ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

มองศึกเลือกตั้งภาคใต้ ”พรรคเฉพาะกิจ” ระวังจะตกม้าตาย ตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่สนามรบ






บทความ โดย.. เมือง ไม้ขม


การเดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของ ”สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” อดีต ส.ส.ตรัง ที่เป็นถึงเลขานุการของ ”ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ถือว่าเป็นเลือดไหลออกจาก ”ประชาธิปัตย์” แต่เป็นเพราะต้องออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต โดยไม่ประสงค์ที่จะเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค

สาเหตุมาจากในเขตเลือกตั้งที่ 4 ของ จ.ตรังมีผู้สมัครมากกว่า 1 คน จึงต้องทำโพล ซึ่งผลของโพลที่ออกมาปรากฏว่า “สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” มีคะแนนนิยมของคนในเขต 4 น้อยกว่าคู่แข่ง โดย ”สมบูรณ์” เชื่อว่า ผลโพลที่ออกมาไม่โปร่งใส

เมื่อเรียกร้องให้ทบทวนไม่ได้ผล “สมบูรณ์” จึงต้องเดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อทำตามเจตนารมณ์ คือการ เป็น ส.ส.เขต โดยการหาพรรคการเมืองใหม่มาสังกัด ซึ่งเป็นพรรคที่คุ้นเคย คือ ”พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่มีอดีตคนของ ”ประชาธิปัตย์” เข้าไปสังกัดพรรคแล้วจำนวนหนึ่ง มีทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลาง และรุ่นใหญ่ อย่าง ”ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี" และหัวหน้าพรรคเองก็เป็นอดีตคนของประชาธิปัตย์ จึงเป็นบ้านหลังใหม่ ที่น่าจะดูดีกว่าการไปสังกัดพรรคอื่น

นี่เป็นวีถีชีวิตของนักการเมือง ที่เมื่อในพรรคเดิมไม่มีพื้นที่ให้ลงรับสมัคร ก็ต้องไปหาพรรคการเมืองใหม่สังกัด เพื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือก ซึ่งทุกพรรคการเมืองก็มีปรากฏการณ์ที่ ส.ส.หรือสมาชิกพรรคเดินออกจากพรรคเพื่อหาพรรคใหม่สังกัด สำหรับการลงสนามเลือกตั้งพิสูจน์ความศรัทธาของประชาชน

ดังนั้น การเดินออกจากประชาธิปัตย์ของ ”สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” จึงเป็นเรื่องปกติ ที่แม้แต่ ”ชวน หลีกภัย” ผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องนิ่งเงียบ เพราะมาจากผลของการทำโพล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับในกติกาที่กำหนดขึ้น

ที่สำคัญ การเลือกตั้ง ส.ส.ตรัง เขต 4 ในสมัยหน้า จะเป็นการพิสูจน์ระหว่างผลโพลกับความเป็น ”สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” ว่าอันไหนจะน่าเชื่อถือกว่ากัน

ดังนั้น การเดินออกจากพรรคประชาธิปัตย์ของอดีต ส.ส.และ ส.ส.ที่ยังอยู่กับประชาธิปัตย์ แต่ได้แจ้งให้พรรครับทราบแล้วว่า สมัยหน้า จะไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น จึงไม่ได้ทำให้เกิดความระส่ำระสายในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคนการเมืองย่อมรู้จักคนการเมือง รู้ระแคะระคายกันล่วงหน้าว่า ใครจะอยู่ และใครจะไป จึงมีการเตรียมการล่วงหน้าในการสรรหาผู้สมัครใหม่เข้ามาแทนที่ในเขตที่มี ส.ส.ลาออกไปสังกัดพรรคใหม่



จากการติดตามดูการจัดทัพ เพื่อการเลือกตั้งในปี 2566 ของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค และ "นิพนธ์ บุญญามณี" รองหัวหน้าพรรค ที่ทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้ง จะเห็นความนิ่งในการรับมือกับทุกปัญหา ทั้งเรื่องการลาออกของคน เรื่องพลังดูดของพรรคการเมืองอื่นที่ต้องการแย่ง ส.ส.เขตจากพรรคประชาธิปัตย์ และการเคลื่อนไหวของพรรคเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ และมีเป้าหมายที่จะบดขยี้พรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะ

“นิพนธ์” ใช้ความช่ำชองในการเป็นนักการเมืองอาชีพ ตั้งแต่สมัยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสงขลา 2 สมัย และเป็น ส.ส.อีก 6 สมัย ก่อนที่จะลาออกมาทำการเมืองท้องถิ่นด้วยการเป็นนายกองค์การบริหารจังหวัดสงขลา 2 สมัย และลาออกไปรับตำแหน่ง รมช.มหาดไทยในโควต้าพรรคประชาธิปัตย์

ล่าสุด ลาออกเพื่อสู้คดีที่ถูกกว่าหาจาก ป.ป.ช. เรื่องการไม่จ่ายเงินให้โครงการที่มีข้อกล่าวหาเรื่องการฮั้วประมูลในสมัยที่เป็นนายก อบจ.สงขลา เพื่อแสดงเจตนาว่า จะไม่เอาตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดี

และเพราะประสบการณ์ในด้านการเมือง ทั้งในการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ ที่ทำให้กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เลือก ”นิพนธ์” ในการทำหน้าที่ผู้อำนวยการเลือกตั้ง เพื่อรับศึกการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ที่จะถึงนี้

วันนี้ “ประชาธิปัตย์” มีความพร้อมที่สุด ทั้งในเรื่องของคนและแผนงานในทุกด้าน ถ้าตัดเรื่องพลังดูดและเรื่องของผลโพล ที่ทำให้คนของประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งต้องเดินจากไป ต้องถือว่า “ประชาธิปัตย์” เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว ที่มีความพร้อมที่สุดในการรับมือกับการเลือกตั้งครั้งนี้

โดยเฉพาะงานด้านสื่อสารกับสังคม ที่ ”นิพนธ์” เป็นผู้กำกับดูแล ที่มีการนำเอาจุดขายที่เป็นจุดเด่นของ ”ประชาธิปัตย์” ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันออกมาให้ประชาชนรุ่นใหม่ได้รับรู้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของพรรคประชาธิปัตย์และของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หัวหน้าพรรค ที่เคยสร้างผลงานในกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข


รวมถึงผลงานในปัจจุบันที่โด่ดเด่นคือเรื่อง ”ประกันรายได้ของเกษตรกร" และเรื่องของความโปร่งใส ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นในกระทรวงที่ “ประชาธิปัตย์” รับผิดชอบ

ในขณะที่ ”พรรคการเมืองเฉพาะกิจ” ที่ทำเป็นแค่ ”กวาดต้อน” เอา ส.ส.ของพรรคอื่น และสร้างพันธมิตรกับบ้านใหญ่ไม่กี่หลังในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อบดขยี้พรรคประชาธิปัตย์

วันนี้ พรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมากำลังกลายเป็นพรรคที่ ”ไปไหนมาสามวาสองศอก” พลังดูดไม่ขลังอย่างที่คิด จำนวน ส.ส.จากพรรคต่างๆ ที่จะเข้ามาสังกัดพรรคน้อยกว่าที่คาดหมาย มีปัญหาภายในที่ยังสะสางไม่ลงตัว

และที่สำคัญ นายทุน เจ้าของถุงเงินเริ่มมีอาการลังเล เพราะมองเห็นอนาคตว่า ”พรรคเฉพาะกิจ” ที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อส่งให้ ”บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 3 ไม่ได้สดใสกาววาวอย่างที่คิด

ถ้าพรุ่งนี้ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนด พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ”จุรินทร์” เป็นหัวหน้าพรรค และมี ”นิพนธ์” เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง จะเป็นพรรคที่มีความพร้อมที่สุดในสนามเลือกตั้งของภาคใต้ ที่นอกจากจะรักษาที่นั่งเดิมไว้ได้แล้ว ยังจะเพิ่มจำนวน ส.ส.ในทุกพื้นที่ หลายจังหวัดจะยกทีม และหลายจังหวัดจะได้ ส.ส.กลับคืน

แม้แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ ”นิพนธ์” เป็นผู้รับผิดชอบ แม้จะเสีย ”อัลวาร์ สาแหละ” ส.ส.ของพรรคเพียงคนเดียวที่มีอยู่ แต่” ประชาธิปัตย์” จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 3 ที่นั่ง

ส่วนพรรคเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมา โดยมีเป้าหมายบดขยี้ เพื่อแย่งชิง ส.ส.เขตจาก ”ประชาธิปัตย์” ในภาคใต้ ถ้ามีการยุบสภาและเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้ ก็จะเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจ ที่พ่ายแพ้และตกม้าตาย ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าสู่สนามรบด้วยซ้ำ

เพราะเหตุนี้แหละ ที่ทำให้ ”บิ๊กตู่” มีอาการลังเล ไม่ตอบคำถามของนักข่าวเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองว่าจะอยู่พรรคไหน

และเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ ”บิ๊กตู่” ต้องลากยาวรัฐบาลชุดนี้ให้อยู่ครบเทอม โดยไม่กล้าที่จะยุบสภาก่อน เพราะหากยุบสภาโดยที่พรรคเฉพาะกิจ ที่ประกาศหนุน ”ลุงตู่”ยังไม่มีความพร้อมในการเข้าสู่สนามรบ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจจะพาให้ ”ลุงตู่” ต้องตกม้าตายไปด้วยนั่นเอง



ไม่มีความคิดเห็น: