หอการค้าจีน-เคดาห์ มาเลเซีย สนใจลงทุนซื้อขายยางพาราในพื้นที่ชายแดนใต้
ชายแดนใต้: ศอ.บต.นำทัพแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจ ณ ประเทศมาเลเซีย โครงการเชื่อมโยงระบบรถไฟฟ้ารางคู่ระหว่างเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์กับเส้นทางปาดังเบซาร์-อิโปห์ ขณะที่ด้านหอการค้าจีน-เคดาห์ สนใจการซื้อขายยางพารา หวังเพิ่มโอกาสให้แก่คนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
12 กันยายน 2565 - ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดยนายอำนวย ศรีระแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (พช.) พร้อมด้วยคุณดาวิน หยาง ประธานสมาคมจีนในอาเซียน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เดินทางเข้าพบ Mr.Ang Saik Cheong SDK.BKM President of Kedah Chinese Chamber of Commerce and Industry ประธานหอการค้าจีน-เคดาห์ ในโอกาสเยือนประเทศมาเลเซียเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองการพัฒนา ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศมาเลเซีย
ผู้แทนหอการค้าอุตสาหกรรมจีน-เคดาห์ กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งบทบาทการขับเคลื่อนงานของหอการค้าอุตสาหกรรมจีน-เคดาห์ ปัจจุบันมีมากกว่า 30 องค์กรในรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจที่มีการขับเคลื่อนที่หลากหลาย
พร้อมกันนี้ยังได้หารือและเสนอแนะแนวทางโครงการเชื่อมโยงระบบรถไฟฟ้ารางคู่ระหว่างเส้นทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์กับเส้นทางปาดังเบซาร์-อิโปห์ เพื่อต้องการที่จะเปิดโอกาสในการกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้มากยิ่งขึ้นด้วย อีกทั้งยังมีความสนใจในเรื่องของการซื้อขายยางพารา เนื่องจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกยางพาราเป็นหลัก ซึ่งหากได้เข้ามาลงทุนเชื่อว่าจะสร้างโอกาสให้คนในพื้นที่ตลอดจนเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ขยายตลาดให้กว้างมากขึ้นด้วย
สำหรับการเดินทางมาเยือนประเทศมาเลเซียครั้งนี้มีกำหนดเดินทางตั้งแต่วันที่ 12-17 กันยายน 2565 โดยคณะจะได้เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและประธานองค์กรแนวร่วมแห่งชาติมาเลเซีย ณ ที่ทำการกระทรวงคมนาคม ประเทศมาเลเซีย จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า ณ ตลาดค้าปลีกค้าส่ง Pasar Borong พร้อมร่วมหารือแลกเปลี่ยนมุมมองกับหอการค้ามาเลเซีย-จีน ณ สำนักงานหอการค้ามาเลเซีย-จีน เข้าพบมุขมนตรีเมืองปีนัง รัฐปีนัง ณ ที่ทำการรัฐปีนัง และพบปะนักลงทุน MALAYSIA INVESTMENT ASSOCIATION Mr.Jeffrey Lim และคณะฯ ณ รัฐปีนัง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลประกอบธุรกิจชายแดน และความร่วมมือต่างๆ
รวมถึงเดินทางไปเยี่ยมชมท่าเรือปีนัง ปีนัง ตลอดจนพบปะผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในรัฐปีนัง ทั้งนี้เพื่อติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ รวมทั้งกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต โดยเฉพาะ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียได้มีการดำเนินความร่วมมือ ภายใต้กลไกต่าง ๆ ที่มีอยู่ อาทิ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับมาเลเซีย คณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนคณะกรรมการด้านความมั่นคง ได้แก่ คณะกรรมการชายแดนทั่วไป คณะกรรมการระดับสูง และ คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคซึ่งทั้ง 3 ระดับเป็นกรอบ ความร่วมมือของฝ่ายทหารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความมั่นคง และความร่วมมือชายแดน
คณะกรรมการด้านความมั่นคงกรอบอื่น ๆ เฉพาะเรื่อง อาทิ คณะกรรมการร่วมด้านการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด และความร่วมมือในกรอบแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย และอาเซียน และแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ รวมถึงเสริมสร้างมาตรการสร้างความไว้วางใจบนพื้นฐานของกรอบ 3Es ได้แก่ การศึกษา (Education) การจ้างงาน (Employment) และ การประกอบกิจการ (Entrepreneurship)
ไม่มีความคิดเห็น: