ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

หลังรัฐประหาร "งบฯชายแดนใต้" พุ่ง! เน้นความมั่นคง-ก่อสร้าง ดัน 'การศึกษา-สวัสดิการสังคม' ต่อท้ายแถว






รายงานพิเศษ โดย.. All about News

สถาบันสันติศึกษา มอ. เผยแพร่งานวิจัยการใช้งบฯ ในชายแดนภาคใต้นับแต่ปี 2547-2565 รวม 19 ปี ใช้งบฯ ไปแล้ว 484,134 ล้านบาท ชี้หลังการรัฐประหารทั้งปี 49 และ 57 งบฯ ชายแดนใต้มักจะมีแนวโน้มสูงมากขึ้นอย่างเด่นชัด เน้นงานด้านความมั่นคง-ก่อสร้าง ไม่เน้นการศึกษา สวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจ

เว็บไซต์สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เผยแพร่บทความจากวารสารความขัดแย้งและสันติศึกษา ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 โดยมีบทความวิจัยตีพิมพ์ที่น่าสนใจเรื่อง "สันติภาพที่ไม่เสรีกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการงบประมาณตามยุทธศาสตร์และแผนงานยุทธศาสตร์งบประมาณบูรณาการเพื่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560-2565" โดยมีอาจารย์ฟารีดา ปันจอร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เป็นผู้เขียน



บทความนี้พัฒนาขึ้นจากวิจัยเรื่อง โครงการพัฒนาฐานข้อมูล งบประมาณและแผนพัฒนาในพื้นที่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอจังหวัดสงขลา ปีงบประมาณ 2560 - 2563 โดยคณะผู้วิจัยได้ปรับปรุงข้อมูลในการวิเคราะห์ถึงปี พ.ศ. 2565 ซึ่งเมื่อนำข้อมูลงบประมาณทั้งหมดเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึง 2565 เป็นเวลา 19 ปีนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง รัฐบาลไทยใช้งบประมาณไปแล้วรวมทั้งสิ้น 484,134 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 25,480.89 ล้านบาท




บทความนี้ระบุว่า ผลการศึกษาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันและการจัดการงบประมาณจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายหลังการรัฐประหารของ คสช.ในปี พ.ศ. 2557 โดยงบประมาณทั้งหมดทุกแผนงานที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความสำคัญอย่างมากกับงานในด้านความมั่นคงและโครงการก่อสร้างหรืองบประมาณด้านการลงทุน แต่ไม่ได้เน้นหนักในความสำคัญในงบประมาณด้านการศึกษา สวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจ





"ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบอบการจัดการความขัดแย้งแบบอำนาจนิยมมีแนวโน้มที่จะใช้งบประมาณสูงอย่างมากมายมหาศาลในการจัดการความขัดแย้งอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในการจัดการปัญหาทั้งหมด"


ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ งบประมาณหลังจากปีที่มีการรัฐประหารมักจะมีแนวโน้มสูงมากขึ้นอย่างเด่นชัด ตัวอย่างเช่น ในระหว่างปี พ.ศ. 2557 ถึงปี พ.ศ. 2561 งบประมาณเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงโด่งขึ้นตามลำดับ จาก 24,152 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 25,687 ล้านบาท 30,177 ล้านบาท 37,795 ล้านบาท และ 40,624 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อดูที่อัตราการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายปีในปี พ.ศ. 2559 จะสูงถึงร้อยละ 17.4 และยิ่งเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 25.2 ในงบประมาณปี พ.ศ. 2560 และเมื่อเปรียบเทียบกับการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 ถึงปี พ.ศ. 2551 งบประมาณรายปีเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้สูงขึ้นมากถึงร้อยละ 31.2

หมุดหมายการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่สำคัญคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 98/2557 เรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ซึ่งทำให้มีศูนย์อำนาจใหม่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ที่มีอำนาจในการบูรณาการและกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงการจัดตั้งงบประมาณ ทั้งยังระบุไว้ชัดว่า ในระดับปฏิบัติ กำหนดให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เป็นหน่วยงานหลัก ขึ้นตรงต่อ คปต. และดูเหมือนว่า ทำให้บทบาทและอำนาจหน้าที่ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลดลง



จากนั้น ในปี 2560 รัฐบาลได้เริ่มจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการทางยุทธศาสตร์ โดยหนึ่งในนั้นคือแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรวมงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ที่มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการทำงานที่เชื่อมโยง สอดคล้อง สนับสนุนซึ่งกันและกัน แม้ว่าจะอยู่กันคนละกระทรวง ในขณะที่โครงการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่อยู่ในแผนบูรณาการยังคงมีอยู่

มีข้อสังเกตุว่า งบประมาณตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งเริ่มใช้แผนบูรณาการ หากพิจารณาเพียงแผนบูรณาการ ดูเหมือนงบประมาณเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลงเป็นอย่างมาก เช่น จากปี 2559 งบประมาณ 30,177 ล้านบาท ลดเหลือ 12,510 ล้านบาทในปี 2560 แต่ถ้ารวมเอาแผนงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมารวมกัน งบประมาณกลับสูงมากขึ้นทุกๆ ปี นั่นคือ ปี 2560 งบประมาณ 37,795 ล้านบาท ปี 2561 งบประมาณ 40,624 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น: