ใต้สงบงบไม่มา! เมื่อกลุ่มแยกดินแดนเก่าลุกจากหลุม เงินดับไฟก็ต้องเพิ่มลงไปอีก

 



บทความ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก


ปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นในพื้นที่บ้านเนินงาม อ.รามัน จ.ยะลา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นอกจากฝ่ายทหารวิสามัญฯ แนวร่วมไปได้ 2 ศพแล้ว ยังจับกุมตัวเป็นๆ ได้อีก 8 คน ปรากฏว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ได้เพิ่มคำถามสำคัญขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับมาตรการไฟใต้

แน่นอนมีการปะทะแล้วจบลงด้วยแนวร่วมถูกวิสามัญฯ และจับกุมเป็นเรื่องปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือยึดสิ่งของได้จำนวนหนึ่งที่ระบุว่าเป็นของ “กลุ่มพูโล 5G” ที่มีผู้นำชื่อ “คัสตูรี มะโกตา” ผู้พยายามสร้างสถานการณ์เพื่อไม่ให้ตนเองและกลุ่มตกขบวนเจรจาสันติภาพ โดยต้องการขอแทรกไปร่วมโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นด้วย

กลุ่มนี้ได้ก่อเหตุร้ายมาแล้วหลายครั้ง ไม่เว้นแม้ห้วง 40 วันในเดือนรอมฎอนที่รัฐไทยกับบีอาร์เอ็นทำสัญญาหยุดยิงกันไว้ มีการลอบวางระเบิดที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ชาวบ้านดับ 1 ทหารเจ็บ 4 นอกจากทิ้งใบปลิวสัญลักษณ์พูโล 5G ไว้ในที่เกิดเหตุแล้ว นายคัสตูรียังตามมาเคลมว่าเป็นฝีมือกลุ่มตน จากนั้นได้ก่อเหตุอีก 2 ครั้งในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ก่อนที่ทหารจะเกะรอยตามไปตรวจค้นที่บ้านเนินงาม อ.รามัน จ.ยะลา ดังกล่าว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผอ,กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ออกมายอมรับแล้วว่า ผู้ถูกวิสามัญฯ และจับเป็นได้ทั้งหมดที่บ้านเนินงามเป็นสมาชิกกลุ่มพูโล 5G และจากการสอบสวนผู้รอดชีวิตยอมรับสารภาพว่า กลุ่มพูโล 5G ยังมีความเชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติดในชายแดนใต้ด้วย

โดยข้อเท็จจริงกรณีการฟื้นคืนชีพของกลุ่มพูโล 5G ขึ้นมาก่อเหตุครั้งใหม่ ความเห็นจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะผู้สันทัดกรณีไฟใต้ต่างคลางแคลงใจว่าเป็น “ของจริง” หรือ “ของปลอม” กันแน่ หรือแท้จริงแล้วเป็นฝีมือของแนวร่วมบีอาร์เอ็นเสียเอง ด้วยต้องการให้บรรลุผลประโยชน์บ่างอย่าง แล้วโยนบาปให้กลับกลุ่มอื่นๆ

เพราะวิธีการก่อเหตุเป็นแบบเดียวกับที่แนวร่วมบีอาร์เอ็นทำมาตลอด ยกเว้นการทิ้งสัญลักษณ์ของกลุ่มพูโล 5G ไว้ในที่ก่อเหตุเท่านั้นที่แตกต่างไป



นอกจากนี้ในหมู่ “นักการข่าว” ฝ่ายความมั่นคงก็รู้เช่นเห็นชาติในตัวตนของนายคัสตูรีเป็นอย่างดีว่า ใช้ชีวิตในต่างประเทศแบบไม่มีเงินทุนอะไรถืออยู่ในมือ จึงไม่มีทางไปสนับสนุนกองกำลังติดอาวุธใดๆ ให้ก่อการร้าย หรือกระทั่งจ้างใครให้ทำปฏิบัติการไอโอได้ เพียงแต่มีเอ็นจีโอตะวันตกองค์กรหนึ่งหนุนหลังอยู่เท่านั้น

แต่เมื่อ พล.ท.เกรียงไกรระบุด้วยตนเองว่า ปฏิบัติการของกองกำลังพูโลฯ มีอยู่จริง เราก็ต้องให้เกียรติโดยการ “เชื่อไว้ก่อน” จนกว่าจะมีหลักฐานมาหักล้าง ขณะเดียวกันนั่นก็เท่ากับว่าผู้ก่อไฟใต้ ณ วันนี้ นอกจากทางการจะยอมรับว่ามีขบวนการบีอาร์เอ็นแล้ว ยังมีต้องเพิ่มชื่อพูโล 5G เข้าไปอีกขบวนการหนึ่งด้วยใช่หรือไม่

ถ้าใช่! นั่นก็แสดงว่านับแต่นี้ไปสถานการณ์การก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ “ขยายวง” หรือมีการก่อเหตุที่ถี่ๆ ขึ้นอีกคราครั้งแล้วใช่หรือไม่ เพราะนอกจากฝีมือบีอาร์เอ็นแล้ว ยังมีการผสมโรงจากพูโลฯ อีกด้วย

ที่ผ่านมากว่า 18 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ แค่บีอาร์เอ็นกลุ่มเดียว หน่วยงานความมั่นคงต้องต่อสู้ทั้งทางยุทธวิธีและทางการเมืองในแบบที่แทบจะมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่นี่ยังเพิ่มกลุ่มพูโล 5G เข้ามาอีก นับจากนี้ไฟใต้จะยิ่งคุโชนเปลวรุนแรงมากขึ้นหรือไม่

ที่สำคัญ “งบประมาณแผ่นดิน” ที่จะถูกส่งผ่าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องเพิ่มมากขึ้นไปด้วยใช่หรือไม่ เพราะรัฐไทยมีศัตรูเพิ่มมาอีก 1 ขบวนการแล้ว ที่สำคัญในอนาคตจะมีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอื่นๆ ที่ฝังตัวอยู่ในมาเลเซียลุกออกมาเคลื่อนไหวแบบเดียวกันไหม อาทิ “พูโลคัสดาน” ของ “ซำซูดิง คาน” เป็นต้น

เป็นที่ทราบกันว่าเวลานี้ยังมีผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนอื่นๆ ที่ต้องการเข้าร่วมเจรจาอีกมากมาย โดยเพราะพวกเขาอยากได้นั่งโต๊ะเคียงบ่าเคียงไหล่กับตัวแทนบีอาร์เอ็นเข้าเจรจากับตัวแทนรัฐไทยครั้งต่อไปเลย ซึ่งมีกำหนดการจะจัดขึ้นที่มาเลเซียราววันที่ 1-2 สิงหาคม 2565

หรือว่าสุดท้ายแล้วเวทีเจรจาเพื่อ “ยุติสงคราม” อาจจะกลายเป็น “จุดชนวนสงคราม” ระลอกใหม่เสียเอง เพื่อให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ได้ฟื้นคืนชีพและตั้งกลุ่มติดอาวุธขึ้นมาใหม่ แล้วต่างรุมปฏิบัติการสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์คนไทย จนรัฐไทยต้องยอมส่งเทียบเชิญให้เข้าร่วมโต๊ะเจรจาอย่างนั้นหรือ

หากเป็นเช่นนั้นสถานการณ์ไฟใต้จะยิ่งยุ่งเหยิงและลากยาวต่อไปแบบไม่เห็นจุดจบ สุดท้ายแล้วการเจรจาอาจจะไม่ใช่ทางออกที่จะใช้ดับไฟใต้ เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นแผนที่มีผู้กำหนดให้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือมี “เงาทะมึนอยู่เบื้องหลัง” ในการกำหนดวาระความเป็นไปเช่นนี้

ที่กล่าวเช่นนี้เนื่องจากมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ชี้ชัดว่า ในขณะที่รัฐไทยเดินหน้ากระบวนการเจรจาสันติภาพกับบีอาร์เอ็นภายใต้บงการของ “มาเลเซีย” และ “องค์กรชาติตะวันตก” ในต่างประเทศเวลานี้ ในพื้นที่ชายแดนใต้เองบีอาร์เอ็นก็ยังเดินหน้าจัดตั้งมวลชนต่อเนื่องในทุกมิติ อันเป็นไปตามยุทธศาสตร์แบ่งแยกดินแดนที่วางไว้

เวลานี้ “สภาอูลามา” ที่มี “ดุลเลาะ แวมะนอ” อดีตผู้นำกองกำลังบีอาร์เอ็นมานั่งหัวโต๊ะ เชื่อไหมว่า “บ่มเพาะ” มวลชนรุ่นใหม่จัดตั้งเป็น “หน่วยเปอร์กาเด” ได้เพิ่มจำนวนขึ้นในอัตราที่ต้องจับตาใกล้ชิด กล่าวคือ จากที่เคยทำได้หลักร้อย ตอนนี้พุ่งขึ้นเป็นหลักพัน โดยส่งไปปฏิบัติการได้ทั้งงานการเมืองและการทหาร



เวลานี้มีการประมาณกันว่าสมาชิกหน่วยเปอร์กาเดที่เป็น “เยาวชนชาย” กว่า 500 คน “เยาวชนหญิง” กว่า 400 คน และยังมี “หญิงหม้าย” ร่วมด้วยกว่า 200 คน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นกำลังขับเคลื่อนเพื่อขยายสมาชิกต่อไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมการลุกฮือการเรียกร้องสิทธิด้านการปกครองในอีกไม่นาน

นอกจากนี้ ยังมีความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกประการคือ มีการเก็บเรียกเงินจากสมาชิกขบวนการเพิ่มวันละ 1 บาท เป็น 2 บาท และจากการทำซุมเปาะแบบเดี่ยวก็เปลี่ยนเป็นทำรวมกัน หรือสังเกตได้จากการรวมตัวของเยาวชนคราวละมากๆ เช่น ประกาศวันเยาวชนแห่งชาติปัตตานี แน่นอนด้านหนึ่งคือเรื่องการแสดงอัตลักษณ์ แต่อีกด้านหนึ่งมีการทิ้งร่องรอยให้สืบค้นได้ว่าเชื่อมโยงกับใคร และองค์กรใด

สังเกตไหมว่าทำไมภาคประชาสังคมใต้ปีกบีอาร์เอ็นจึงเรียกเหตุก่อการร้ายว่าเป็นการ “ขัดกันด้วยอาวุธ” เรียกกระบวนการพูดคุยสันติสุขว่าเป็นการ “เจรจาสันติภาพ” เรียกคู่เจรจาว่าเป็น “คู่สงคราม” และเรียกร้องให้มีการ “กำหนดใจตนเอง” ของชาวมาลายูในชายแดนใต้

ทั้งหมดคือร่องรอยที่ชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นต้องการอะไร โดยเฉพาะ “มาเลเซีย” ต้องการเห็นอะไร และ “องค์กรชาติตะวันตก” ทำไมต้องส่งคนเข้ามาปักหลักในชายแดนใต้แบบฝังราก ทั้งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แถลงซ้ำไปหลายครั้งแล้วว่าไฟใต้สงบแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าไฟใต้สงบจริง ทำไมหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จึงยังปฏิบัติการกันอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับ “สภาอูลามา” ของบีอาร์เอ็นที่ในเวลานี้มี “ดุลเลาะ แวมะนอ” นั่งเป็นผู้นำอยู่

ความจริงแล้วที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็ตั้งคำถามไปอย่างนั้นแหละ เพราะเชื่อว่าสุดท้ายคงไม่มีคำตอบอะไรเลย จากทั้งหน่วยงานความมั่นคงในชายแดนใต้ และจาก สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ด้วยเช่นกัน

เนื่องเพราะ 1.อาจจะไม่รู้ ไม่สนใจ ไม่มีข้อมูล และ 2.สมช.ถูกสั่งให้ไปทำหน้าที่แก้ปัญหาน้ำมันแพงตามคำสั่งนายกฯ จึงไม่มีเวลาหรือหันมาสนใจแก้ปัญหาความมั่นคงที่ชายแดนใต้

ด้าน “กองทัพ” เองก็กำลังยุ่งเหยิงอยู่กับการจัดสรรตำแหน่งใหม่ ใครจะได้เป็น “แม่ทัพใหญ่” แล้วใครจะเป็น “แม่ทัพน้อย” ในกองทัพภาคที่ 4 ในการโยกย้ายแต่งตั้งที่งวดเข้ามาแล้ว

และที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เองก็ยิ่งยุ่งเหยิงไปใหญ่ เพราะมีขบวนการแบ่งแยกดินแดนฟื้นคืนชีพและกลับมาจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธได้ นั่นหมายถึง” “งบประมาณ” ที่นอกจากจะไม่ถูกลดทอนแล้ว ยังมีแต่จะถูกเติมเข้ามาเยอะขึ้นตามภารกิจที่เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]