สนามเลือกตั้งภาคใต้ตอนล่าง “ประชาธิปัตย์” สู้กับ “ภูมิใจไทย” ส่วน “พี่ป้อม-น้องตู่” ไม่ปังอย่างที่คิด แบ่ง ส.ส.เก่า คนละครึ่ง







รายงานพิเศษ โดย.. ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล

หลังจาก "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดตัวอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมสังกัดพรรค "รวมไทยสร้างชาติ" โดยเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งสมัยหน้า นับเป็นการจบความอึมครึมทางการเมือง แม้จะยังไม่มีการยุบสภาหรือยังไม่ถึงวันที่จะหมดวาระการเป็นรัฐบาล ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 แต่พรรคการเมืองทุกพรรคต่างก็เดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว

จึงเป็นเรื่องปกติ ที่สภาผู้แทนฯ แม้จะยังมีการประชุมตามปกติ แต่ก็กลายเป็น "สภาเป็ดง่อย" เพราะล่มแล้วล่มอีก เนื่องจาก ส.ส.ต่างลงพื้นที่ เพื่อทำกิจกรรมเตรียมการเลือกตั้ง

ในส่วนของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มี ส.ส.ทั้งหมด 29 ที่นั่ง โดยเพิ่มจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จำนวน 3 ที่นั่ง ที่ จ.ตรัง จ.สงขลา และ จ.นราธิวาส จังหวัดละ 1 เขต ส่วนจังหวัดที่เหลือยังคงเขตเลือกตั้งเท่าเดิม

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา "พรรคประชาธิปัตย์" เสียรางวัดครั้งใหญ่ เพราะต้องเสียที่นั่งให้พรรคน้องใหม่ ที่ถูกมองว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจอย่าง "พรรคพลังประชารัฐ" ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็น "นั่งร้าน" ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากบุคคลภายนอกตามรัฐธรรมนูญ

"ประชาธิปัตย์" ตกต่ำสุดขีดในการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะต้องเสียที่นั่งใน จ.สงขลา ที่ประชาธิปัตย์เคยยกจังหวัดติดต่อกันหลายสมัย ให้พลังประชารัฐ ที่มี พ.อ.พิเศษ สุชาติ จันทรโชติกุล เป็น ผอ.เลือกตั้ง ถึง 4 ที่นั่ง และยังเสียให้ "พรรคภูมิใจไทย" อีก 1 ที่นั่ง โดยประชาธิปัตย์เหลือ ส.ส.ใน จ.สงขลาเพียง 3 เขต จากทั้งหมด 8 เขตการเลือกตั้ง

พ่ายแพ้อย่างหมดรูปใน จ.สตูล ที่มี ส.ส.เพียง 2 เขต ให้ "ภูมิใจไทย" แบบยกจังหวัด เสียที่นั่งอย่างเหลือเชื่อใน จ.ตรังให้ผู้สมัครของพลังประชารัฐอีก 1 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเขตที่ "ชวน หลีกภัย" เคยเป็น ส.ส.มาก่อน

ที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับประชาธิปัตย์คือ การพ่ายแพ้ใน จ.พัทลุงให้แก่ภูมิใจไทย เสียที่นั่งในถึง 2 เขต คือเขต 1 และเขต 3 โดย "นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ" รองหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรี และ ส.ส. 7 สมัย ที่เคยมีแฟนคลับตะโกนหน้าเวทีปราศรัยว่า "แม้ประชาธิปัตย์ส่งเสาไฟฟ้า เราก็จะเลือก" กลายเป็น ส.ส.สอบตก พร้อมกับ "สุพัชรี ธรรมเพชร" ทายาทบ้านใหญ่ของพัทลุง

นอกจากนั้น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่มี 11 เขตเลือกตั้งนั้น ประชาธิปัตย์ยังถูกเจาะยาง โดยพรรคการเมืองน้องใหม่ของ "เทพเทือก" สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่กวาดต้อนเอา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่ในสังกัด และพรรคเกิดใหม่อย่างประชาชาติ ที่มี "วันมูหะหมัดนอร์ มะทา" เป็นหัวหน้าพรรค



ผลการเลือกตั้งปี 2562 ประชาชาติได้ 6 ที่นั่ง พลังประชารัฐได้ไป 3 ที่นั่ง ภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง ส่วนประชาธิปัตย์ได้เพียง 1 ที่นั่ง คือ ในเขต 1 จ.ปัตตานี คือ "อันวาร์ สาและ" โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ทิ้ง "อันวาร์" ไม่ส่งลงสมัคร ทำให้ "อันวาร์" ต้องหันไปซบพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในการ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ที่มี "นิพนธ์ บุญญามณี" รองหัวหน้าพรรค เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ใช้นโยบายส่ง ส.ส.เก่าและผู้สมัครหน้าใหม่ลงชิงชัยกับทั้งประชาชาติ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งคาดว่า ประชาธิปัตย์มีโอกาสที่จะได้ ส.ส.ในพื้นที่นี้มากกว่า 2 ที่นั่งเป็นอย่างน้อย

“ประชาธิปัตย์” ได้ถอดบทเรียนความพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งครั้งก่อน ได้เตรียมความพร้อมเพื่อที่ แก้มือในการช่วงชิงที่นั่ง ส.ส.กลับมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่ง่ายนัก เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองใหญ่ อย่างภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ต่างมีหมุดหมายในการแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.ในภาคใต้ เพราะยังเชื่อว่า “ประชาธิปัตย์” ยังไม่มีกระแสและยังขาดกระสุน ซึ่งกูรูทางการเมืองต่างเชื่อกันว่า เลือกตั้งครั้งนี้จะมีการใช้เงินเป็น “กระสุน” จำนวนมหาศาล ซึ่งพรรคการเมืองเองก็มีการประเมินว่าการจะได้ ส.ส. 1 เขต ต้องให้ยุทธปัจจัย 30, 50 และ 70

เมื่อมองยุทธวิธีของพรรคต่างๆ ในการให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ในภาคใต้นั้น จะพบว่า ในส่วนของ “รวมไทยสร้างชาติ” ใช้วิธีการตกปลาในบ่อเพื่อน โดยใช้พลังดูด ส.ส.จากประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐไปสังกัดพรรคตนเอง และส่งลงสมัคร เพราะเชื่อว่า ส.ส.เก่าของทั้งสองพรรคที่เป็นดาวฤกษ์ เมื่อบวกกับความนิยมในตัว “บิ๊กตู่” ของคนในภาคใต้ จะทำให้ได้ ส.ส.ในภาคใต้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

แต่สิ่งที่ “รวมไทยสร้างชาติ” อาจจะไม่ได้วิเคราะห์คือ ส.ส.ของประชาธิปัตย์ นอกจากมีคะแนนที่เป็นของตนเองแล้วยังมีคะแนนของพรรคที่เป็นลมใต้ปีกคอยหนุนให้ได้รับเลือกตั้ง การย้ายพรรค คะแนนของพรรคจึงไม่ได้ติดตามตัว ส.ส.ไปด้วย ดังนั้น โอกาสที่ ส.ส.ที่รวมไทยสร้างชาติดึงดูดไปจากประชาธิปัตย์จึงอาจจะสอบตกครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เคยประสบพบเจอมาแล้วในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ ส.ส.ซึ่งดึงดูดไปจากประชาธิปัตย์ กลายเป็น ส.ส.สอบตกเกือบหมด

และที่สำคัญคะแนนนิยมของคนภาคใต้ ที่มีต่อ “บิ๊กตู่” แม้ผลโพล จะมากกว่าหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ก็ไม่มาก และไม่ป็อปปูล่าร์ เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

ด้าน “พลังประชารัฐ” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส. 14 คน ถูกน้องรักอย่าง “บิ๊กตู่” แห่งรวมไทยสร้างชาติ ทำการแบ่งครึ่ง จะหวังว่าที่ผู้สมัครใหม่ ส่วนใหญ่ก็โนเนม รวมทั้ง “บิ๊กป้อม” เองเป็นหัวหน้าพรรคที่ไม่มีกระแสความนิยมจากประชาชนในภาคใต้เหมือน “บิ๊กตู่” ดังนั้นในการเลือกตั้งในปี 2566 ทั้ง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” จึงอาจจะทำได้แค่นำ ส.ส.กลับเข้าสภาฯ รวมกันแล้วทั้ง 2 พรรคน้อยกว่าเดิมที่มีอยู่ 14 คน

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คู่แข่งที่แท้จริงของ “ประชาธิปัตย์” ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งตอนบนและตอนล่าง ยังเป็น “ภูมิใจไทย” พรรคการเมืองที่พูดน้อยแต่ต่อยหนัก ไม่สนกระแส แต่มากด้วย “กระสุน” แม้จะมีปัญหาเรื่อง “กัญชาเสรี” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สุดท้าย “ยุทธปัจจัย” ที่มีอยู่ จำนวนมากจะสลายปัญหาที่เกิดขึ้นได้

สำหรับ “ประชาธิปัตย์” แม้จะพบกับปัญหาเลือดไหลออกในภาคใต้ตอนบนจำนวนหนึ่ง แต่ในภาคใต้ตอนล่างไม่มีปัญหาดังกล่าว มีเพียง “อันวาร์ สาและ” ส.ส.ปัตตานี เขต 1 ที่พรรคมีมติไม่ส่งลงสมัครจึงต้องหาพรรคใหม่สังกัด ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาธิปัตย์อาจจะได้ ส.ส.แบบยกจังหวัดใน จ.ตรัง



ส่วนใน จ.สงขลา ประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 3 คนเป็น 7 คน หรือถ้ามีกลยุทธ์ที่เป็นหมัดเด็ด โอกาสที่จะยกจังหวัด เป็นการกู้หน้าได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับ เขต 1 จ.สตูล และเขต 1 เขต 3 จ.พัทลุง ซึ่งเป็นการต่อสู้กับ “ภูมิใจไทย” โอกาสของประชาธิปัตย์ก็ยังมีลุ้นในการเอาชนะคู่แข่ง ที่แม่ทัพหญิงอย่าง “เจ๊เปี๊ยะ” นาที รัชกิจประการ ของภูมิใจไทย กำกับดูแล

สรุป “ประชาธิปัตย์” ภายใต้การนำของ “นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้ง กับ “เดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และ ส.ส.สงขลา เขต 5 จะผนึกกำลังในการไปให้ถึงจุดหมาย นั่นคือได้ ส.ส.เขตใน 14 จังหวัดภาคใต้ 35 เขตจากทั้งหมด 58 เขตเลือกตั้ง มีความ เป็นไปได้ค่อนข้างชัวร์

ส่วน “รวมไทยสร้างชาติ” ที่เน้นการขาย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อาจไม่ปังอย่างที่คิด และพรรคที่แป้ก คือ “พลังประชารัฐ” ของ “ลุงป้อม” สมรภูมิของ 7 จังหวัดภาคใต้ ยังเป็นการแย่งชิง ที่ดุเดือด ระหว่าง “ประชาธิปัตย์” กับ “ภูมิใจไทย” นั่นเอง




ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]