“ไฟใต้สงบ งบไม่มา”?! ข้อกังขากว่า 50 ปีของคนชายแดนใต้


บทความ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก

การที่ทหารจับนายอามีร ดอแต อายุ 29 ปี แนวร่วมบีอาร์เอ็นได้ตัวเป็นๆ ที่ ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ขณะขับรถจักยานยนต์นำปืนเอชเค 2 กระบอกและเอ็ม 16 อีก 2 กระบอกที่ใส่ไว้ในถุงปุ๋ยไปเก็บซ่อน หลังรับมาจากแนวร่วมอีกชุดที่ใช้ซุ่มโจมตีรถยนต์สายตรวจตำรวจ สภ.รือเสาะ

นับว่าเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และถือเป็นความสำเร็จของมาตรการสกัดกั้นทางหนีทีไล่ของคนร้ายหลังก่อเหตุ

ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จแบบฟลุ๊กๆ หรือมาจากการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ก็ตาม ถือเป็นเรื่องต้องชื่นชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ภาคสนาม เพราะการจับแนวร่วมได้แบบตัวเป็นๆ ที่ไม่ถูกวิสามัญฯ เสียก่อน เรื่องนี้ที่ยังประโยชน์แก่หน่วยงานความมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง

คำสารภาพของนายอามีรไม่ว่าจะมาจากมาตรการ “สอบสวน” หรือ “ซักถาม” ก็แล้วแต่ ได้ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามปืนเนเกฟคืนได้อีก 1 กระบอก หลังนำไปฝังดินที่ ต.สาวอ อ.รือเสาะ แถมยังเป็นปืนที่ถูกปล้นไปจากฐานพระองค์ดำเมื่อเกือบ 10 ปีมาแล้ว

๐ อ่านข่าว รวบตัวได้ทันควัน! หลังซุ่มยิงรถตำรวจนราธิวาสพร้อมของกลางอาวุธสงคราม

เหตุการณ์ปล้นปืนฐานพระองค์ดำครั้งนั้นเป็นการ “ละลายฐาน” ระดับกองร้อย มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตระดับ ผบ.ร้อย โดยแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้ยึดเอาอาวุธปืนไปได้จำนวนหนึ่ง

ล่าสุดวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา นายอามีร ดอแต ยังให้ความร่วมมือโดยนำเจ้าหน้าที่ไปขุด “ปุ๋ยยูเรีย” ได้อีก 1 ถังที่บ้านกาโด๊ะ ต.รือเสาะ ซึ่งเตรียมไว้ใช้ผลิตระเบิดเพื่อก่อความไม่สงบในพื้นที่



สรุปสั้นๆ ปืนยิงเร็วยี่ห้อต่างๆ ทั้ง 5 กระบอกที่ยึดมาได้ล้วนเป็นของราชการที่ถูกปล้นชิงและยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิตด้วย ซึ่งแสดงตลอดการทำ “สงครามประชาชน” ตั้งแต่ปี 2543 และ “สงครามกองโจร” ตั้งแต่ปี 2547 บีอาร์เอ็นไม่เคยใช้เงินซื้ออาวุธ แต่ล้วนเป็นของทางราชการ

และแม้แต่ปืน 18 กระบอกที่หายไปจากกองร้อยอาสาสมัครรักษาดินแดน อ.เมือง จ.นราธิวาส เมื่อ 3 เดือนก่อนก็เชื่อว่าอยู่ในมือของบีอาร์เอ็นเช่นกัน ส่วนกระสุนปืนที่ใช้แน่นอนว่าบีอาร์เอ็นต้องจัดหาเอง เพราะกระสุนที่ติดไปกับตัวปืนมีไม่มากพอใช้ปฏิบัติการโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐ

นี่เป็นประเด็นปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนับแต่บีอารเอ็นปฏิบัติการ “จุดไฟใต้” ละลอกใหม่ตั้งแต่ปี 2536 ด้วยการเผา 36 โรงเรียนในคืนเดียว จนถึงปัจจุบันนี้หน่วยงานความมั่นคงยังสืบไม่พบ จับไม่ได้ว่าบีอาร์เอ็นซื้อเครื่องกระสุนจากใครที่ไหน

ประเด็นต่อมานายอามีร ดอแต นำเจ้าหน้าที่ไปขุดได้ทั้ง “ปืน” และ “ปุ๋ย” แสดงให้เห็นว่าในพื้นที่ อ.รือเสาะเป็น “แหล่งใหญ่” ของบีอาร์เอ็นทั้งการซ่องสุมคนและอาวุธ

นี่แค่แนวร่วมธรรมดาๆ ที่เป็นเพียงพลลำเลียงขี่รถจักรยานยนต์ไปรับอาวุธหลังคนอื่นก่อเหตุยังนำไปขุดปืนและปุ๋ย รวมถึงให้รายละเอียดปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นได้ว่า 1 ชุดประกอบด้วยกี่คน และหลังปฏิบัติการเสร็จมีการส่งมอบอาวุธกันอย่างไร นำไปส่งให้ใคร


แน่นอนอาวุธปืนในพื้นที่ อ.รือเสาะไม่ได้มีแค่ที่ยึดได้ และแนวร่วมก็ไม่ได้มีเพียงนายอามีร ดอแต คนเดียว ส่วนจะมีกี่คนและอยู่ที่ไหน รวมทั้งยังมีปืนกองกลางถูกเก็บซ่อนไว้ที่ใดอีก นั่นย่อมเป็นหน้าที่ทหารติดตามขยายผลต่อไป ไม่ใช้ปล่อยให้จบเพียงได้ปืน 5 กระบอกและปุ๋ยยูเรีย 1 ถุงอย่างที่ประจักษ์

ที่สำคัญดูจากปฏิบัติการของ “อาร์เคเค” หรือแนวร่วมระดับหน่วยคอมมานโด “อาลีเมา” หรือเสือภูเขาที่เป็นกองกำลังในป่า และ “แกนนำสั่งการ” ในพื้นที่จะพบว่า บีอาร์เอ็นยังคงใช้แผนเดิมๆ ที่แกนนำถูกจับกุมไปตั้งแต่เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว หรือสมัยที่ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ยังเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 ให้รายละเอียดไว้

ทั้งที่เวลานี้ผ่านมาแล้วหลายปี เปลี่ยนมาแล้วหลายแม่ทัพ แต่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ก็ยังคง “เดินตามหลัง” บีอาร์เอ็นและปล่อยให้กลุ่มติดอาวุธใช้แผนปฏิบัติการเดิมๆ ในพื้นที่ได้ตลอดมา

นี่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานความมั่นคง “รู้เขา” คือรู้แผนปฏิบัติการของเขาทุกขั้นตอน แต่ “ไม่รู้เรา” ว่าจะแก้ทางอย่างไรเพื่อเอาชนะ

นี่แสดงให้เห็นว่าแม้หน่วยงานความมั่นคงจะ “ไม่ถอยหลัง” แต่ก็ “ย่ำอยู่กับที่” มาตลอด เพราะถ้ามีความก้าวหน้าก็ต้องมีความสามารถทำลายแผนของศัตรูไปได้นมนานแล้ว


“จุดอ่อน” ของบีอาร์เอ็นคือเรื่องอาวุธ เพราะชุดโจมตีเจ้าหน้าที่หรือเป้าหมายบุคคลไม่ได้มีอาวุธติดตัวอยู่ตลอดเวลา เช่น กองกำลังที่เคลื่อนไหวในป่าเขาหลังหมู่บ้าน ก่อนลงมือต้องมีคนนำปืนมาให้แล้วรับคืนหลังเสร็จภารกิจ โดยปืนจะถูกเก็บซ่อนในที่ปิดลับและจะรู้เฉพาะในการปฏิบัติการแต่ละครั้งเท่านั้น

ถ้าหน่วยงานความมั่นคงเข้าถึง “แหล่งข่าว” และปฏิบัติการทาง “มวลชน” ได้ผลจนยึดอาวุธกลับคืนได้มากที่สุด นั่นจะเป็นการลิดรอนเขี้ยวเล็บของบีอาร์เอ็นให้ลดน้อยถอยลง ซึ่งหากทำได้ความสูญเสียก็จะแทบไม่มีให้เห็น

“จุดอ่อน” ของหน่วยงานความมั่นคงตลอดกว่า 17 ปีไฟใต้ระลอกใหม่คือ “งานการข่าว” ขนาด “กลุ่มคนหน้าขาว” ในแต่ละหมู่บ้านก็ยังไม่รู้เลย แล้วจะหวังอะไรกับการไปทลายแหล่งเก็บอาวุธในแต่ละพื้นที่ได้เล่า

ต้องขอบอกว่าปืน 5 กระบอกและปุ๋ยยูเรีย 1 ถุงที่ยึดดังกล่าวไม่ใช่เป็นผลมาจาก “การข่าว” แต่เป็นเพราะ เส้นทางหลบหนีของนายอามีร ดอแต มีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนอยู่ตรงนั้นพอดี แถมยังเป็นแค่แนวร่วมปลายแถวจึงไม่คิดต่อสู้ และที่ให้ความร่วมมือเพราะจนมุมเท่านั้น

ถ้าปฏิบัติการปิดล้อม “หัวโจก” บีอาร์เอ็นในหลายๆ ครั้ง “จับเป็น” มาสู่กระบวนการ “สอบสวน” หรือ “ซักถาม” ได้น่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะจะได้รับรู้ข้อมูลฝ่ายบีอาร์เอ็นเพิ่มขึ้น

หรือว่าลึกๆ แล้วหน่วยงานความมั่นคงไม่ต้องการรู้ “ความลับ” อะไรเลยจากบีอาร์เอ็น เพียงแต่ต้องการให้สถานการณ์ดำรงอยู่อย่างที่เป็นมา เหมือนกับที่ประชาชนในพื้นที่บอกเล่าต่อๆ กันมากว่า 50 ปีว่า “ไฟใต้สงบ งบไม่มา”

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]