การพัฒนาชายแดนใต้ให้ได้ผล 'คลองไทย แลนด์บริดจ์ และนิคมอุตสาหกรรมจะนะ' พรรคเพื่อไทยควรทำอะไรก่อน






บทความ โดย.. เมือง ไม้ขม


แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้วกว่า 1 เดือน ก็จริงอยู่ แต่หลังจากเข้ามาบริหารประเทศของ "เศรษฐา ทวีสิน" ก็เกิดอาการพระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก เพราะหลังจากที่มีการเข็นนโยบายฟรีวีซ่า เพื่อเป็นการเอาใจนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ก็มีเหตุการณ์กราดยิง โดยมือปืน ที่เป็นเด็กอายุ 14 ปี ที่ห้างพารากอน ทำให้นักท่องเที่ยวจีน และชาวเมียนมาเสียชีวิต มีผู้บาดเจ็บหลายคน เป็นเหตุให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนวูบลงในทันที

และหลังจากนั้นไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์สงครามระหว่าง “อิสราเอล” กับ "กลุ่มฮามาส" ที่อยู่ใน “ปาเลสไตน์” ที่ส่งผลกระทบกับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอลกว่า 30,000 คน และ หลายพันคนเป็นคนงานในเขตใกล้กับฉนวนกาซา ที่เป็นพื้นที่การทำสงคราม ทำให้แรงงานไทยมีทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับเป็นตัวประกัน ในจำนวนที่มากกว่าประชากรของทุกประเทศ ที่ทำงานอยู่ในอิสราเอล

เรื่องแรงงานไทยในอิสราเอลจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ กลายเป็น “ขวากหนาม” หรือ "กับดัก” ของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี "เศรษฐา ทวีสิน” ต้องทิ้งทุกเรื่อง เพื่อทำการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ปัญหาแรงงานไทย ในการอพยพกลับประเทศโดยเร็ว

และทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การเดินเร็วเรื่องการฟื้นเศรษฐกิจของ "เศรษฐา ทวีสิน” เกิดอาการชะงักงัน อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ “เศรษฐา ทวีสิน” เดินเร็วด้วยการไปเยือนประเทศต่างๆ เช่น มหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา เพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เขตเศรษฐกิจอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ บูรไน มาเลเซีย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ โดยที่นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนในการขายไอเดียและชวนเชิญให้นักลงทุนจากประเทศเหล่านั้นมาลงทุนในประเทศไทย




ในขณะที่นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งเป็นนโยบายที่ “พรรคเพื่อไทย” ใช้ในการหาเสียงในการเลือกตั้ง ซึ่ง "เพื่อไทย” ผลักดันอย่างเต็มที่ โดยเชื่อมั่นว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะยัดใส่มือคนไทยที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของตะกร้าเงินทั้งประเทศ และ จะเป็น "ยาขนานเอก” ในการฟื้นคืนเศรษฐกิจของประเทศ ก็ถูกต่อต้านจากผู้ที่เห็นต่าง ทั้งจากนักวิชาการ อดีตผู้ว่าการธนาคารชาติ และใครต่อใคร ที่เป็น "กูรู” ทางการเงิน การคลัง และเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเกรงว่า จะเป็นการเพิ่มภาระหนี้สิน ที่อาจจะนำประเทศไปสู่ความเสียหายครั้งใหญ่

และแม้ว่า อย่างไรเสีย "เพื่อไทย” และ "เศรษฐา ทวีสิน” จะประกาศชัดว่า เรื่องเงินดิจิทัลจะไม่มีการถอยหลังอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมีเสียงคัดค้านเซ็งแซ่แค่ไหน เพราะ "เพื่อไทย” มั่นใจว่า การแจกเงิน 10,000 บาท พร้อมทั้งการขีดวงให้ใช้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 6 เดือน เป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะได้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างเต็มรูปแบบในปี 2567 อย่างแน่นอน

กลับมาดูในส่วนของ "ภาคใต้" ที่นโยบายฟรีวีซ่ากำลังจะเริ่มต้นไปด้วยดี เพราะภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ตอนบน เป็นเมืองท่องเที่ยว ที่หลังจากเปิดฟรีวีซ่า การท่องเที่ยวก็คึกคัก แต่หลังเหตุกราดยิงเกิดขึ้น ก็ได้รับผลกระทบในทันที่เช่นกัน และหลังเกิด สงคราม “อิสราเอล-ฮามาส” ก็เชื่อได้ว่า สถานการณ์ของการท่องเที่ยวจะได้รับผลประทบด้วย เนื่องจากความกังวลในความปลอดภัย และต้นทุนของกิจการท่องเที่ยว ที่เพิ่มขึ้นจากเรื่องของน้ำมัน ที่ราคาผันผวนตามสภาวะของสงคราม

ภาคใต้ นอกจากเรื่องการท่องเที่ยวที่สร้างเม็ดเงิน สร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่คนในพื้นที่แล้ว ในหลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่สามารถที่ผลักดันโครงการใหญ่ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจที่เรียกว่า "เมกะโปรเจกต์” ได้เลยแม้แต่โครงการเดียว โดยเฉพาะเรื่องของ “เซาท์เทิร์นซีบอร์ด” ที่เป็นการคาดหวังว่าจะเป็น “เมกะโปรเจ็กต์” ที่จะพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

เพราะทุกโครงการที่เป็นการพัฒนาภาคใต้ จะถูกต่อต้านโดยองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ “เอ็นจีโอ” เช่น การขุดคลองไทย ที่มีการขับเคลื่อนจากนักการเมือง นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และนักลงทุน ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ที่มีการขับเคลื่อนกันมาเกือบ 10 ปี ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เพราะถูกต่อต้านโดยเอ็นจีโอ

โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต หรือ “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่นำเสนอโดย ศอ.บต.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเห็นชอบ ก็ยังคาราคาซังไปไม่ถึงฝั่ง เพราะเอ็นจีโอขัดขวางทุกวิถีทาง ตั้งแต่ล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นจนถึงปิดทางเข้าทำเนียบ จน “รัฐบาลลุงตู่” ต้องให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์เป็นผู้นับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจนถึงเรื่องของกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นความ “สูญเปล่า” ที่ผ่านมาแล้ว 5 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และไม่ยังมองไม่เห็นว่า สุดท้ายแล้ว “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” จะได้แจ้งเกิดหรือไม่




และสุดท้ายโครงการ “แลนด์บริดจ์” ที่เป็นเมกะโปรเจกต์” ที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาท เพื่อเชื่อมทะเลอันดามัน ฝั่ง จ.ระนอง กับทะเลอ่าวไทย ฝั่ง จ.ชุมพร ระยะทาง 90 กว่ากิโลเมตร เป็นการก่อสร้าง “สะพานบก” ที่ไม่ต้องขุดคลองตัดแผ่นดิน เพื่อเชื่อมฝั่งทะเลทั้งสองด้านอย่างโครงการคลองไทย ที่ต้องขุดคลองเพื่อผ่าแผ่นดินออกจากกัน

แต่ “แลนด์บริดจ์” ก็ถูกต่อต้านโดย “เอ็นจีโอ” ตั้งแต่วันแรกที่ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศว่า จะเดินหน้าผลักดันโครงการ “แลนด์บริดจ์” เพื่อการพัฒนาภาคใต้ และสำหรับโครงการนี้ก็ไม่ง่าย ทั้งในแง่ของการถูกต่อต้านจากมวลชน ที่อยู่กับฝ่ายเอ็นจีโอ และในเรื่องของการหากลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามาร่วมทุน เพราะเงินทุน “หนึ่งล้านล้านบาท” เป็นเม็ดเงินที่มหาศาลมาก รวมทั้ง ยังต้องศึกษาโครงการมากมาย ทั้งเรื่องผลกระทบต่างๆ และเรื่องความคุ้มทุนจากกลุ่มทุน

แต่ไม่ว่าอย่างไร ในการพัฒนาภาคใต้จะต้องมีเมกะโปรเจกต์หรือการลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้น หากรัฐบาลต้องการให้ภาคใต้ได้รับการพัฒนา เพราะลำพังการท่องเที่ยวอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่ของภาคใต้ตอนล่าง ที่ไม่มีท่าเรือน้ำลึก ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าได้จริง ทำให้การขนส่งสินค้ายังต้องเดินทางโดยรถบรรทุก เพื่อขนตู้คอนเทนเนอร์ไปยังท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย ที่เป็นเช่นนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นการเพิ่มต้นทุน ที่ทำให้ แข่งขันไม่ได้ และไม่จูงใจให้กลุ่มทุนมาลงทุนในภาคใต้

ดังนั้น ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องของการขุดคลองไทย หรือก่อนที่โครงการ “แลนด์บริดจ์” จะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าระหว่างเกิดกับไม่เกิดยังห้าสิบ-ห้าสิบ และหากเกิดจริงก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปีเป็นอย่างน้อย และ “แลนด์บริดจ์” ก็อาจจะไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาของภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นได้

ดังนั้น ฝ่ายเศรษฐกิจของ “พรรคเพื่อไทย” และของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี จึงควรต้องพิจารณาโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “นิคมอุตสาหกรรมจะนะ” ให้เป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือภาคใต้ตอนล่าง เพราะเป็น โครงการที่หากผ่านเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็จะขับเคลื่อนได้ทันที เนื่องจากเป็นโครงการที่ลงทุนโดยเอกชนทั้งหมด รัฐลงทุนเพียงเรื่อง “สาธารณูประโยชน์” เท่านั้น

รวมทั้ง ถ้าดูจำนวนผู้ที่กลัวว่าจะได้รับผลกระทบก็มีเพียง “ประมงพื้นบ้าน” จำนวนไม่มากนัก ซึ่งหากมีอาชีพที่ดีกว่ารองรับหรือหากเกิดผลกระทบจากโครงการ และมีแผนการเยียวยาที่พอใจก็น่าจะทำความเข้าใจกันได้

และโครงการนี้ ถ้ารัฐบาลเร่งผลักดันก็จะเป็นการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือภาคใต้ตอนล่าง ที่ได้ผลในการพัฒนา เพราะเป็นโครงการที่ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ศอ.บต.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( กพต.) ได้ศึกษาถึงผลดีผลเสียครบถ้วนแล้วนั่นเอง

และโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะจะเป็นโครงการที่สำเร็จได้รวดเร็วกว่าแลนด์บริดจ์ และไม่เป็นเพียงความฝันเหมือนเรื่องของคลองไทยอย่างแน่นอน


ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]