ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

หรือจะติดกับดับ "บีอาร์เอ็น" เจรจาถ่วงเวลาสร้างกองกำลังนักปฏิวัติ





บทความ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก


ตรวจสอบเหตุก่อการร้ายในชายแดนใต้พบว่า 2 วันก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอน 28 มี.ค.2565 มีเหตุระเบิด 20 จุดในเขตเทศบาลนครยะลา และช่วงรอมฎอน 1 เม.ย.2565 ขณะกำลังมีข่าวลงนามหยุดยิงระหว่าง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ตัวแทนฝ่ายรัฐไทย กับ นายหิพนี มะเระ ตัวแทนบีอาร์เอ็น ปรากฏว่ามีเหตุระเบิดที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

ครั้งหลังนี้หน่วยความมั่นคงระบุชัดว่าเป็นฝีมือของขบวนการ “พูโล 5G” ที่มีผู้นำชื่อ นายกัสตูรี มะโกตา ไม่ใช่ฝีมือของขบวนการบีอาร์เอ็น

หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอนและสัญญาหยุดยิงก็มีเหตุระเบิดอีกหลายจุด แต่ที่ถือว่าหนักสุดคือ เหตุโจมตีโรงพักตำรวจน้ำตาบาและบึ้มเสาไฟฟ้าที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ตามด้วยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็มีเหตุระเบิดเสาหลักกิโลเมตรที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และล่าสุดใช้รถขยะเป็นคาร์บอมบ์ที่ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี

เมื่อประมวลจะพบว่ามีเหตุก่อการร้ายทั้งก่อน ในระหว่างและหลังเดือนรอมฎอน สำหรับในทางปฏิบัติหลังเกิดเหตุหน่วยความมั่นคง ซึ่งหมายรวมถึงฝ่ายตำรวจด้วยต้องทำคดีให้คืบหน้า แต่เหตุการณ์ก่อการร้ายเหล่านี้กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ปรากฏให้สังคมรับรู้เลย

ขอตั้งข้อสังเกตว่าหลังมีข้อตกลงหยุดยิงห้วงเดือนรอมฎอน การบังคับใช้กฎหมายของหน่วยความมั่นคงแทบจะไม่เกิดขึ้นเลยในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย ผิดกับช่วงก่อนมีสัญญาหยุดยิงที่มีการปิดล้อม ตรวจค้นและจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวนมาก



ความจริงแล้ว “กระบวนการสร้างสันติสุข” ไม่ใช่ปล่อยให้ก่อการร้ายแล้วไม่ติดตามจับกุม เพราะกลัวว่าถ้าปะทะและวิสามัญฯ คนร้ายแล้วจะไม่เกิดสันติสุข หรือจะบอกกับสังคมว่าคนไทยพุทธและเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหรือตายที่ อ.สายบุรี เป็นฝีมือ “พูโล 5G” ไม่ใช่ “บีอาร์เอ็น” แล้วไม่ต้องดำเนินคดีใดๆ

หรือการถล่มโรงพักตำรวจน้ำตาบาที่ อ.ตากใบ เป็นเรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” ที่ไม่ใช่ “ภัยความมั่นคง” จึงไม่ต้องดำเนินการทางคดีความใดๆ เพราะถ้ามีปะทะกันและโจรตายจะเป็นการทำลายสันติสุข โดยเฉพาะจะไปกระทบกับ “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ให้เกิดความเสียหาย

ถ้าคิดและปฏิบัติกันแบบนั้น เท่ากับว่าวันนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดโอกาสให้บีอาร์เอ็นก่อวินาศกรรมได้อย่างเสรี เพราะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ทำผิด ปล่อยให้ประชาชนตายเปล่าหรือเจ้าหน้าที่ตายฟรีอย่างนั้นหรือ?

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับเปิดโอกาสให้บีอาร์เอ็นขับเคลื่อนแผนจัดตั้งกองกำลังและงานด้านมวลชนได้อย่างสบายใจ เนื่องจากหน่วยความมั่นคงติดกับดักคำว่า “สันติสุข” นี่จึงเป็นข้อสังเกตจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงนั้น ควรเอาเหตุผลมาหักล้างกันจะดีกว่า

สิ่งที่ต้องตั้งสังเกตตามมาคือ บทความจาก “นิเคอิ” สื่อญี่ปุ่นที่กล่าวถึงการก่อการร้ายในชายแดนใต้ของไทยว่าเกี่ยวข้องกับ “การเจรจาสันติภาพ” ระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็น โดยฝ่ายบีอาร์เอ็นปรับเปลี่ยนท่าทีจากการสู้รบเพื่อ “เอกราช” เป็นเรียกร้อง “การปกครองตนเอง

พร้อมยังแสดงความเห็นด้วยกับการเจรจาสันติภาพว่าอาจจะต้องใช้เวลานาน ซึ่งสอดคล้องกับบทบาทองค์กรภาคประชาสังคมใต้ปีกทางการเมืองบีอาร์เอ็น รวมถึงความเห็นนักวิชาการสันติวิธีจำนวนหนึ่งที่รู้เรื่องบีอาร์เอ็นในระดับพื้นผิว

สำหรับสื่ออย่างนิเคอินั้นไม่ต้องสงสัย เพราะการแสดงออกต้องเป็นไปตามแนวทางองค์กรต่างชาติฝากฝั่งยุโรปและอเมริกาอยู่แล้ว โดยเฉพาะพวกที่เข้ามากำกับความเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายความมั่นคงรัฐไทยและบีอาร์เอ็นไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งโดยเฉพาะในกระบวนการพูดคุยสันติสุขและนโยบายสันติภาพในชายแดนใต้

เมื่อคุยเป็นไปแบบช้าๆ ทำให้กระบวนการสันติภาพขับเคลื่อนได้แบบเต่าคลาน นั่นเปิดโอกาสให้บีอาร์เอ็นได้สร้างกองกำลังรูปแบบใหม่ในลักษณะ “นักปฏิวัติ” และ “ครอบครัวปฏิวัติ” แล้วกระจายคุลมชายแดนใต้ รวมถึงยังขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศได้ด้วย

ในขณะเดียวกัน “ปีกการต่างประเทศ” บีอาร์เอ็นก็ได้ใช้การถ่วงเวลานี้ให้เกิดประโยชน์ด้วย เพราะการที่จะทำให้ประสบผลในเวทีสากลต้องใช้เวลา นี่คือเล่ห์เหลี่ยมและกลยุทธ์บีอาร์เอ็นภายใต้การกำกับขององค์กรต่างชาติ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงรัฐไทยเองก็ยกย่องว่าเป็นผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และพร้อมจะฝากผีฝากไข้ว่าจะมาช่วยดับไฟใต้ได้

การปรากฏคำให้สัมภาษณ์ของ “ฮารูน อิสฮัก” แกนนำบีอาร์เอ็นอย่างเหมาะเจาะก่อนจะมีการพูดคุยสันติสุขครั้งต่อไปในเดือน ก.ค. 2565 และก่อนที่ตัวแทน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะเดินทางไปดูงานสันติภาพด้วยเงินทุนของ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” ถือว่านัยะอย่างน่าติดตามยิ่ง

การออกมาของ “ฮารูน” ไม่ว่าจะในสถานะแกนนำจริงหรือถูกจัดฉาก ย่อมมีเป้าหมายอย่างแน่นอน เพราะเขาเคยเป็นแกนกลางเชื่อมให้มีการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นมาแล้วเมื่อปี 2551 แต่ล้มเหลวจนนำไปสู่การถูกลดบทบาท เช่นเดียวกับที่มาเลเซียเคยอุปโลกน์แกนนำบีอาร์เอ็นหลายคนมาก่อนหน้าให้ได้ไปนั่งบนโต๊ะเจรจา

อีกทั้งต้องตั้งข้อสังเกตถึงเวทีเจรจาสันติภาพที่วางแผนและกำกับโดยองค์กรจากชาติตะวันตกด้วย ปลายเดือน มิ.ย.นี้หน่วยความมั่นคงไทยนำโดย พล.อ.พรศักดิ์ พูนสวัสดิ์ ผู้แทนพิเศษรัฐบาลและคณะจะเดินทางไปเยือนกรุงเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ตามแนวทางที่ “ไอซีอาร์ซี” วางไว้

ก่อนหน้าคณะนายทหารใหญ่จะเดินทางไปนั้น ปรากฏว่ามีคณะแกนนำบีอาร์เอ็นออกจากมาเลเซียไปรออยู่ที่กรุงเจนีวาแล้ว ขณะที่มีการระบุว่าคณะผู้นำปีกการเมืองบีอาร์เอ็นจากชายแดนใต้ของไทยก็ถูกเชิญจากไอซีอาร์ซีให้เดินทางไปที่กรุงเจนีวาด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามทั้ง 3 กลุ่มคงจะไม่ได้ไปนั่ง “มาแกแต” หรือจิบน้ำชาด้วยกันหรอก เพราะฝรั่งตาน้ำข้าวฉลาดพอที่จะใช้วิธีการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

ทั้งหมดที่ตั้งขอสังเกตไว้เพียงจะบอกว่า วันนี้ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” อย่างสิ้นเชิงของมาตรการดับไฟใต้ ซึ่งผิดแผกจากสถานการณ์ที่ผ่านๆ มาตลอดกว่า 18 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่

โดยเฉพาะ ณ วันนี้ “ภัยแทรกซ้อน” ไม่ใช่ขบวนการค้ายาเสพติด บุหรี่หรือน้ำมันเถื่อน ฯลฯ แต่มีที่มาจากองค์กรชาติตะวันตกที่เข้ามาบริหารจัดการไฟใต้ โดยความยินยอมของทั้งหน่วยความมั่นคงไทยและบีอาร์เอ็น

สำหรับหน่วยความมั่นคงรัฐไทยนั้น ใครจะตีความว่าเป็นเรื่องของการ “เข้าใจผิด” หรือ “หลงผิด” ก็แล้วแต่ ทว่าการกระทำที่เกิดขึ้นนี้อาจถือเป็นไปตามภาษิตที่ว่า “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน” ได้หรือไม่ ประเด็นนี้คนไทยทั้งประเทศต้องขบคิดและจับตาร่วมกันต่อไป

มีเรื่องที่อยากถามฝ่ายความมั่นคงคือ พวกท่านรู้จักขบวนการบีอาร์เอ็นดีแค่ไหน และโดยเฉพาะกับองค์กรจากชาติตะวันตกที่ท่านเดินตามตูดต้อยๆ ด้วย และจริงๆ พวกท่านจะมั่นใจได้อย่างไรว่ากำลังเดินสู่หนทางการสร้างสันติภาพ ไม่ใช่ว่าเขากำลังต้อนเข้าคอกเพื่อรอการสนตะพายด้วยเชือกอยู่นะ

ส่วนคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ถ้าต้องการเห็นผลสำเร็จมีทางเดียวคือ ต้องได้เจรจากับแกนนำบีอาร์เอ็นตัวจริง ซึ่งเมื่อประเมินแล้วอย่างต่ำๆ ก็ควรต้องได้ร่วมโต๊ะเจรจากับ “นิอาซิ นิฮะ” ที่ไม่น่าจะใช่ “หิพนี มะเระ” ที่เป็นตัวหลอกเพื่อถ่วงเวลาให้บีอาร์เอ็นนำขบวนการไปสู่ความสำเร็จ

ไม่มีความคิดเห็น: