเกิดการทำลายอาคารในบริเวณเสียหายยับเยินด้วย แต่ยังถือว่าโชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ถือเป็นการก่อเหตุแบบต่อเนื่อง เพราะในเวลาเดียวกันใน ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา ก็มีการขว้างระเบิดใส่จุดตรวจ ชคต.บ้านนาเตย อ.รามัน จ.ยะลา แต่ระเบิดไปติดตาข่ายไม่ไปตกในฐาน ทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิตและมีบาดเจ็บเช่นกัน

ที่น่าสังเกตคือทั้งสองเหตุเป็นปฏิบัติการหลัง พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” จะต้องเดินหน้าต่อ เพราะเป็นความต้องการของคนในพื้นที่ ส่วนประเด็นการบังคับใช้กฎหมายต่อกองกำลังติดอาวุธต้องใช้หลัก “นิติวิทยาศาสตร์” รวบรวมหลักฐาน

ก่อนหน้านี้หนึ่งวันได้มีการเปิด “หน่วยปฏิบัติการร่วม” ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อวางบทบาทให้เป็น “หน่วยข่าว” ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

และที่น่าสังเกตอีกคือ การก่อเหตุทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าวไม่มีใบปลิวอ้างความรับผิดชอบจาก “พูโล 5G” แถมไม่มีการระบุว่าเป็น “ภัยแทรกซ้อน” ทั้งที่ถ้าจะระบุก็ได้ เพราะตรงนั้นก็เป็นพื้นที่อิทธิพลของเครือข่ายน้ำมันเถื่อน บุหรี่เถื่อนและยาเสพติด เหมือนที่สถานีตำรวจน้ำตาบา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ถูกถล่มไปก่อนหน้านั่นแหละ

ความจริงเหตุถล่มโรงพักตำรวจน้ำตาบาพร้อมบึ้มเสาไฟฟ้า 6 ต้นปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็เป็นปฏิบัติการตาม “วงรอบ” ของบีอาร์เอ็น ไม่ใช่เรื่องภัยแทรกซ้อนอะไรเลย เหตุที่ต้องเบี่ยงประเด็นว่าไม่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนก็เพื่อให้ทั้งรัฐบาลและกองทัพเห็นว่า บีอาร์เอ็นพร้อมร่วมมือตามข้อตกลงจากโต๊ะพูดคุยสันติสุข และจากนโยบาย “นักรบพบรัก” ของศูนย์สันติวิธี

หรือหากจะบอกว่าจงใจ “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ” ก็น่าได้ เพราะหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่พยายามรายงานการเกิดเหตุน้อยกว่าที่เป็นจริง อย่างมีเหตุพ่นสีหรือเผายางรถยนต์บนถนนแม้มากถึง 10 พื้นที่ แต่การรายงานระบุเป็น 1 เหตุการณ์ หรือมีเหตุฆ่าไม่ว่าผู้ตายจะเป็นพุทธหรือมุสลิมก็รายงานเพียงว่าเป็นเรื่องส่วนตัว การเมืองท้องถิ่น หรือยาเสพติด

ถือเป็นการเอาตัวรอดของคนที่เป็น “นาย” เป็นการสร้างภาพให้ดูดี แต่กลับเป็นการหลอกลวงกลุ่มคนที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ตั้งแต่นายกฯ ที่นั่งควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ยันผู้บัญชาการเหล่าทัพให้รับรู้สถานการณ์ผิดๆ และสุดท้ายนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดเป้า ไม่ตรงประเด็นนั่นเอง

ถ้ายังจำกันได้ช่วงสองปีที่ “บิ๊กอาร์ท” นั่งเป็นแม่ทักภาคที่ 4 ในอดีต มีการปฏิเสธอย่างเด็ดขาดตลอดมาว่า ไม่เคยมีขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งหากหน่วยงานหรือนายทหารคนไหนเอ่ยถึงนอกจากจะไม่ยอมรับแล้ว ยังอาจจะถูกเตะโด่งพ้นออกไปจากชายแดนใต้ด้วย



ต่อมาเมื่อ “บิ๊กเดฟ” มารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ก็จัดตั้ง “ชป.จรยุทธ์” มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น มีปิดล้อมและวิสามัญฯ กองกำลังติดอาวุธและแนวร่วมบีอาร์เอ็นในหลายพื้นที่ ซึ่งบีอาร์เอ็นก็ตอบโต้ด้วยการก่อการร้ายและแสดงให้เห็นว่ายังมีศักยภาพที่ปฏิบัติการได้จริงต่อเนื่องเช่นกัน

แม้ห้วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ชายแดนใต้ดูดีขึ้นก็จริง ดูได้จากตัวเลขการก่อเหตุลดลง แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะโรคโควิด-19 ระบาดหนัก แถมชายแดนไทย-มาเลเซียก็ถูกปิดตาย ซึ่งแทบไม่ได้ดีขึ้นจากฝีมือของหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ได้มีอะไรใหม่ๆ เลย

หรือสรุปได้ง่ายๆ สิ่งที่เป็นหัวใจของการรบคืองาน “การข่าว” และ “มวลชน” แต่เหตุถล่มโรงพักตำรวจน้ำที่ จ.นราธิวาส และคาร์บอมบ์ จ.ปัตตานี กลับปรากฏมีรายงานด้านการข่าวมาก่อน ทั้งที่บีอาร์เอ็นต้องวางแผนและเตรียมมวลชนไว้รองรับ

และที่สำคัญกว่า 18 ปีไฟใต้ระลอกใหม่งานการข่าวของรัฐก็เป็นแบบนี้มาตลอด

วันนี้โควิด-19 ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่น จึงมีประกาศเปิดประเทศ เปิดพรมแดนไทย-มาเลเซียไปแล้ว ความเคลื่อนไหวทั้งงานทางการทหาร งานมวลชนและงานไอโอของบีอาร์เอ็นได้กลับมาและดูเหมือนจะเข้มข้นยิ่งกว่าเก่า แผนปฏิบัติการตามวงรอบต่างๆ เรื่องเหล่านี้งานการข่าวติดตามได้เท่าทันแค่ไหน

กระบวนการพูดคุยสันติสุขก็ว่ากันไป สร้างสภาวะแวดล้อมและต่อรองกันไป แต่การป้องกันเหตุร้ายในพื้นที่ การบังคับใช้กฎหมายต้องมีต่อเนื่อง เพราะการรอให้เกิดสันติสุขจากการพูดคุย โดยปล่อยให้สถานการณ์ในพื้นที่ย่ำแย่ไปเรื่อยๆ นั่นย่อมไม่ใช่วิธีที่ดีและถูกต้องแน่นอน

หรือถ้าจะเอาการพูดคุยมาสร้างสันติสุขให้พื้นที่จริงๆ คณะของ พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ที่จะเดินทางไปทำหน้าที่ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ก็ต้องหยิบยกข้อเสนอไทยพุทธในเวที “สล.3” ที่โรงแรมซีเอสปัตตานีเมื่อวันก่อนไปเสนอกับฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วย

นั่นคือต้องทำ “ข้อตกลงหยุดยิง” ให้ได้ในช่วงเดือนเข้าพรรษา หรือถูกกำหนดให้เป็น “เข้าพรรษาสันติสุข” แบบเดียวกันที่เคยได้ทำกันมาแล้วในห้วงเดือนรอมฎอนที่ถูกทำให้เป็น “รอนฎอนสันติสุข” อย่างที่เพิ่งผ่านไปได้ไม่นานมานี้


เพราะ “รอมฎอน” ที่เป็นเดือนสำคัญทางศาสนาอิสลาม มีข้อตกลงหยุดยิงได้ “เข้าพรรษา” ที่เป็นเดือนสำคัญทางศาสนาพุทธก็ต้องทำให้ได้แบบไม่แตกต่างกัน ถ้าบีอาร์เอ็นมีใจที่เป็นธรรมและเข้าใจเรื่องพหุวัฒนธรรมจริง บีอาร์เอ็นย่อมต้องรับเงื่อนไขนี้ได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังบีอาร์เอ็นที่มีทั้งองค์กร “เจนีวาคอลล์” และ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” จะมีความเห็นสนับสนุนหรือไม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม คณะพูดคุยฝ่ายไทยจำต้องนำประเด็นนี้ไปเสนอบนโต๊ะพูดคุยสันติสุขครั้งต่อไปด้วย เพื่อที่จะได้เห็นธาตุแท้ทั้งของ “แขก” และ “ฝรั่งตาน้ำข้าว” ว่าสุดท้ายแล้วจะมีศาสนาหรือความเป็นธรรมหลงเหลืออยู่ในใจหรือไม่ ซึ่งจะถูกฉายผ่านการยอมรับเงื่อนไข “หยุดยิง” ช่วง “เข้าพรรษาสันติสุข” หรือไม่และอย่างไรนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: