ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

รายงานพิเศษ

[๐ รายงานพิเศษ][bsummary]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]

แม้ "วิสามัญฯ" จะถูกกฎหมาย แต่ไม่น่าจะดับไฟใต้ได้อย่างแน่นอน

 


บทความ โดย…. ไชยยงค์ มณีพิลึก

สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนและหลังพูดคุยสันติสุขที่ฝ่ายรัฐไทยมี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะ กับ นายหิพนี มะเร๊ะ หรืออิหม่ามบันนังสตา หัวหน้าคณะฝ่ายบีอาร์เอ็น โดยมีรัฐบาลมาเลเซียทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกนั้น ต้องยอมรับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะยังมีความรุนแรงเหมือนเดิม

การที่แนวร่วมบีอาร์เอ็นแทรกตัวเข้าไปวางระเบิดได้ถึง “พื้นที่ไข่แดง” ในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเจ็ดหัวเมืองเศรษฐกิจชายแดนใต้ ทั้งๆ ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเฝ้าป้องกันอย่างหนัก และตลอดกว่า 2 ปีมานี้ การป้องกันทำได้ดี แต่แล้วเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ก่อนตรุษจีนเพียง 2 วัน ไข่แดงแตก แนวร่วมทำได้สำเร็จกว่า 20 จุด

แม้ความเสียหายจะไม่มากนักก็ตาม แต่ในแง่จิตวิทยามวลชนนั้นถือว่าได้รับความเสียหายหนักมาก เพราะทำให้สังคมสูญเสียความเชื่อมั่นต่อรัฐ ขณะเดียวกัน ฝ่ายรักษาความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง ซึ่งต้องบูรณาการการทำหน้าที่ร่วมกันก็อยู่ในอาการเสียศูนย์ตามไปด้วย

แน่นอนระเบิด 20 กว่าจุดในเขตเทศบาลนครยะลา กลายเป็นคำถามจี้ใจไปยังคณะพูดคุยสันติสุขว่า การพูดคุยที่ผ่านมาได้ก่อประโยชน์อะไรบ้าง เนื่องจากเรื่องความรุนแรงนั้นคือหนึ่งในสามหัวข้อหลักที่พูดคุยกันมาแล้วกว่า 2 ปี นับแต่ พล.อ.วัลลภ ที่เคยเป็นถึงอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะฝ่ายไทย

สาระสำคัญบนโต๊ะพูดคุยสันติสุขครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 การลดความรุนแรงในชายแดนใต้ยังคงเป็นหนึ่งในสามหัวข้อเจรจาหลักเช่นเดิม

หลังการเสร็จสิ้นและแถลงข่าวถึงความก้าวหน้าการพูดคุยครั้งนี้จบลง ปรากฏว่าบรรดากองเชียร์ โดยเฉพาะภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอในพื้นที่ต่างออกมาชื่นชมว่า เป็นความสำเร็จและเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางแบบที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้พร่ำบ่นมาหลายปีว่า “เราเดินมาถูกทางแล้ว” นั่นเอง

จึงไม่รู้ว่าระเบิดกว่า 20 จุดที่เกิดขึ้นหลังการคาดหวังจากความสำเร็จของการพูดคุยที่กล่าวอ้างจะทำให้ใครต่อใครเสียหน้าหรือไม่ แต่แน่นอนสิ่งที่ตามมากับเสียงบึ้มคือ ความเงียบของ พล.อ.วัลลภ รวมถึงคณะ “สล.1” “สล.2” และ “สล.3” ที่วาดหวังว่าไฟใต้จะจบลงด้วยความเชื่อมั่นว่าได้พูดคุยกับบีอาร์เอ็นตัวจริงแล้ว

วันนี้สิ่งคนไทยทั้งประเทศต้องการได้ยินจากปากของ พล.อ.วัลลภ และนายหิพนี นั่นคือ โต๊ะพูดคุยสันติสุขที่เกิดขึ้นเชื่อถือได้หรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นการลดความรุนแรง เพราะตั้งแต่มีบึ้มแบบปูพรมคืนวันที่ 29 มกราคม 2565 ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีใครออกมาพูดถึงเหตุการณ์นี้เลย

มีอีกประเด็นหนึ่งคือ คนในพื้นที่โดยเฉพาะไทยพุทธและเจ้าหน้าที่รัฐต่างสงสัยว่า คณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็นที่มีนายหิพนี เป็นหัวหน้าคณะ คนกลุ่มนี้มีอำนาจ “สั่งการ” หรือประสานให้กองกำลังติดอาวุธที่เคลื่อนไหวก่อการร้ายในชายแดนใต้หยุดปฏิบัติการได้จริงหรือไม่

ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะหากนายหิพนี เป็นเพียง “หุ่นเชิด” ของบีอาร์เอ็นและมาเลเซีย รวมทั้งองค์กรต่างชาติอย่าง “เจนีวาคอลล์” ก็แสดงว่าโต๊ะพูดคุยสันติสุขแก้ปัญหาไฟใต้ไม่ได้ ซึ่งอาจไม่ต่างกับการเป็น "กับดัก" ของบีอาร์เอ็น

ดังนั้น พล.อ.วัลลภ ต้องต่อสายสอบถามนายหิพนี ให้ชัดเจนถึงประเด็น “อำนาจสั่งการ” พร้อมแถลงให้คนไทยได้รับรู้โดยเร็ว

อีกประเด็นที่ต้องหยิบยกมากล่าวถึงด้วยคือ กรณีหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 45 ปิดล้อมตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในเขตเทศบาลมาโงระนะ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส แล้วจบลงแบบเดิมๆ คือ การวิสามัญฆาตกรรมแนวร่วมบีอาร์เอ็น 2 ศพล่าสุด แต่ไม่ใช่ท้ายที่สุด

และแน่นอนมีฉากเดิมๆ เกี่ยวกับพิธีศพตามมา กล่าวคือ ทั้ง 2 ศพถูกทำให้ดูเหมือนเป็นแบบอย่างของ “นักรบพลีชีพ” มีพิธีทำความเคารพศพ มีผู้คนเข้าร่วมแห่แหนมากมาย และมีเสียงสรรเสริญเยี่ยงวีรบุรุษ ตะโกนปลุกเร้าไปตลอทาง ซึ่งสร้างอารมณ์โกรธแค้นตามมา ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ที่ใช้นโยบายต่อผู้ที่ไม่ยอมมอบตัว

เหตุที่ผู้เขียนนำเรื่องความรุนแรงด้วยการวิสามัญฯ แนวร่วมบีอาร์เอ็นมาบอกเล่าต่อเนื่องก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า แม้การวิสามัญฯ จะถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่น่าจะใช่แนวทางดับไฟใต้อย่างแน่นอน

การใช้นโยบายวิสามัญฯ มีตั้งแต่ยุค พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ เป็นแม่ทัพภาค 4 เป็นต้นมา ถือเป็นการสร้างความเกลียดชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อบีอาร์เอ็นนำไปปลุกระดมมวลชนคนรุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ขบวนการ อีกทั้งองค์กรต่างประเทศก็นำไปข้ออ้างเข้าแทรกแซงปัญหาไฟใต้ด้วย

หลังเหตุการณ์วิสามัญฯ 2 ศพที่เทศบาลบาโงระนะ วันนี้มีการเคลื่อนไหวทั้งในลักษณะกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ อย่างเป็นระบบหนักหน่วง ซึ่งจะมีผู้บงการอยู่เบื้องหลังหรือไม่ก็ไม่รู้ได้ แต่ที่ชัดเจนคือ การออกมาเรียกร้องของ “กลุ่มผู้นำศาสนา” ต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่าเป็นฝ่ายเริ่มใช้ความรุนแรงก่อน

ปรากฏการณ์ล่าสุดนี้มองได้ 2 ประเด็นคือ หนึ่งนั้นการใช้นโยบายวิสามัญฯ ที่ต่อเนื่องมากว่า 3 ปีจะกลายเป็น “ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา" ไปแล้ว และอีกหนึ่งนั้นเป็นกลยุทธ์ของบีอาร์เอ็นที่ใช้ “ศาสนา” ซึ่งถือเป็น “จุดอ่อน” สำคัญของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อเปิดเกมรุกกลับ

ทั้งหมดทั้งปวงนี้คงต้องถือเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะตามมาในปี 2565 นี้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตลอดกว่า 18 ปีของไฟใต้ระลอกใหม่ยังแทบไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: