ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ศอ.บต.พร้อมดันโครงการทุนเรียนแพทย์จากคิวบาสู่เด็กชายแดนใต้ 1,000 คนเข้าที่ประชุม กพต.สัญจร






ชายแดนใต้: ศอ.บต.เดินหน้าพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นขับเคลื่อน มิติวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์และด้านภาษาแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ในปี 67 พร้อมเตรียมดันการจัดสรรทุนการเรียนแพทย์จากสาธารณรัฐคิวบาสู่เด็กชายแดนใต้เข้าที่ประชุม กพต. 27 กุมภาพันธ์นี้

2 กุมภาพันธ์ 2566 - นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูลนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) สัญจร วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ที่จังหวัดสตูล ที่จะถึงนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการ เพื่อดำเนินการในกระบวนการขั้นต่อไป โดยมหาวิทยาลัยสตูลจะเป็นมหาวิทยาลัยรูปแบบพิเศษที่จัดการเรียนการสอนตามความสนใจและความสอดคล้องกับงานอาชีพของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดสตูล และใกล้เคียงในรูปแบบของตลาดวิชา

“นอกจากนี้ ยังจะมีเรื่องการผลักดันโครงการจัดสรรทุนการเรียนแพทย์จากสาธารณรัฐคิวบาให้แก่รัฐบาลไทยไปสู่เด็กนักเรียนทั้งในโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประมาณ 1,000 คน ให้ไปเรียนแพทย์ที่สาธารณรัฐคิวบา และกลับมาบรรจุที่โรงพยาบาลชุมชนของตัวเอง” นายชนธัญกล่าว

นายชนธัญกล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม ได้เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนและร่วมให้ข้อเสนอแนะ ในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้องเพื่อสืบสานและรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2565-2570 ตามมติที่ประชุม กพต.และข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธาน กพต. ตามที่เครือข่ายสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนามีหนังสือถึงประธาน กพต. เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการจัดการศึกษาตามวิถีชีวิตและอัตลักษณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนจากสำนักงานการศึกษาเอกชนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 80 คนเข้าร่วมการประชุม

นายชนธัญกล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นโอกาสดีในหลายรอบสิบปีที่ผ่านมาที่ ศอ.บต.ได้มีโอกาสปรึกษาหารือกับทางหน่วยงานด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา สถาบันการศึกษาปอเนาะ โรงเรียนตาดีกาและมหาวิทยาลัย ที่เป็นเบ้าหลอมสำคัญอย่างยิ่งของนักเรียนและนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าความยิ่งใหญ่ของการสร้างคน ทั้งทางหลักการทางศาสนาและการงานอาชีพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความสำเร็จของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา สถาบันปอเนาะและโรงเรียนตาดีกา รวมทั้งมหาวิทยาลัย ในพื้นที่



นายชนธัญกล่าวว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน กอปรกับข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีที่ให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ เพราะเห็นถึงศักยภาพและความสำคัญของผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนทุกรูปแบบในพื้นที่จึงมีความจำเป็นที่ ศอ.บต.ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 9 (12) กำหนดให้ ศอ.บต.ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ให้มีความเจริญงอกงามมากยิ่งขึ้น และวางแผนการพัฒนาที่สอดคล้องกับหลักการในอารยะของพระคัมภีร์อัลกุรอานที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใด เวลาใดและสถานที่ใด ก็เรียนรู้ เพื่อความเจริญงอกงามแห่งชีวิตได้

รองเลขาธิการ ศอ.บต.กล่าวว่า ได้เน้นย้ำในที่ประชุมในเรื่องของแผนการศึกษาในปีงบประมาณ 2567 ที่จะถึงนี้ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาในเรื่อง.การแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องทางการศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เพื่อเสริมสมรรถนะของโรงเรียนรัฐและเอกชนสอนศาสนา ศอ.บต.ผลักดัน ผ่าน กพต. ให้จัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการที่ทางกระทรวงศึกษาธิการจะนำเสนอเข้าสู่ ครม. โดยดำเนินการไปพร้อมกับการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมทั้ง การจัดค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน ควบคู่ไปกับการทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความรู้ในการใช้ภาษาได้อย่างหลากหลายนอกเหนือจากภาษาไทยและภาษามลายู

“ศอ.บต.ได้มีการจัดตั้งสถาบันภาษาเพื่อรองรับการส่งเสริมให้คนในพื้นที่ใช้ภาษาได้อย่างหลากหลายและเป็นสะพานเชื่อมสู่ต่างประเทศ โดยจัดตั้งทั้งในส่วนกลางของ ศอ.บต.และมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกแห่ง ทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนานักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปในระยะต่อไป และปี 2566 นี้ จะมีการวางแผนการขยายห้องเรียนภาษาและการจัดส่งครูสอนภาษาไปยังโรงเรียนให้ครอบคลุมทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย” นายชนธัญกล่าว



ไม่มีความคิดเห็น: