ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ป.ป.ช.ตรังส่งสำนวนบริหารท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือโดยมิชอบยุค "กิจ หลีกภัย" ให้ชุดใหญ่แล้ว






ท้องถิ่น: “ป.ป.ช.ตรัง” ส่งสำนวนไต่สวนบริหารท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือมิชอบ ยุค “กิจ หลีกภัย” ส่วนประเด็นจัดซื้อที่ดินรอส่งตาม อดีต ส.จ.ชงสอบหลังพบ ซื้อ นส.3 แพงกินจริง ราคาประเมินไร่ละ 4หมื่นบาท ซื้อจริงไร่ 2 ล้านบาท “นายกฯบุ่นเล้ง” เดินหน้าฟื้นฟูใช้งานต่อ ปรับปรุงโกดัง-ทำลานสินค้าเทกองเพิ่ม ขอให้กรมเจ้าท่าขุดร่องน้ำเพิ่มเป็น 8.5 เมตร

29 กรกฎาคม 2565 - จากการแถลงผลการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภาค 9 พบว่า มีคดีความเรื่องท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง (อบจ.ตรัง) ได้แก่

1.คดีการบริหารจัดการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ ต.นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งแล้วเสร็จในส่วนของ ป.ป.ช.จังหวัด และได้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยัง ป.ป.ช.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาแล้ว รอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า จะให้ความเห็นชอบตามที่ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรังเสนอหรือไม่

และ 2.คดีการจัดซื้อที่ดินเพื่อทำท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปสำนวนไต่สวน เพราะก่อนหน้านี้ได้ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และได้สืบพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ถูกกล่าวหาได้กล่าวอ้าง ซึ่งขณะนี้ พนักงานไต่สวนเจ้าของเรื่องอยู่ระหว่างสรุปสำนวน เมื่อสรุปสำนวนเสร็จ ก็จะเสนอมาที่ชั้นของ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ให้ความเห็นชอบเช่นเดียวกัน



สำหรับท่าเรือนาเกลือของ อบจ.ตรัง ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ บริเวณหมู่ 2 ต.เกลือ อ.กันตัง โดยในช่วงที่นายกิจ หลีกภัย พี่ชายนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง เป็นฝ่ายออกงบประมาณสำหรับการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างท่าเรือพาณิชย์ขนถ่ายสินค้า โดยท่าเทียบเรือมีความยาว 185 เมตร ความกว้าง 29 เมตร รองรับเรือขนาด 4,000 ตันกรอส จอดได้ครั้งละ 2 ลำ

นอกจากนี้ อบจ.ตรังได้เช่าอาคารราชพัสดุจากกระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ 7 รายการประกอบด้วย ท่าเทียบเรือ อาคารคลังสินค้า อาคารซ่อมบำรุง อาคารด่านตรวจ 2 ป้อมยาม อาคารสำนักงาน และอาคารห้องเครื่อง เพื่อดำเนินกิจการสนับสนุนการส่งออกสินค้า อาทิ ข้าวโพดแห้ง มะพร้าวแห้ง ปูนซีเมนต์ ไม้ยางพาราแปรรูป แร่ ยิปซั่ม บุหรี่ เป็นต้น โดยใช้งบประมาณของกรมเจ้าท่าก่อในการก่อสร้างกว่า 406 ล้านบาท

จากนั้น ได้คืนให้กรมธนารักษ์ และ อบจ.ตรังได้เข้าไปทำสัญญาเช่าปีละ 1,000,000 บาท เพื่อดำเนินการดูแลและบริหารจัดการ โดยเริ่มเช่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 และสิ้นสุดสัญญาเช่าในเดือนกันยายน 2561 และมีการขอต่อสัญญาเช่าอีก 7 ปี 3 เดือน (1 ตุลาคม 2561-31 ธันวาคม 2568) รายได้หลักมาจากการเก็บค่าบริการท่าเรือ ซึ่ง อบจ.ตรังอยู่ในระหว่างขอลดอัตราค่าเช่ากับกรมธนารักษ์ เนื่องจากมีผู้มาใช้บริการน้อยลง และที่ผ่านมา การบริหารท่าเรือนาเกลือขาดทุนทุกปี ล่าสุดที่มีการสรุปไว้เมื่อปี 2560 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม–ธันวาคม 2560 ขาดทุนถึง 4,120,000 บาท

ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังคงอยู่ในสภาพเงียบเหงา ไม่มีเรือสินค้าเข้า-ออก ไม่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานในอาคารสำนักงาน มีเพียงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล โดยนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรังคนปัจจุบัน ได้มีนโยบายฟื้นฟูการดำเนินการของท่าเรือนาเกลืออีกครั้ง โดยอยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษาวางแผนของคณะที่ปรึกษา โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 นายบุ่นเล้งได้มอบหมายให้นายเสน่ห์ ทองศักดิ์ เลขานุการนายก อบจ.ตรัง นายกิตติเดช วรรณบวร ประธานสภา อบจ.ตรัง พร้อมด้วยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ ซึ่งแต่งตั้งขึ้น ประกอบด้วย สมาชิกสภา อบจ.ตรังในพื้นที่อำเภอกันตัง 3 คน ผู้อำนวยการกองช่าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติการและการพาณิชย์ และผู้ประกอบการเอกชนที่เคยใช้บริการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ ลงพื้นที่ติดตาม ศึกษาข้อมูล ปัญหา อุปสรรค และความเป็นไปได้ของการบริหารท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยมีการนำเสนอประเด็นปัญหา เช่น ท่าเทียบเรือไม่มีเครื่องจักรในการให้บริการ ระยะทางในการขนส่งทางบกไกลกว่าท่าเทียบเรือเอกชนอื่น ๆ ผู้ประกอบการขาดความมั่นใจในการให้บริการทั้งขาเข้าและขาออก สายเดินเรือที่จะมาเป็นคู่ค้าเพื่อทำการตลาดมีน้อย การประกอบการขาดทุน เป็นต้น

นายเสน่ห์ได้ออกมาระบุในขณะนั้นว่า เป็นการดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาของนายก อบจ.ตรัง ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม และสาธารณูปโภค เชื่อมโลกผ่านการพัฒนาท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือให้เป็นท่าเรือเพื่อการส่งออกสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะไม้ยางพารา และลดการขาดทุน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดประโยชน์ในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นในจังหวัดตรังต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะขับเคลื่อนได้




ด้านฝ่ายประชาสัมพันธ์ อบจ.ตรังได้เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของนายบุ่นเล้งว่า หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งนายก อบจ.ตรัง พบข้อมูลว่า อบจ.ตรัง มีรายรับ-รายจ่ายในกิจการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ ซึ่งได้มาจากให้บริการหน้าท่าให้เรือขนส่งสินค้าไปต่างประเทศอยู่ในภาวะขาดทุน จึงได้พยายามพัฒนาและฟื้นฟู ท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือให้มีรายได้มากขึ้น โดยมีการประชุมร่วมกับผู้ที่มีประสบการณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่ และระดับกระทรวง กรมเพื่อสนับสนุนให้ท่าเรือมีศักยภาพมากขึ้น และมีผู้มาใช้บริการรวมถึงหาแนวทางในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการให้มีความสะดวก คล่องตัวมากขึ้นภายใต้ระเบียบกฎหมายที่รองรับ

ปัจจุบันมีเรือขนส่งสินค้ามาใช้บริการมากขึ้น และทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2565 มีเรือขนปูนซิเมนต์ไปประเทศเมียนมามาใช้บริการหน้าท่าหลายเที่ยว ซึ่งเป็นตัวเลขจำนวนผู้ใช้บริการและรายได้ที่ดีกว่าเดิม และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีคู่ค้าจากต่างประเทศ เช่น จีน สิงคโปร์ และบริษัทเอกชนในประเทศไทยหลายรายเข้ามาคุยรายละเอียด และลงพื้นที่ไปดูท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ

“ตอนนี้กำลังรอยืนยันการใช้บริการ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการหน้าท่าให้มีประสิทธิภาพและสร้างแรงจูงใจให้คู่ค้ามากขึ้น และได้นำมาเป็นแนวทางปรับปรุงท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ ดังนี้ 1.ปรับปรุงโกดังสินค้าสำหรับสินค้าหีบห่อ และ 2.ปรับปรุงพื้นที่ว่างเปล่ากว่า 7 ไร่ เป็นลานกว้าง สำหรับสินค้าเทกอง" นายก อบจ. กล่าว


นายบุ่นเล้งกล่าวว่า ท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือมีข้อจำกัดเรื่องร่องน้ำที่รองรับเรือขนาดใหญ่ไม่ได้ จึงได้วางแนวทางการพัฒนาท่าเทียบเรือนาเกลือเพิ่มเติมไว้ โดยขอให้กรมเจ้าท่าขุดร่องน้ำเพิ่มประมาณ 2-2.5 เมตร จากเดิมความลึกหน้าท่า 4.60-6.00 เมตร นอกจากนั้น อบจ.ตรังได้ขอปรับลดค่าเช่าหรือยกเว้นค่าเช่าอาคารราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ และขออนุญาตกรมธนารักษ์ให้มีการเช่าช่วงหรือบริหารจัดการแทน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมธนารักษ์

ส่วนเรื่องที่ดินนั้น เมื่อปี 2550 กรมเจ้าท่าต้องการก่อสร้างท่าเทียบเรือให้จังหวัดตรัง โดยจะพิจารณาจากความพร้อมขององค์กรปกครองท้องถิ่นโดยเฉพาะเรื่องที่ดิน ซึ่งขณะนั้น อบจ.ตรังไม่มีที่ดิน แต่มีความต้องการให้มีท่าเทียบเรือ จึงทำเรื่องเพื่อแสดงทรัพย์สินและความพร้อมยินดีให้มีการก่อสร้างไปยังกรมเจ้าท่า ขณะเดียวกัน ระหว่างนั้นในปี 2549-2550 อบจ.ตรังจึงซื้อที่ดินในพื้นที่หมู่ 2 และ 3 ต.นาเกลือ อ.กันตัง ในวงเงินกว่า 30 ล้านบาท และที่ดินอีกส่วนหนึ่งเป็นที่ดินบริจาค

อบจ.ตรังในขณะนั้น ได้ตั้งงบประมาณปี 2560 วงเงิน 63 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อที่ดินเพิ่มอีก 30 ไร่ เป็นที่ดินติดท่าเรือ โดยมีราคาประเมินที่ดินไร่ละ 40,000 บาท แต่ อบจ.ซื้อเฉลี่ยไร่ละ 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาแพงเกินความเป็นจริง เเละที่ดินที่จะซื้ออยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้าราชการที่เป็นคณะกรรมการจัดซื้อในยุคนั้นจึงไม่ยอมลงนาม โดยให้เหตุผลว่าที่ดินดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 และ น.ส.3 ก. ซึ่งตามระเบียบพัสดุจะต้องเป็นที่ดินที่มีอาณาเขตแน่นอน และชัดเจน หรือเป็นโฉนดที่ดิน เพราะที่ดิน น.ส. 3 ถือว่ายังไม่มีอาณาเขตที่ชัดเจนแน่นอน



ต่อมาในปี 2561 ดาบตำรวจชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย รองประธานสภา อบจ.ตรังในขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามจัดเก็บรายได้และทรัพย์สินของ อบจ.ตรัง และเป็นผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ ได้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรังให้ทำการสืบสวนสอบสวน

สำหรับประเด็นเรื่องของมัสยิดกลางประจำจังหวัดตรัง ที่ ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรัง ได้ดำเนินการในเรื่องของการป้องปรามมากกว่า เพื่อป้องกันและการหาทางออกเรื่องของการป้องกันการทุจริต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องของอาคาร ในเรื่องของประเด็นการก่อสร้างแล้วมีบางส่วนชำรุดบกพร่อง ซึ่งตรงนี้อยู่ระหว่างมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการยกร่างเพื่อเป็นข้อเสนอจากกรรมการ ป.ป.ช. อาทิ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยชอบด้วยกฎหมายไม่

นอกจากนี้ ในส่วนของสิ่งก่อสร้างหลายๆ คดีของ อบจ.ตรังที่มีการทิ้งร้าง และมีการร้องเรียนเข้ามา ป.ป.ช.ประจำจังหวัดตรังได้ดำเนินการตรวจสอบอยู่ในสำนวนของป.ป.ช. เช่น ท่าเรือทุ่งคลองสน พิจารณาแล้วเห็นว่า มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องของการทุจริตต่อหน้าที่ จึงได้ส่งให้ผู้บังคับบัญชาไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับ อบจ.ตรังต่อไป





ไม่มีความคิดเห็น: