เมื่อฝ่ายหนุนกล่าวหา "มีธง" ทำ SEA นิคมจะนะ 'รักษาการนายกฯ' จะจัดการอย่างไร






รายงานพิเศษ โดย.. เมือง ไม้ขม

การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อจัดทำรายงานการศึกษาระดับยุทธศาสตร์ หรือ “SEA“ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 14 ธันวาคม 2564 ในโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งเป็นโครงการการสร้างเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่เป็นการลงทุนของเอกชน โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญเป็น ”เกตเวย์” หรือ”ท่าเรือ” เพื่อการส่งออกที่เป็นประตูที่ 3 ของประเทศไทยสู่โลกภายนอก เพื่อการแข่งขันกับนานาประเทศ ที่เป็นคู่แข่งของประเทศไทยนั้น

ได้สร้างความดีใจให้แก่คนส่วนใหญ่ของ อ.จะนะ จ.สงขลา ไม่เฉพาะแต่คนในพื้นที่ 3 ตำบล คือ นาทับ สะกอม และตลิ่งชัน ที่เป็นพื้นที่ตั้งของโครงการเท่านั้น เพราะคนทั้ง อ.จะนะเชื่อว่า ถ้าโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะเกิดขึ้นได้จริง ต้องส่งผลถึงผู้คนในหลากหลายสาขาอาชีพของ อ.จะนะและใกล้เคียงด้วย

แต่… ประชาชนที่ต้องการเห็นการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมจะนะเริ่มไม่แน่ใจว่าการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ชุดนี้จากสภาพัฒน์ เพื่อทำ SEA จะเป็นการมาเพื่อการ”ขับเคลื่อน” ให้โครงการนี้เกิดขึ้น เพื่อการ พัฒนาภาคใต้ หรือมาเพื่อการทำ “SEA” เพื่อให้หยุดโครงการดังกล่าวกันแน่

เพราะกลุ่มประชาชน ที่สนับสนุนโครงการ “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” พบความไม่ชอบมาพากล ที่เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ ผู้ทำหน้าที่จัดทำรายงานการศึกษาระดับยุทธศาสตร์ ที่ส่อว่า จะมีความไม่เป็นกลาง ไม่ได้ให้ความสำคัญประชาชนฝ่ายที่สนับสนุนโครงการ ในการพบปะพูดคุย เพื่อรับฟังข้อมูล ความเห็น ของฝ่ายที่สนับสนุน



แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนที่สนับสนุนโครงการกลับพบว่า เจ้าหน้าที่จากสภาพัฒน์ให้ความสำคัญกลุ่มคนส่วนน้อย ที่มีเอ็นจีโอ ทั้งที่อยู่ในเครื่องแบบของข้าราชการ และอื่นๆ ให้การหนุนหลังในการคัดค้านโครงการดังกล่าว

มีทั้งเอ็นจีโอและข้าราชการที่เป็นเอ็นจีโอเป็นผู้จัดทำแผน เพื่อให้เจ้าหน้าที่จากสภาพัฒน์ ในการพบกับกลุ่มผู้คัดค้าน เพื่อการให้ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีเอ็นจีโอเป็นผู้จัดทำให้ โดยอาศัยหลักวิชาการ ซึ่งประชาชนที่ไม่อยู่ในเครือข่ายของเอ็นจีโอทำไม่เป็น จนกลายเป็นจุดได้เปรียบ-เสียเปรียบ ที่กำลังเกิดขึ้นจากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์ในครั้งนี้

ล่าสุด ฝากฝั่งประชาชน ผู้สนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะเคลื่อนไหว เพื่อต่อต้านความไม่ชอบมาพากลของการจัดทำ SEA ในครั้งนี้ โดยยื่นหนังสือแก่สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ ต.เขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา และยื่นหนังสือแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เพื่อร้องเรียนถึงพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่จากสภาพัฒนไปยังเลขาธิการสภาพัฒน์และนายกรัฐมนตรี เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมีความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน กลุ่มที่ให้การสนับสนุนโครงการ และต้องการเห็นการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ การว่างงานของคนในพื้นที่ และบุตรหลานที่จบการศึกษาแล้วตกงานเป็นจำนวนมาก เพราะในพื้นที่ของภาคใต้ตอนล่างไม่มีการพัฒนาในโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไว้รองรับ

นางมณี อนันทบริพงษ์ แกนนำประชาชน ที่สนับสนุนให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กล่าวว่า พฤติกรรมและวิธีการของเจ้าหน้าที่จากสภาพัฒน ที่ลงมาเพื่อทำ SEA ครั้งนี้ ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ไม่ครอบคลุมกลุ่มคนในทุกสาขาอาชีพ มีการเน้นในกลุ่มอาชีพประมงพื้นบ้านที่เป็นผู้คัดค้านโครงการนี้ตั้งแต่ต้น แต่ละเลยกลุ่มอื่นๆ ทั้งหมด การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ มีผู้นำที่คัดค้านโครงการเป็นผู้กำหนดเส้นทาง กำหนดจุดนัดหมายที่ชัดเจน เพื่อชี้นำในการให้ข้อมูล ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ใน 3 ตำบลรับไม่ได้ จึงต้องมาร้องเรียนให้ผู้บริหารของสภาพัฒน์และรัฐบาลได้รับทราบ เพราะพฤติกรรมที่เกิดขึ้นเหมือน ”มีธง” ล่วงหน้าว่า ต้องการให้ผลของรายงานออกมาในฝั่งไหน



และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำหรับโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” หรือ “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ที่ชักจะมองเห็นแล้วว่า นอกจากจะมีแรงต้านจากเอ็นจีโอ ที่ค้านทุกเรื่องที่เกิดขึ้นใน จ.สงขลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังมี "กลุ่มทุนนอกพื้นที่" อีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีอิทธิพลในวงการอุตสากรรม เข้ามาขัดขวาง เพื่อมให้โครงการนี้เดินหน้า เพราะหากนิคมอุตสาหกรรมจะนะสำเร็จ อาจจะกระทบกับโครงการของกลุ่มทุน กลุ่มนี้นั่นเอง

รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรกับความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่กลุ่มประชาชน ที่ออกมากล่าวหาเจ้าหน้าที่จากสภาพัฒน รัฐบาลต้องสั่งให้สภาพัฒน์หรือผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะว่าการจัดทำ ”SEA” เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ของโครงการ ถ้ามีความไม่ชอบมาพากล มีความลำเอียง มีเบื้องหน้าเบื้องหลังเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น ก็เหมือกับการ ”ใส่เสื้อที่กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด” ผลการรายงานที่ออกมาก็จะผิดพลาด ที่เป็นความเสียหายต่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทำให้คนในพื้นที่เสียโอกาส

เรื่องนี้ รักษาการนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( กพต.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องเร่งใช้โอกาสในการรักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสั่งให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่จากสภาพัฒน ที่ลงพื้นที่ในการทำ SEA โดยเร็ว เพื่อให้มีความ ”ถูกต้อง” และ”เป็นธรรม” แก่ทุกฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]