ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

ถ้าไม่หักธง "เอกราช" ของบีอาร์เอ็นทิ้งไปก่อนก็อย่ามัวเสียเวลาเจรจาสันติสุขกันอีก


 

บทความ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก



สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้หลังการพูดคุยสันติสุขระหว่าง พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะฝ่ายรัฐไทย กับ หิพนี มะเร๊ะ หัวหน้าคณะฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น โดยมีอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล บิน โมฮัมหมัด นูร์ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ยังคงมีสถานการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่อง


มีการเผาขนำไทยพุทธในสวนมะพร้าวที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และลอบบึ้มรถยนต์ตำรวจ สภ.จะแนะ จ.นราธิวาส และเหตุปิดล้อมตรวจค้นที่ ต.ละหาร อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ที่จบลงด้วยวิสามัญฯ คนร้ายที่มีหมายจับเป็นหางว่าว โดยใช้วิธีการกดดันจากเบาไปหาหนักเป็นไปตามนโยบายของแม่ทัพภาคที่ 4 


อีกทั้งยังมีระเบิดก่อกวน 2 จุดในเขตเทศบาลนครยะลา แม้จะไม่มีคนเจ็บและตาย แต่ในด้านจิตวิทยาถือว่าเสียหายมาก เพราะเป็นพื้นที่ไข่แดงใจกลางเมือง ซึ่งแม้จะพบว่าการป้องกันเมืองไม่ได้หละหลวม แต่ก็เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าแนวร่วมบีอาร์เอ็นยังเจาะแนวป้องกันได้อย่างสำเร็จผล


ทั้ง 4 เหตุการณ์ตอกย้ำชัดเจนว่า กระบวนการพูดคุยสันติสุขในกรอบตกลงทั้ง 3 ข้อ ซึ่งข้อแรกคือ “ลดความรุนแรง” เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ โดย 2 เหตุแรกเป็นฝีมือแนวร่วมบีอาร์เอ็น ส่วนเหตุที่ 3 เกิดจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่สุดท้ายยังคงเลือกใช้วิสามัญฯ แทนจับเป็น 


ดังนั้นกรอบการพูดคุยเพื่อลดความรุนแรงในพื้นที่จึงไม่มีอยู่จริง หรือมีอยู่จริงก็แค่ในแผ่นกระดาษ แต่ปฏิบัติการจริงไม่ได้ ยิ่งสำหรับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหากไม่มีปฏิบัติการ นั่นเท่ากับปล่อยให้กองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นปฏิบัติการต่อเป้าหมายเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้


มีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ดำเนินมาราว 10 ปี ซึ่งเริ่มขึ้นในรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" มาจนถึงรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เวลานี้ มีการเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยไปแล้วหลายชุด ฝ่ายบีอาร์เอ็นเคยบอกเราหรือไม่ว่าต้องการ “เอกราช” เป็นธงนำ หรือขอให้ได้แค่ “เขตปกครองพิเศษ” เท่านั้น


เนื่องจากถ้าบีอาร์เอ็นปักหมุดหมายไว้ที่ “เอกราช” หรือพูดให้ชัดคือ “ต้องการแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่มีมา แล้วเราจะเดินหน้าพูดคุยหรือเจรจากับบีอาร์เอ็นต่อไปเพื่ออะไร


ดังนั้น กรอบการพูดคุยจึงต้องมีความชัดเจนก่อนว่า เราจะพูดคุยกับบีอาร์เอ็นในกรอบที่เป็นไปได้เท่านั้น ซึ่งนั่นก็คือต้องไม่ใช่เรื่องของแบ่งแยกดินแดน หรือมีความต้องการเอกราช


ถึงวันนี้การเคลื่อนไหวทางการเมือง (งานมวลชน) ในพื้นที่ยังคงใช้คำว่า เป็นการต่อสู้เพื่อ “ปัตตานีดารุสลาม” เช่นเดียวกับในเวทีโลกที่ตัวแทนมีโอกาสเข้าไปเสนอปัญหาก็ยังคงเน้นเนื้อหาเรื่องการกำหนดใจเพื่อ “ปกครองตนเอง” ซึ่งนั่นก็คือเรื่อง “เอกราช” ตามธงนำของบีอาร์เอ็นนั่นเอง 


ที่สำคัญองค์กรจากตะวันตกไม่ว่า “เจนีวาคอลล์” หรือ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงในการต่อรองกับรัฐไทยก็ยังไม่เคยเสนอให้บีอาร์เอ็นยุติการเรียกร้อง “เอกราช” แล้วหันมาร้องขอในสิ่งที่เป็นไปได้ เช่น เขตปกครองพิเศษ หรือการปกครองในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย


ดังนั้น กระบวนการพูดคุยสันติสุขแท้จริงแล้วจึงเป็นเหมือนการ “ซื้อเวลา” ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีมรรคผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในข้อตกลงแรกคือการลดความรุนแรง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเจรจา เพราะถ้าไม่เกิดขึ้นก็ลดความสูญเสียของทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้


นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าสิ่งที่จะตามมากับเหตุวิสามัญฯ 2 ศพล่าสุดคือ โฆษกบีอาร์เอ็นในต่างประเทศจะออกแถลงการณ์กล่าวหารัฐไทยไม่ทำตามกรอบพูดคุย ส่วนในพื้นที่ก็หาประโยชน์จากผู้ถูกวิสามัญฯ ด้วยการแห่ศพแบบวีรบุรุษผู้พลีชีพตามอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อเอกราชเช่นเดียวกับที่แล้วๆ มา


เมื่อกระบวนการพูดคุยในกรอบทำไม่ได้ตั้งแต่ข้อแรก ข้อ 2 และ 3 จึงทำตามต่อไปได้ยากเช่นกัน เมื่อบีอาร์เอ็นไม่เปลี่ยนธงนำเรื่องเอกราช การเดินหน้าพูดคุยในเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าเป็นเรื่องการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ ก็ไม่มีทีท่าว่าจะเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้


ดังนั้น การพูดคุยในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้จึงเสียทั้งเวลาและงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์สำหรับรัฐไทย แต่สำหรับฝ่ายบีอาร์เอ็นกลับได้ใช้เวทีนี้เพื่อซื้อเวลาในการสร้างกลไกและเสริมกำลังทั้งในเวทีระดับพื้นที่และระดับโลก เพื่อรอโอกาสเหมาะสมในการเคลื่อนไหวให้บรรลุในสิ่งที่ต้องการ


ถ้ารัฐไทยยังคิดที่จะเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขต่อไป อย่างแรกที่ต้องเจารจาคือให้บีอาร์เอ็น “หักทิ้งธงเอกราช” ไปก่อน แต่ถ้าบีอาร์เอ็นยังยืนยันหมุดหมายเดิมๆ ต่อไป คนไทยก็ต้องร่วมกันถามว่ารัฐบาลจะมัวเสียเวลาและงบประมาณไปเพื่อตะบั๊กตะบวยอะไรต่อไปอีกเล่า


ที่สำคัญที่คนไทยพุทธในพื้นที่ รวมถึงคนไทยทั้งประเทศต้องรับรู้ว่า วันนี้เวทีการพูดคุยระหว่างรัฐไทยกับบีอาร์เอ็นได้ยกระดับไปสู่ “ความเป็นสากล” แล้ว เพราะล่าสุดมีตัวแทน “ฝรั่งหัวแดง” ถึง 2 คนเข้ามาร่วมในโต๊ะพูดคุยด้วย รวมทั้งมีการตกลงไปพูดคุยกันต่อในประเด็นอื่นๆ ที่ “ประเทศตุรกี” ในไม่ช้านี้


ดังนั้น ใครที่เคยกลัวว่าการพูดคุยจะเป็นการยกระดับบีอาร์เอ็นไปสู่สากล วันนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว เพราะเป็นไปแล้วตามเกมที่ทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็น ฝ่ายมาเลเซีย รวมถึงฝ่ายองค์กรจากชาติตะวันตกวางแผนไว้ โดยที่มีฝ่ายรัฐไทยทำตัวร่วมเป็นผู้เดินตามแบบต้อยๆ


แนวโน้มในอนาคต ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาติตะวันตกใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าไปตั้งสำนักงานในชายแดนใต้เพื่อทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” เพื่อให้เป็นไปตามแผนวางไว้ โต๊ะการพูดคุยจึงเป็นได้แค่เพียง “กับดัก” ของฝ่ายบีอาร์เอ็น มาเลเซียและชาติตะวันตกที่ร่วมกันกำหนดขึ้นมา


อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้ยังไม่ต้องเชื่อผู้เขียนก็ได้ แต่อีกไม่นานสถานการณ์ชายแดนใต้จะมีคำตอบในตัวเองว่า คนที่เป็นแค่ “ลูกเสือสามัญ” อย่างผู้เขียน กับคนที่จบโรงเรียนเสนาธิการและเป็นถึง “นายพล” ใครจะมีสายตาสั้นหรือยาวกว่ากัน ซึ่งคงอีกไม่นานหรอกที่คนไทยจะได้เห็น


ที่สำคัญอีก 5 ปีข้างหน้า หรือปี พ.ศ.2570 สิ่งที่ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคงและกำกับดูแลการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ประกาศไว้ว่า “ไฟใต้” จะมอบดับสนิท เมื่อพิจารณาจากกลไกการเจราจาพูดคุยดังกล่าวกลับแต่หนทางที่ทั้ง “ตีบ” และ “ตัน” วางทอดรออยู่เท่านั้น


ไม่เพียงเท่านั้นด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ขัดขวางมาโดยตลอด โดยล่าสุดการเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องการให้เอกชนได้ลงทุนและกำหนดทิศทางก็ตกอยู่ในชะตาเดียวกัน แล้วอย่างนี้จะหวังอะไรได้จากคำพร่ำพ่นของคนระดับผู้นำในคณะรัฐบาล


น่าเสียดายที่ “ยาหอม” ที่หลุดออกจากปาก พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นเลย แถมยังดูเหมือนจะเป็นคำพูดแบบซ้ำซากที่ไม่เคยจะเป็นจริงได้ แถมยาหอมที่ว่านี้กำลังใกล้ “หมดอายุ” แล้วด้วยซ้ำ

ไม่มีความคิดเห็น: