เหตุผลที่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” สอบตกเรื่องการดับไฟใต้






บทความ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก

เข้าสู่เดือนที่ 2 ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน หรือ “รัฐบาลนิดหนึ่ง” ที่มีสไตล์การบริหารประเทศแบบ “เดินเร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว” และที่สำคัญ “ปากเร็ว” ด้วยนะ

หลายเรื่องสอบผ่าน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ ทั้งเพื่อนบ้านและมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย แม้ยังไม่มีอะไรเป็นดอกเป็นผล แต่ก็เกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเวทีโลก ซึ่งถือว่าทำได้ดีกว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปหลายขุมทีเดียว

แต่ใน “ด้านความมั่นคง” กลับเห็นว่า รัฐบาลนิดหนึ่ง และโดยเฉพาะตัวตนของนายเศรษฐา ทวีสิน ยังต้องนับว่า “สอบตก” ด้วยเหตุผลหลักคือ ยังมีความไม่เข้าใจอย่างเพียงพอ

ประเด็นแรก รัฐบาลนิดหนึ่งไม่มี “รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง” เพื่อกำกับดูแลและสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี ใช่เลย นายกฯ นั่งเป็น “ผอ.รมน.” ก็จริง แต่นายกฯ ทำหน้าที่คนเดียวแบบครอบจักรวาลไม่ได้หรอก ต้องมีรองนายกฯ ที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงโดยตรง อันจะช่วยทำให้ประเทศชาติไปรอด

ในวันนี้ ถ้าดูตามบริบทจะเห็นว่า งานด้านความมั่นคงอยู่อย่าง “กระจัดกระจาย” บางส่วนอยู่ที่รองนายกฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน บางส่วนอยู่ที่เลขานายกฯ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และบางส่วนก็อยู่ในมือของรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ภูมิธรรม เวชยชัย

เวลานี้ งานด้านความมั่นคงจึงดูวุ่นวายดีแท้ โดยเฉพาะกับ “วิกฤตไฟใต้” ที่มอบหมายให้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กำกับดูแล “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ศอ.บต.) แต่ไม่รู้ว่า ได้กำกับดูแล “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ด้วยหรือไม่ เพราะทั้งสองขาต้องเดินไปด้วยกัน เพื่อให้ทุกย่างก้าวไม่หกล้ม จึงควรมีผู้กำกับดูแลคนเดียวกัน

ประเด็นที่สอง รัฐบาลนิดหนึ่งไม่ให้ความสนใจ “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” (สมช.) เพราะยังไม่มีการแต่งตั้ง “เลขาธิการ สมช.” คนใหม่แทน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม ที่เกษียณอายุราชการไป



ประเด็นที่สาม รัฐบาลนิดหนึ่งยังไม่มีการขับเคลื่อน “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็น” ซึ่งมีรัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวก เพื่อสานงานด้านการสร้างสันติภาพต่อจากรัฐบาลชุดก่อนๆ

จนกลายเป็นสุญญากาศที่อาจส่งผลกระทบให้ไฟใต้รุนแรงขึ้น เพราะจับสังเกตได้จาก “โฆษกบีอาร์เอ็น” ที่แถลงกรณีสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส มีการเรียกร้องให้คนในชายแดนภาคใต้ออกมา “ปลดปล่อยรัฐปัตตานี” โดยกล่าวหาว่า “สยาม” เป็นผู้บุกรุกยึดครอง

ประเด็นที่สี่ ในการแต่งตั้ง “คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” เมื่อดูรายชื่อของผู้ที่ถูกเสนอโดยพรรคการเมืองต่างๆ จะเห็นว่ายังไม่ครอบคลุม

มีการเสนอบุคคลจากเพียง 3 ฝ่าย คือ นักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาสังคม โดยในรายชื่อเหล่านี้ จำนวนมากเป็นผู้ที่ “มีธงอยู่ในใจ” และสังคมรับรู้แล้วว่า “ยืนอยู่ฝั่งไหน” รวมทั้งยังมีพวก “โลกสวย” ที่ไม่เข้าใจปัญหาจริงๆ ว่า โหดร้ายแค่ไหน ที่สำคัญสัดส่วนของ “ไทยพุทธ” และตัว “แทนภาครัฐ” ก็หรอมแหรมเต็มประดา

ประเด็นที่ห้า รัฐบาลนิดหนึ่งถูกจับตามองว่า ยอมให้กองทัพ “สนตะพาย” งานด้านความมั่นคง ดูได้จากนโยบายต่างๆ เดินตามความต้องการกองทัพเป็นส่วนใหญ่ เช่น ปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลดจำนวนนายพล ล้วนเป็นไปตามแผนที่กองทัพเสนอไว้คือ “ค่อยเป็นค่อยไป” เสียทั้งหมด

โดยเฉพาะเรื่อง “การถอนทหาร” ออกจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นไปตามที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เสนอ คือ ถ้าสถานการณ์เข้าสู่ปกติในปี 2570 จะเป็นปียุติปัญหาไฟใต้ จำนวนทหารก็จะถูกถอนออกไป รวมถึงการใช้ “กฎหมายพิเศษ” หรือ “กฎหมายสามพี่น้อง” ก็จะถูกยกเลิกไปเองด้วย





ส่วนการยกเลิกการใช้ “พรก.ฉุกเฉิน” ก็จบไปแล้ว ด้วยการแค่ “ลด” และ “เพิ่ม” พื้นที่การประกาศบังคับใช้ตามสถานการณ์ เช่น พื้นที่ที่การก่อเหตุลดลงก็ให้ยกเลิกไปเสีย ส่วนพื้นที่ที่เคยยกเลิกไปแล้ว แต่กลับมามีการก่อเหตุอีกก็ประกาศใช้ใหม่

ดังนั้น ในการกำหนดสถานการณ์จะให้ประกาศใช้หรือยกเลิกการใช้ พรก.ฉุกเฉิน จึงขึ้นอยู่กับปฏิบัติการของ “กองกำลังติดอาวุธ” ฝ่ายบีอาร์เอ็นเป็นหลัก ซึ่งก็ทำได้ง่ายๆ ว่า อยากให้การประกาศใช้หรือยกเลิกในอำเภอไหน บีอาร์เอ็นก็บงการให้เกิดเหตุมากหรือน้อยในอำเภอนั้นๆ

การที่มี “ข่าวดี” จาก สมช.ว่า ภายในต้นปี 2567 จะมีการยกเลิกการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินเพิ่มอีก 10 อำเภอ เรื่องนี้จึงยังไม่แน่ไม่ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ แต่ถ้าอยากรู้ก่อนก็ให้ไปถามฝ่ายบีอาร์เอ็นดูว่า ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2566 นี้ ได้วางแผนกำหนดสถานการณ์ก่อการร้ายไว้หรือไม่ อย่างไร

ที่สำคัญ ที่มี “ข่าวหนาหู” ว่า รัฐบาลนิดหนึ่งที่ถูกครอบงำโดยกองทัพ “จะไม่ยกเลิกคำสั่ง คสช.” 3 ฉบับ ที่ทำให้ “ศอ.บต.” ต้องอยู่ภายใต้นโยบายของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เนื่องจากกองทัพไม่ต้องการให้หน่วยงานที่ไม่ใช่ทหารมีอำนาจเต็มในการบริหารงานในชายแดนใต้

และที่สำคัญกว่านั้นคือ กองทัพไม่ต้องการให้มี “สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่มาจากภาคประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวม 60 คนตามที่กำหนดไว้ใน “พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2553” หรือ “พรบ.ศอ.บต.”

ประเด็นนี้เท็จจริงอย่างไร สังคมต้องติดตามกันแบบอย่ากระพริบตากันต่อไป ซึ่งหากเป็นจริงตามมี “ข่าวหนาหู” ระบุไว้ ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน “สอบตก” ในด้านการบริหารงานความมั่นคงของประเทศ และก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรเลยวิกฤตไฟใต้

ดังนั้น การที่ประชาชนคนไทยและโดยเฉพาะชาวชายแดนใต้ต่างคาดหวังจะได้เห็น “สันติสุข” กลับคืนสู่แผ่นดินปลายด้ามขวานในอีกไม่ช้านาน เพราะที่ผ่านมามี “การเลือกตั้ง” และได้ “รัฐบาลพลเรือน” ชุดใหม่ที่น่าจะเข้าใจปัญหาไฟใต้ดีกว่า “รัฐบาลทหาร” อย่างที่ดำเนินมายาวนาน เรื่องนี้น่าจะ “เป็นหมัน” กันไปแล้วไหม

และที่สำคัญกว่านั้น “แนวรบด้านทิศใต้ เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” เพราะรัฐบาลนิดหนึ่ง โดยการนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่รับรู้กันว่ายังอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ “ระบอบทักษิณ” ยังตกอยู่ภายใต้การครอบงำและบงการของ “กองทัพ” ที่ก็แทบไม่แตกต่างอะไรกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมา


ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]