มองบทบาท “นิพนธ์ บุญญามณี” ขุนพล ปชป.ศึกเลือกตั้งชายแดนใต้ ว่าจะนำทัพฝ่า “ตัวแปร” ในพื้นที่อย่างไร







บทความ โดย เมือง ไม้ขม

ติดตามดูความเคลื่อนไหวของ “พรรคประชาธิปัตย์” ในการสรรหาผู้สมัครในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งใหม่จะมีเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นใน จ.นราธิวาส 1 เขต จากเดิม 4 เขตเป็น 5 เขต จ.ยะลามี 3 เขตเลือกตั้ง และ จ.ปัตตานีมี 4 เขต รวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มี 12 เขตเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส.ในพื้นที่ 3 จังหวัดเพียง ”หนึ่งเดียว” นั้นคือ “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี เขต 1 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า “อันวาร์” คงต้องไปสมัคร ส.ส.ในพรรคการเมืองอื่น เพราะ ”ประชาธิปัตย์” ไม่ได้ส่งลงสมัคร และได้เปิดตัวผู้สมัครคนใหม่ใน จ.ปัตตานี เขต 1 ไปแล้ว

หนึ่งในสาเหตุที่ “ประชาธิปัตย์” เหลือ ส.ส.เพียงคนเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นั่นก็เป็นเพราะ ”สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้นำนกหวีด อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ใช้วิธีการ ”ตกปลาในบ่อประชาธิปัตย์” เอาไปลงสมัครในนามพรรคการเมืองของตนเอง ที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกันกับที่ ”พรรครวมไทยสร้างชาติ” ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เสียศูนย์ เพราะเสียอดีต ส.ส.ไปเกือบหมด

อย่างไรก็ตาม อดีต ส.ส.ของประชาธิปัตย์ ที่ไปกอดคอกับ ”สุเทพ เทือกสุบรรณ” ก็ไปไม่ถึงดวงดาว กลายเป็น ส.ส.สอบตกกันระเนระนาด

การเลือกตั้งที่จะมาถึงในปี 2566 ผู้ที่พรรคประชาธิปัตย์วางตัวไว้ให้รับผิดชอบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรค

หลังจากใช้เวลาหลายเดือนในการสรรหาผู้สมัครตามกติกาของพรรค ก็ได้ผู้สมัครครบทั้ง 12 เขตเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เปิดตัวอย่างคึกคักไปแล้ว ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฎ จ.ยะลา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา



ในการเปิดตัวผู้สมัครทั้ง 12 เขตของ ”ประชาธิปัตย์” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ว่าที่ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ที่ไม่เคยลงเล่นการเมืองระดับชาติ มีเพียง ”เจะอามิง โต๊ะตาหยง” ผู้สมัคร จ.นราธิวาส เขต 5 และ ”ณรงค์ ดูดิง” อดีต สส.ยะลา เขต 3 เท่านั้น ที่เป็นอดีต ส.ส.เก่าของพรรคประชาธิปัตย์

เห็นได้ชัดว่า ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2566 ว่าที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์เป็น “เลือดใหม่” หรือ ”คนรุ่นใหม่” ที่เข้ามาให้เลือกกันในสนามเลือกตั้ง และไม่เพียงแต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ ที่พรรรคประชาธิปัตย์ส่งคนรุ่นใหม่ให้ประชาชนได้พิจารณา เช่น สตูล พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และตรัง รวมทั้งอีกหลายพื้นที่

การส่งผู้สมัครในครั้งนี้ของ ”ประชาธิปัตย์” จึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างนักการเมืองเก่า ที่เป็น ส.ส.อยู่แล้วกับนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เข้ามาเสริมทัพ เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ที่สนใจการเมือง และที่สำคัญเป็นผู้สนใจการเมืองรุ่นใหม่ ที่ต้องการลงสมัครในนามของพรรคประชาธิปัตย์

ก็จะสวนทางกับการที่พรรคการเมืองหลายพรรค ที่ออกมาโจมตีว่า ”ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองที่ไร้เสน่ห์ มีแต่สมาชิกไหลออก และในการเลือกตั้งครั้งหน้า ”ประชาธิปัตย์” อาจจะเหลือ ส.ส.ที่สอบได้น้อยกว่าในการเลือกตั้งปี 2562 แต่จากการที่มีคนรุ่นใหม่เสนอตัวเข้ามา เพื่อลงรับสมัครรับเลือกตั้งในนาม “ประชาธิปัตย์” ทำให้เห็นว่าการถูกโจมตีและการสบประมาทเป็นเรื่องที่ไม่จริง

โดยเฉพาะ ส.ส.ที่ไหลออก เพื่อไปสมัครในนามพรรคการเมืองอื่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องการเงิน เรื่องพรรคพวก หรือเรื่องผลโพล ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ในการลงสมัครในนาม ”พรรคใหม่” คะแนนส่วนหนึ่งที่เป็นคะแนนพรรคอาจจะไม่ได้ติดตามไปกับตัว ส.ส.หรือผู้สมัคร

ดังนั้น ถ้า “ประชาธิปัตย์” ได้ผู้สมัครหน้าใหม่ ที่มีคะแนนนิยมจากคนในพื้นที่สูง เมื่อบวกกับ ”คะแนนพรรค” ก็ทำให้ได้เป็น ส.ส.ไม่ยากนัก ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ให้จับตามองการเลือกตั้งใน เขต 1 ปัตตานี ที่ ”ประชาธิปัตย์” มีคะแนนพรรคที่เหนียวแน่น เพื่อลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครในนามพรรค ที่อาจจะทำให้อดีต ส.ส. ที่ไปลงสมัครในพรรคอื่น ต้องน้ำตาตกก็เป็นได้

สำหรับพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คู่แข่งของทุกพรรคการเมือง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ คือ ”พรรคประชาชาติ” ที่มี “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นหัวหน้าพรรค และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเลขาธิการพรรค ที่มี ส.ส. 6 คน ถ้าไม่รวม “อนุมัติ ซูสารอ” ที่แปรพักตร์ไปอยู่กับ ”พลังประชารัฐ” นานแล้ว ต่างมีผลงานในการอภิปรายในสภาทุกคน และที่สำคัญ ทั้ง “วันนอร์” และ”ทวี” ทำการบ้านและเกาะติดพื้นที่อยู่ตลอดเวลา

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทุกพรรคการเมืองก็จะฟาดฟัน ส.ส.ของ ”ประชาชาติ” เพื่อแย่งชิงที่นั่ง ในขณะที่ ”ประชาชาติ” ก็ต้องการเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้มากกว่าเดิม

ดังนั้น สนามเลือกตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นพื้นที่เล็ก แต่ดุเดือดเลือดพล่านและตื่นเต้นเร้าใจ

เพราะในพื้นที่แห่งนี้ มีปัจจัยอื่นๆ แตกต่างไปจากพื้นที่อื่น ตั้งแต่มีกำลังทหารหลายหมื่นคน ที่อาจจะ ”ซ้ายหัน-ขวาหัน” ตามคำสั่งได้ ยังมีเรื่องอิทธิพล ผลประโยชน์จากขบวนการธุรกิจสีเทา โดยเฉพาะยาเสพติด บุหรี่เถื่อน น้ำมันเถื่อน

และสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ อิทธิพลของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ”บีอาร์เอ็น” จะยืนอยู่ฝั่งไหน ตัวบุคคลหรือพรรคการเมือง ล้วนเป็น ”ตัวแปร” กับการเลือกตั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น



ก็ต้องยอมรับว่า นี่เป็นงานหนักของ ”นิพนธ์ บุญญามณี “ รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้ง ที่จะต้องมียุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ในอดีต พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นแชมป์ มี ส.ส.มากที่สุด

และการมียุทธศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีกลยุทธในการแปรยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ผู้สมัครนำไปใช้ในการหาเสียงในแต่ละพื้นที่ เพราะเชื่อว่าคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังให้การต้อนรับการกลับมาของพรรคประชาธิปัตย์อยู่

ที่สำคัญ จากการติดตามความเคลื่อนไหวของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเดินเกมการเมืองตามกติกาของการทำการเมืองที่มีจริยธรรม เมื่อมีคนไหลออกก็ไม่ตีโพยตีพาย แต่มีการหาคนใหม่เข้ามาแทนที่ และการหาผู้สมัครของประชาธิปัตย์ก็ไม่มีการ ”ตกปลาในบ่อเพื่อน” อย่างที่หลายพรรคการเมืองทำกัน

ดังนั้น การเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประชาธิปัตย์มี ส.ส.เพียง 1 เขตใน จ.ปัตตานีครั้งนี้ ไม่ว่าจะได้ ส.ส.เพิ่มอีกกี่คน ก็ถือว่าเป็น ”กำไร”

ที่สำคัญคือเป็นการเล่นการเมืองตามกติกาของพรรคการเมืองเก่าแก่ ที่มีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมือง ที่ต้องปฏิบัติและรักษาเอาไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]