โหมโรงสนามเลือกตั้ง ส.ส.สงขลา 9 เขต "ประชาธิปัตย์" ฟื้นแล้วจริงหรือ?






การเมือง รายงานพิเศษ โดย.. เมือง ไม้ขม


การยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี นักการเมืองลายครามที่อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มายาวนาน และมีตำแหน่งทางการเมือง ที่ทำให้คนทั้งประเทศจดจำในตำแหน่งของ ”โฆษกสามสี” เป็นนักการเมืองที่มีลีลาในการปราศรัย ทั้งสาระและโปกฮาเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของ "พรรคแม่ธรณีบีบมวยผม" ย่อมมีผลสะเทือนต่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่มากก็น้อย

แต่สำหรับผู้ที่ติดตามบทบาทของ ดร.ไตรรงค์ ก็ไม่อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะก่อนหน้านี้ มีการรู้กันล่วงหน้าถึงการตัดสินในที่จะอำลาพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว

ที่สำคัญ การอำลาพรรคประชาธิปัตย์ของ ดร.ไตรรงค์ ไม่ได้ลาออกเพื่อหยุดเล่นการเมือง แต่เป็นการลาออกเพื่อไปทำการเมืองตามที่หัวใจปรารถนาในบั้นปลายของการเป็นนักการเมือง ซึ่ง ดร.ไตรรงค์ ได้อรรถาธิบายอย่างละเอียดในจดหมายลาออกอย่างเบ็ดเสร็จ เช่นเดียวกับสมาชิกเก่าแก่ของพรรคหลายๆ คน เช่น "นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" ส.ส.พัทลุง 7 สมัย ที่ลาออกมาอยู่กับพรรคสร้างอนาคตไทย ที่มี "อุตตม สาวนายน" เป็นหัวหน้าพรรค

สำหรับ ดร.ไตรรงค์ นั้นเชื่อว่าจะไปร่วมทำการเมืองกับ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ที่ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลาออกจากพรรคไปก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ก่อนคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้ารัฐบาล จะแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562

แต่... สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ในวินาทีนี้ ไม่ว่าใครจะอยู่หรือไป เมื่อห้ามกันไม่ได้ก็ต้องปล่อยและต้องไม่ไปเสียเวลาในการฟูมฟาย เพราะวันนี้ “ประชาธิปัตย์” ต้องมองไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว เนื่องจากศึกใหญ่เลือกตั้ง หากมีก็จะมีกองทัพของศัตรูที่เป็นคู่แข่งรออยู่ข้างหน้า ถ้าเป็นการรบทัพจับศึก เฉพาะในสนามภาคใต้ อย่างน้อยก็ต้องเจอถึง 3 ทัพใหญ่ และอีกสารพัดพรรคเล็กที่พร้อมจะร่วมรุมกินโต๊ะด้วยกำลังรบและศาสตราวุธที่พร้อมสรรพ



สนามแรกที่อยากจะชวนท่านผู้อ่านมาตรวจความพร้อมของการทำศึกในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ จ.สงขลา ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมี ส.ส.รวม 9 เขต เพิ่มขึ้นมา 1 เขตจากการเลือกตั้งครั้งก่อน

สงขลา” ถือเป็นเมืองหลวงของภาคใต้และเมืองหลวงของพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่สงขลาเป็นมาตุภูมิของแม่ทัพพรรคประชาธิปัตย์ถึง 2 คน นั่นคือ "นิพนธ์ บุญญามณี" รองหัวหน้าพรรค และผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า และ "เดชอิศม์ ขาวทอง" หรือนายกชาย ส.ส.สงขลา เขต 5 รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้

ย้อนกลับไปดูในการเลือกตั้งใน จ.สงขลาเมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ต่อพรรคพลังประชารัฐอย่างหมดรูป เพราะใน 8 เขตการเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มาเพียง 3 เขต คือ เขต 5 เขต 6 และเขต 8 ที่เหลือถูก "พลังบิ๊กตู่" แย่งไปได้ 4 ที่นั่ง และที่เซอร์ไพรส์ คือ เขตเลือกตั้งที่ 7 ที่ ส.ส.หลายสมัยอย่าง "ศิริโชค โสภา" พ่ายแพ้ให้แก่นักการเมืองหน้าใหม่จากพรรคภูมิใจไทย “ณัฐฎ์ชนน ศรีก่อเกื้อ” อย่างหมดรูป

ดังนั้น ในการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์ต้องเอาที่นั่งกลับคืนมาให้ได้มากที่สุด และแน่นอนแล้วว่า คู่ต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ที่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ได้ "ล้มเสาไฟฟ้า" ในภาคใต้รวมกัน 21 ที่นั่ง

ครั้งนี้สนามเลือกตั้ง จ.สงขลา เขต 1 ประชาธิปัตย์ส่ง "สรรเพชญ บุญญามณี" ลูกชายของ "นิพนธ์ บุญญามณี" ลงสู้ศึกอีกครั้งเพื่อหวังแก้มือ หลังจากเมื่อปี 2562 ดาวรุ่งอย่าง "สรรเพชญ" ถูกสกัดโดย “วันชัย ปริญญาศิริ” แห่งพลังประชารัฐ ที่วันนี้ลาออกจากการเป็น ส.ส.มาสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งนายกเทศบาลนครสงขลา ถ้าสอบได้ก็เท่ากับ "สรรเพชญ" หมดคู่แข่งไป 1 คน จะเหลือเพียง "ประสงค์ บริรักษ์" หรือนายกแบน อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเขารูปช้าง และ "เจือ ราชสีห์" อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เดิม ซึ่งครั้งนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ หาพรรคใหม่สังกัดเพื่อลงสมัครในเขต 1 หรือไม่



เขตเลือกตั้งที่ 1 นี้ “สรรเพชญ” ทำการบ้านและการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นมวยก็ต้องให้เป็นเต็งหนึ่ง ซึ่งคอการเมืองส่วนใหญ่เชื่อว่า เขตนี้เลือกตั้งครั้งใหม่จะได้ ส.ส.หนุ่มหน้ามน ที่ชื่อ "สรรเพชญ" แน่นอน

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 2 เขตนี้เป็นที่มั่นอย่างยาวนานของประชาธิปัตย์ ที่ครั้งก่อนพลาดท่าเสียให้ "ศราสตรา ศรีปาน" นักการเมืองหน้าใหม่จากพรรคพลังประชารัฐ ครั้งนี้ประชาธิปัตย์ส่ง ”นิพัฒน์ อุดมอักษร” นักธุรกิจ นักการเมืองรุ่นใหม่ เลขานุการนายก อบจ.สงขลา ลงแข่งขัน หวังกู้ชื่อพรรคและเอาพื้นที่เขต 2 กลับมา

ส่วนพรรคภูมิใจไทยส่ง “ฉัตรชัย ชูแก้ว” หรือทนายหมู ซึ่งเป็นการลงชิงชัยที่หวังผลในการได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นใน จ.สงขลา หลังจากที่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาภูมิใจไทยปักธงในพื้นที่เขต 7 ได้ 1 เขต

นอกจากนี้ เขตเลือกตั้งที่ 2 ยังมี "เสือเฒ่า" อย่าง "พ.อ.พิเศษ สุชาติ จันทรโชติกุล" อดีต ส.ส.และอดีต ผอ.การเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ลงชิงชัยในเสื้อของพรรคสร้างอนาคตไทยด้วย

เขตเลือกตั้งที่ 3 เลือกตั้งครั้งที่แล้วประชาธิปัตย์เสียที่นั่งให้ "พยม พรหมเพชร" หรือ "ส.ส.พันศพ" จากพลังประชารัฐแบบเหนือความคาดหมาย ครั้งนี้ประชาธิปัตย์ส่งผู้รับเหมารายใหญ่อย่าง "สมยศ พลายด้วง" หรือเถ้าแก่ถึก ลงสู้ศึก ด้วยการเปิดตัวตั้งแต่ "ไก่ยังไม่โห่" พร้อมป้ายแนะนำตัวที่ใหญ่กว่าใคร จนได้ฉายา "ถึก ป้ายใหญ่" จากคนในพื้นที่

ในขณะที่ภูมิใจไทยส่ง “ไพร พัฒโน” อดีต ส.ส.หลายสมัยของประชาธิปัตย์ รวมทั้งเคยเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ ลงในเขตนี้ โดยเป็นเขตที่คาดหวังรองจากเขต 7 เพราะพื้นที่เขต 3 เป็นพื้นที่ซึ่ง “ไสว พัฒโน” ผู้เป็นบิดาของ “ไพร” เคยเป็น ส.ส. และ “ไพร” เองก็เคยเป็น ส.ส.เขตนี้มาก่อนเช่นกัน แต่นั่นเป็นอดีต ที่วันนี้อาจจะนำมานับไม่ได้

ที่สำคัญเขตนี้ตัวยืนคือ “ครูยม” หรือ "พยม พรหมเพชร" ที่เป็น ส.ส.ในปัจจุบัน ถูกมองว่าอ่อนที่สุดในบรรดา ส.ส.สงขลาทั้ง 4 เขตของพลังประชารัฐ จนมีการวิเคราะห์จากกูรูการเมืองในพื้นที่ว่า เป็นการแข่งขันกันเข้าป้ายของ “สมยศ พลายด้วง” จากประชาธิปัตย์ และ "ไพร พัฒนโน" จากภูมิใจไทย โดย "สมยศ" เหนือว่าในเรื่องกระสุน แต่ "ไพร" ได้เปรียบในเรื่องของกระดูก

เขตเลือกตั้งที่ 4 ครั้งที่แล้ว “ชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว” ส.ส.ประชาธิปัตย์ พลาดท่าเสียเชิงให้แก่ "ผู้กองรุน" ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี จากพลังประชารัฐ ไม่กี่ร้อยคะแนน ครั้งนี้ “ผู้กองรุน” สุขภาพไม่สมบูรณ์ และก่อนหน้านี้มีการนำเอาบุคคลอื่นมาแนะนำกับชาวบ้านให้เป็นตัวแทนของตนในการเลือกตั้งครั้งหน้า ดังนั้น ประเด็นนี้อาจจะส่งผลให้คะแนนนิยมของ "ผู้กองรุน" หายไปส่วนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นผลดีกับ “ชัยวุฒิ”

แต่เขตนี้ภูมิใจไทยคาดหวังด้วยการส่ง "ว่าที่ ร.ต.ไกรธนู แกล้วทะนง" หรือ ส.จ.เต้ง นักการเมืองท้องถิ่นที่ไหว้สวย ยิ้มหวาน ลงแข่งขันในเวทีใหญ่เป็นครั้งแรก

เขตนี้ประชาธิปัตย์เชื่อมั่นว่าจะทวงคืนที่นั่งได้สำเร็จ ถ้า "ชัยวุฒิ" ขยันลงพื้นที่และภูมิใจไทยไม่มีการอัดฉีด “ส.จ.เต้ง” อย่างเต็มกำลัง



เขตเลือกตั้งที่ 5 ซึ่งเป็นที่มั่นของ "เดชอิศม์ ขาวทอง" หรือนายกชาย เขตนี้กูรูทางการเมืองฟันธง ว่า ยังไม่มีใครที่ทาบรัศมีของ "นายกชาย" ได้ เช่นเดียวกับเขต 6 ซึ่งเจ้าของพื้นที่คือ “สุภาพร กำเนิดผล” ที่เป็นหวานใจของ "นายกชาย" ซึ่งเป็น ส.ส. จากการเลือกซ่อม เขตนี้ “คุณนายน้ำหอม” ยังมีคู่แข่งที่เป็น "โบ๊ต" อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ จากพลังประชารัฐ ที่ในการเลือกซ่อมแพ้ไปประมาณสี่ห้าพันเสียง ครั้งนี้พรรคจึงต้องการล้างตาอีกครั้ง แต่วิเคราะห์แล้ว วินาทีนี้ “สุภาพร” ยังเหนือกว่าทุกประตู เพราะหลังการได้เป็น ส.ส. เธอขยันลงพื้นที่ ที่สำคัญเธอคือหวานใจของ "นายกชาย" ที่แพ้ไม่ได้เด็ดขาด

เขตเลือกตั้งที่ 7 เป็นเขตที่เป็น "งานหิน" ของประชาธิปัตย์ เพราะ "ณัฐฎ์ชนน ศรีก่อเกื้อ" จากภูมิใจไทยที่เป็น ส.ส.สมัยแรก ทำงานเข้าตาคนในพื้นที่ ในขณะที่ "ศิริโชค โสภา" จากประชาธิปัตย์ก็ไม่ย่อท้อ เพราะหวังทวงคืนตำแหน่ง ส.ส.ด้วยการใช้กลยุทธ์แบบติดดิน ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านแบบเข้าถึงก้นครัว

เขตนี้ภูมิใจไทยเป็นปัญหาจาก "นโยบายกัญชาเสรี" ที่มุสลิมออกมาต่อต้าน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว "ณัฐฎ์ชนน" ชนะ "ศิริโชค" ในพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย ซึ่งเป็นพื้นที่มีมุสลิมมากกว่าไทยพุทธ ถ้ากัญชาเสรีพ่นพิษ ก็มีผลต่อคะแนนเสียงของ "ณัฐฎ์ชนน" เพียงแต่เสียงที่ไม่เอา "ณัฐฎ์ชนน" เพราะพิษของกัญชาเสรีจะเทให้ "ศิริโชค" หรือเทให้ผู้สมัครของประชาชาติ

ดังนั้นใน เขต 7 “ศิริโชค” ยังอยู่ในโซนอันตรายที่ต้องแก้เกมในการสร้างกระแส และการใช้กระสุน ถ้าหวังจะกลับมาเป็น ส.ส.อีกครั้ง

เขต 8 เป็นอีกเขตหนึ่งที่ พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส.ของประชาธิปัตย์ ค่อนข้างแบเบอร์ เพราะคู่แข่งจากภูมิใจไทย อย่าง "วสันต์ ช่างหมาน" ก็ดี และผู้สมัครจากพลังประชารัฐ อย่าง "สมหมาย ขวัญทองยิ้ม" และ "มังโสด หมะเต๊ะ" จากประชาชาติยังไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อ แต่มีข้อสังเกตว่า เขตเลือกตั้งที่ 8 มีผู้สมัครที่เป็นมุสลิม 6 คน แต่มีไทยพุทธเป็นผู้สมัครเพียง 1 คน คือ "สมหมาย" แต่ก็เชื่อว่าพลังประชารัฐไม่มีอิทธิฤทธิ์เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อน เขตนี้จึงเหมือน เขต 5 ที่ประชาธิปัตย์ไม่เหนื่อย

เขตสุดท้าย เขต 9 เป็นเขตน้องใหม่ที่ประชาธิปัตย์หวังเพิ่มจำนวน ส.ส. ด้วยการยอมให้ "เดชอิศม์ ขาวทอง" ส่งลูกชายอย่าง "ศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง" หรือสิงโต เป็นผู้สมัคร เพื่อรับประกันว่า "ชัวร์ป้าด" ยอมที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์การเป็น ส.ส. พ่อ แม่ลูก ในขณะที่พลังประชารัฐส่งเสือเฒ่า "ล่องหิน ทิพย์แก้ว" ส.อบจ.สงขลา ลงสนามเพื่อสู้ศึกกับ "สิงโต" เขตนี้ถ้ากระเป๋าเงินของ "ล่องหิน" พอๆ กับของ "สิงโต" และถ้าพลังประชารัฐมีการอัดฉีดอย่างเต็มที่ คอการเมืองการันตีว่า จะได้ดูดี แต่ ณ วินาทีที่มีการเปิดตัว เซียนพนัน ยังเทให้ "สิงโต" แบบหมดหน้าตัก เพราะเชื่อในบารมีของผู้พ่อ ที่จะไม่ปล่อยให้ลูกที่ลงสนามครั้งต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน



ทั้งนี้เป็นการวิเคราะห์สนามเลือกตั้งสงขลา ในเวลาที่มีการโหมโรงเท่านั้น ส่วนการทำศึกกันจริงๆ ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ายังมีปัจจัยอีกหลายหลากที่เป็นตัวกำหนดการแพ้-ชนะ ทั้งเรื่อง "กระแส-กระสุน" การใช้กลยุทธ์ และอำนาจรัฐ รวมทั้งอิทธิพล และอำนาจมืด แต่อย่างน้อยที่สุดผู้อ่าน ผู้ที่สนใจเรื่องการเมืองจะได้เห็นตัวตน และเห็นทิศทางของการเลือกตั้วในครั้งหน้า (ถ้ามี) จะได้ตัดสินใจได้ว่าจะเลือกผู้สมัครพรรคไหนเป็นตัวแทนของท่านในสภาผู้แทน

ที่สำคัญต้องจับตาว่า ประชาธิปัตย์ฟื้นคืนชีพแล้วอย่างที่แกนนำเชื่อมั่นจริงหรือไม่ และจะได้ ส.ส.ได้ทั้ง 9 เขต อย่างที่คุยโวไว้หรือไม่ รวมทั้งต้องดูว่าพลังประชารัฐจะใช้ยุทธวิธีใดในการรักษาที่นั่งของ ส.ส.ทั้ง 4 เขตอย่างไร และ "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ลูกศิษย์ของ "เนวิน ชิดชอบ" จะตอกเสาเข็มได้กี่ต้น และต้นเดียวที่ปักอยู่ในเขต 7 จะถูกโค่นล้ม เพราะพิษสงของ “กัญชาเสรี” หรือไม่

ทั้งหมดล้วนเป็นความตื่นเต้นที่ต้องติดตามทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]