ห้ามตีพิมพ์งานวิจัยหนังสืองานศพของอาจารย์ ม.ทักษิณ ทั้งที่ได้รางวัลระดับดีมาก






การศึกษา / “สมชาย ปรีชาศิลปกุล” แฉดุษฎีนิพนธ์รางวัลดีมากของนักศึกษาปริญญาเอก ไม่ได้รับอนุญาตให้พิมพ์เผยแพร่ ตั้งคำถามแล้วให้รางวัลมาได้อย่างไร เผยดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เกี่ยวกับ 112 ไม่ได้เกี่ยวการเมืองไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของการศึกษาหนังสืองานศพ เพจโพสต์ซ้ำเป็นงานของอาจารย์ ม.ทักษิณ

6 มิถุนายน 2567 - นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความในเพจ “ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนในหัวข้อว่า ดุษฎีนิพนธ์ต้องห้าม “ระดับดีมาก” โดยระบุว่า ดุษฎีนิพนธ์รางวัลดีมาก ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้พิมพ์เผยแพร่จาก “มหาวิทยาลัยระดับโลก”




“ได้รับทราบข่าวจากเพื่อนอาจารย์ด้วยกันเองว่างานวิจัยระดับปริญญาเอกของนักศึกษาท่านหนึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัยให้มีการพิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ ทั้งที่งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับรางวัลดุษฎีนิพนธ์ระดับดีมากจากมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกันนั่นแหละ”

นับว่าเป็นเรื่องที่ชวนให้ประหลาดใจอีกครั้ง แม้จะรู้ดีว่าไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในห้วงเวลาปัจจุบัน

ความสงสัยที่ต้องตอบคำถามก็คือว่าแล้วงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลระดับ “ดีมาก” มาได้อย่างไร

การได้รับรางวัลระดับดีมากไม่ใช่เรื่องที่ได้กันง่ายๆ ในแต่ละปี จะมีเพียงหนึ่งรางวัลหรือบางปีก็ไม่มีการให้รางวัลระดับดีมากแก่งานชิ้นใด การได้รับรางวัลเช่นนี้ย่อมเป็นการรับรองได้ระดับหนึ่งว่าเป็นงานที่มีคุณภาพในระดับสูง เพราะคณะกรรมการที่ทำหน้าที่พิจารณาก็ล้วนแล้วแต่ศาสตราจารย์ ดร. เต็มไปหมด

สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ความภาคภูมิใจประการหนึ่งก็คือการได้มีโอกาสตีพิมพ์งานของตนเองสู่แวดวงที่กว้างขวางขึ้น ไม่ใช่วางไว้บนหิ้งปล่อยให้หยากไย่มาปกคลุมโดยปราศจากคนอ่าน หรืออัพโหลดเข้าระบบแล้วไม่มีใครมาดาวน์โหลดไปเลย หนังสือจำนวนมากที่มีชื่อเสียงกันในทางสาธารณะก็มาจากผลงานการศึกษาทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ยิ่งมีการตีพิมพ์ออกในวงกว้างก็ยิ่งส่งเสริมชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาให้ขจรขจายไกลออกไป



อยากรู้ว่าบรรดาบุคคลที่ทำหน้าที่พิจารณาอนุญาต/ไม่อนุญาต มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด

เพิ่มเติมข้อมูลไว้ว่าดุษฎีนิพนธ์เล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เกี่ยวกับ 112 ไม่ได้เกี่ยวการเมืองไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของการศึกษาหนังสืองานศพ

เหตุการณ์ครั้งนี้ น่าจะเป็นบททดสอบถึงปัญญาและความกล้าหาญของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายว่าจะยืนยันถึงความถูกต้องมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ ได้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นและแชร์เป็นจำนวนมาก โดยมีการตั้งคำถามว่า ใช่งานวิจัยชื่อ “หนังสือแจกงานศพกับความแปรเปลี่ยนของอารมณ์ความรู้สึกและความใฝ่ฝันของคนภาคใต้ ประเทศไทยทศวรรษ 2460 – 2550” ของนายพรชัย นาคสีทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา หรือไม่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัล "ดุษฎีนิพนธ์ดีมาก" กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากงานวิจัยดังกล่าว

หลังจากมีโพสต์ดังกล่าว วันนี้ เพจศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่งได้โพสต์ภาพที่คณะประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงความยินดีแก่นายพรชัย ที่ได้รับรางวัล "ดุษฎีนิพนธ์ดีมาก" ประจำปี 2564




เมื่อค้นในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่ามีการเผยแพร่งานวิจัยดังกล่าวเพียงระบุเพียงรายชื่อผู้จัดทำ อาจารย์ที่ปรึกษา และบทคัดย่อเท่านั้น แต่เมื่อต้องการเปิดเข้าไปดูงานวิจัย ปรากฏว่าต้องล็อกอินเข้าระบบก่อน หรือจะต้องร้องขอไปทางมหาวิทยาลัย

บทคัดย่อระบุว่า การศึกษาความแปรเปลี่ยนของอารมณ์ความรู้สึกและความใฝ่ฝันของคนภาคใต้ผ่านหนังสือ แจกงานศพของสังคมท้องถิ่นใต้ ทศวรรษ 2460 - 2550 เป็นสิ่งสำคัญเพราะหนังสือแจกงานศพไม่ใช่ เป็นเพียงหนังสือที่นำเสนอข้อมูลชีวประวัติบุคคลของผู้วายชนม์และไม่ได้เป็นเพียงแค่หลักฐานทาง ประวัติศาสตร์ที่แสดงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่เสนอว่าหนังสือแจกงานศพของ สังคมท้องถิ่นใต้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเมื่อ "อ่าน" ในฐานะ ของพื้นที่ความคิด อารมณ์ความรู้สึก และความใฝ่ฝันของคนในท้องถิ่น 

การศึกษาหนังสือแจกงานศพของสังคมภาคใต้ใด้ทำให้เห็นความแปรเปลี่ยนของอารมณ์ ความรู้สึกและความใฝ่ฝันของคนภากใต้ใน 4 ช่วงเวลา ซึ่งเป็นความแปรเปลี่ยนในระดับต่างๆ ตั้งแต่ ปัจเจกต่อปัจเจก ครอบครัว ท้องถิ่น ชาติและศาสนา ซึ่งล้วนสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและระบบวัฒนธรรมท้องถิ่น กล่าวคือ 

ช่วงแรก ทศวรรษ 2460 ถึงต้นทศวรรษ 2490 ช่วงแรกของหนังสือแจกงานศพในสังคม ท้องถิ่นใต้เป็นช่วงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอันเกิดจากการเข้าไปสัมพันธ์ กับรัฐสมัยใหม่ การปรับตัวที่สำคัญของคนท้องถิ่นใต้ให้เป็นคนที่ต้องมีความรู้ ความสามารถ และ เข้าไปเป็น "กลไกของระบบราชการสมัยใหม่" มีผลซึมลึกเข้าไปสู่ระบบคุณค่าและความหมายของ ชีวิตผู้คนในสังคมท้องถิ่นให้อยู่เริ่มเชื่อมโยงตัวตนกับรัฐไทยสมัยใหม่ที่ก่อกำเนิดขึ้น 

ช่วงต่อมา กลางทศวรรษ 2490 - 2510 เป็นยุคแห่งการสร้าง "แบบแผน" ความภาคภูมิใจต่อ ความสำเร็จของบุคคลในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจและหน้าที่การงานอันเป็นแบบอย่างที่ชนรุ่น หลังควรดำเนินรอยตามเพื่อความก้าวหน้าและความสำเร็จในชีวิต โดยเป็นอารมณ์ความรู้สึกของการ สร้าง "ชีวิตคนใต้" ที่เชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างความเป็นท้องถิ่นใต้กับความเป็นไทย 

ช่วงที่ 3 ทศวรรษ 2520 - 2530 การนำเสนอเส้นทางเดินชีวิตเน้นให้เห็นพื้นเพความเป็น "คน บ้านนอก-ชนบท" แต่สามารถเข้าสู่ระบบราชการและระบบการผลิตสมัยใหม่จนประสบความสำเร็จ ในชีวิตโดยมีฐานของความเป็นคนท้องถิ่นทำให้เกิดการสร้างความภาคภูมิใจใน "ความเป็นคนใต้" และ"ชนบทใต้นี้งดงาม" ซึ่งกลายเป็นความรู้สึกร่วมของความภูมิใจ ความรู้สึกรักและผูกพันธ์กับ สังคมท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง อันสอดรับไปกับการสร้างความรู้ทางวิชาการของนักวิชาการในท้องถิ่น ใต้ที่ตอกย้ำลักษณะเฉพาะพิเศษของคนใต้และชนบทภาคใต้ 

ช่วงปัจจุบัน นับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา หนังสือแจกงานศพไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ ความหมายของคนตายเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นพื้นที่ของการแสดงออกเกียรติ ศักดิ์ศรี และการจัดวาง ตำแหน่งแห่งที่ของ "คนเป็น"ด้วย ซึ่งนับเป็นอารมณ์ความรู้สึกชุดใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความ เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เป็นช่องทางการแสวงหาความสำเร็จในชีวิตผู้คนที่กว้างขวางและความ เปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในหลากมิติมากขึ้น การแสดงออกของอารมณ์ ความรู้สึกชุดใหม่นี้มีเป้าหมายอันสูงสุดคือการให้คุณค่ากับการไปเข้าสัมพันธ์กับพระราชอำนาจนำ และระบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน

อย่างไรก็ตาม วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมกราคม – มีนาคม พ.ศ. 2565 ได้เคยลงบทคัดย่อไว้ แต่ได้ตัดช่วงท้ายออกคือ " ซึ่งนับเป็นอารมณ์ความรู้สึกชุดใหม่ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความ เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เป็นช่องทางการแสวงหาความสำเร็จในชีวิตผู้คนที่กว้างขวางและความ เปลี่ยนแปลงของระบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในหลากมิติมากขึ้น การแสดงออกของอารมณ์ ความรู้สึกชุดใหม่นี้มีเป้าหมายอันสูงสุดคือการให้คุณค่ากับการไปเข้าสัมพันธ์กับพระราชอำนาจนำ และระบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน"

////////////////////////

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]