“หมอสุภัทร” เตรียมฟ้องศาลปกครอง-ม.157 เหตุถูกย้ายจาก ‘จะนะ’ ไปสะบ้าย้อย






ภายในประเทศ: “หมอสุภัทร” โพสต์ความในใจหลังถูกย้ายจาก “จะนะ” ไป รพ.สะบ้าย้อย ขู่จะฟ้องศาลปกครอง-ป.อาญา มาตรา 157 ชี้พิรุธปลัดกระทรวงไม่กล้าลงนามเอง กลับให้ผู้ตรวจเป็นคนจัดการ ชาวเน็ตแห่ให้กำลังใจ หนุนให้ฟ้อง ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งแนะ “ผอ.” เป็นตำแหน่งทางบริหาร ย้ายได้ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่กระทบตำแหน่งวิชาการ

27 มกราคม 2565 - จากกรณีที่ นพ.สวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิบัติราชการแทนปลัด สธ. ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 125/2566 ย้าย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ไปเป็น ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.นั้น

นพ.สุภัทร ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก เรื่อง "ความในใจเมื่อผมโดนย้าย"

https://www.facebook.com/supathasuwannakit/posts/570318538468023

ระบุว่า รับราชการมาตั้งแต่ปี 2538 มาเป็น ผอ.โรงพยาบาลจะนะตั้งแต่ปี 2542 มีแพทย์เพียง 3 คนอยู่หลายปี สนุกกับงาน เป็นทั้ง ผอ.และหมอ ตรวจคนไข้ อยู่เวร ออกชุมชน สอนนักศึกษา บริหารโรงพยาบาล ร่วมกิจกรรมชุมชน ทั้งการคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรม หรือกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย ผูกพันกลายเป็นส่วนหนึ่งของจะนะ อายุราชการที่เหลืออีก 7 ปีก็คิดจะเกษียณที่จะนะ

“สธ.ได้วางระบบไว้ว่า ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนและแพทย์ขึ้นได้ถึงระดับวิชาการเชี่ยวชาญ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งบริหารจึงไม่มีวาระที่ต้องย้าย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนจำนวนมากรวมทั้งผมจึงเลือกทำงานจนเกษียณโดยไม่ขอย้าย ทำให้งานสาธารณสุขในชนบทเกาะติดพื้นที่พัฒนาได้ต่อเนื่อง”

นพ.สุภัทร ระบุว่า “ปี 2563 ผมรับภารกิจเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทอีกตำแหน่งหนึ่ง ทำหน้าที่ทักท้วงเสนอแนะเรื่องราวใน สธ. อาทิ การไม่เห็นด้วยต่อนโยบายกัญชาเสรี การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การบริหารจัดการโควิด-19 และวัคซีน การไม่ลงนามงบฯ ส่งเสริมป้องกันปี 2566 หรือการซื้อ ATK ที่มีข้อสงสัย สิ่งเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดต่อใครบางคน จนนำมาสู่คำสั่งให้ย้ายผมให้ได้ก่อนยุบสภา”

“จริงๆ การจะย้ายผมไม่ยากเลย เพียงแค่ปลัดกระทรวงสั่งย้ายตามอำนาจที่ท่านมี (แต่ต้องมีเหตุมีผลด้วยนะ) แต่เพราะตำแหน่งผมเป็นตำแหน่งวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ไม่มีเกณฑ์ที่ต้องถูกย้ายตามวาระ เหตุความผิดที่ต้องถูกย้ายก็ไม่มี ผมเองก็ไม่ได้สมัครใจย้าย ปลัดกระทรวงจึงไม่กล้าเซ็นเอง เพราะกลัวผิดกฎหมายอาญา ม. 157 ก็เลยต้องมีการสั่งการให้ผู้ตรวจราชการเป็นคนเซ็น ใครลงนามจะได้เลื่อนชั้นรวดเร็ว เรื่องราวจึงโกลาหล”

“7 ธันวาคม 2565 สธ.ลงนามคำสั่งโยกย้ายผู้ตรวจราชการทั่วประเทศ ผู้ตรวจสวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ ได้ขึ้นที่เขต 4 (สระบุรี) ส่วนเขต 12 ยังเป็นผู้ตรวจสุเทพ เพชรมาก ท่านเดิม ช่วงนั้นมีข่าวผมจะถูกย้ายอีก ทราบว่าผู้ตรวจสุเทพไม่ยอมลงนาม ด้วยเห็นว่าไม่มีเหตุให้สั่งย้าย ผลก็คือ วันที่ 11 มกราคม 2566 ปลัดกระทรวงมีคำสั่งย้ายผู้ตรวจสุเทพไปอยู่เขตอื่น เอาผู้ตรวจสวัสดิ์ อภิวัจนีวงค์ จากเขต 4 มาเขต 12 ทั้งๆที่เพิ่งไปเขต 4 ได้เดือนเดียว คนพร้อมลงนามมีแล้ว”



“แต่ระเบียบการให้อำนาจผู้ตรวจสั่งย้ายผู้อำนวยการเชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ชัดเจน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงลงนามในหนังสือหลักเกณฑ์ใหม่ลงวันที่ 23 มกราคม 2566 ให้ผู้ตรวจมีอำนาจย้ายวิชาการเชี่ยวชาญได้ หนังสือยังไม่ถึงหน่วยงานเลย วันที่ 25 ถัดไปสองวันก็มีการประชุมคณะกรรมการย่อยพิจารณาย้ายผมและลงนามในคำสั่งย้ายผมไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อยทันที”

“วันที่ 26 มกราคม 2566 คำสั่งย้ายผมหลุดออกมาทางสื่อ โดยที่ผมไม่ได้เห็นก่อน จะย้าย ผอ.รพ.บ้านนอกสักคน ต้องทำพิรุธเป็นขั้นเป็นตอนเพียงนี้เชียวหรือ ซึ่งเป็นผลดีมากกับผมในการฟ้องศาลปกครองและฟ้องผิดกฎหมายอาญา ม. 157”

“วันนี้ 27 มกราคม 2566 คำสั่งย้ายที่เป็นทางการยังมาไม่ถึงผม ส่วนใครเป็นคนบงการสั่งย้ายผม คิดเอาเองนะครับ”

ในโพสต์ดังกล่าวได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่เข้ามาให้กำลังใจและสนับสนุนให้ นพ.สุภัทรฟ้องศาลปกครองและฟ้องเอาผิดผู้ที่สั่งย้ายในความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา



ได้มีผู้เข้ามาให้ข้อมูลในอีกแง่มุม โดยระบุว่า ตำแหน่งวิชาการระดับเชี่ยวชาญเป็นตำแหน่งการเลื่อนขั้นความก้าวหน้าในสายอาชีพ โดยทำผลงานทางวิชาการเพื่อประเมินเลื่อนในตำแหน่ง(ที่นั่งทับอยู่)ในลักษณะที่สูงขึ้น ซึ่งสาระสำคัญของการเลื่อนตำแหน่งวิชาการนี้มีอยู่ว่าในองค์กรหนึ่งๆ จะมีผู้บริหารได้เพียงจำกัด ขณะที่ยังมีบุคลากรอื่น ซึ่งอาวุโสแต่ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหารไม่ได้ บางรายต้องออกจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ

อย่างไรก็ตาม การพิจารณากำหนดว่าตำแหน่งในองค์กรนั้นทำประเมินผลงานวิชาการเลื่อนได้หรือไม่นั้นจะต้องดูว่าองค์กรนั้นมีตำแหน่งวิชาการรองรับมากน้อยแค่ไหน เพราะบางแห่งทำผลงานวิชาการเลื่อนไหลไม่เท่ากันขึ้นอยู่ว่าความจำเป็นขององค์นั้นมีตำแหน่งตามภารกิจและงบประมาณที่ได้รับจัดสรรด้วย

“ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการเป็นตำแหน่งทางบริหาร ซึ่งควบคุม ดูแล กำกับงานในองค์กรนั้น ต่างจากตำแหน่งทางวิชาการและติดตัวกับผู้นั้น อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งผู้บริหารกับนักวิชาการระดับเชี่ยวชาญอาจจะเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือต่างบุคคลก็ได้ จึงเห็นว่า การที่ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งย้ายครั้งนี้กระทำได้แต่เฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการ ซึ่งเป็นตำแหน่งทางบริหารเท่านั้น อันเป็นการใช้วิธีการบริหารบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หาได้ไปกระทบตำแหน่งวิชาการที่ผู้นั้นมีอยู่ติดตัวแต่เดิมไม่”

“จึงขอเรียนคุณหมอทราบในประการที่อาจนำไปประกอบการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองต่อผู้บังคับบัญชาที่สูงอีกหนึ่งระดับตามระเบียบการอุทธรณ์ และศาลปกครองในกาลที่เหมาะสมต่อไป”





0 ความคิดเห็น