เมื่อคิดจะ "ดับไฟใต้" ด้วย 'พูดคุยสันติสุข' ก็ควร "รู้เรา" ให้กระจ่างก่อนจะขึ้นเวทีเจรจา






บทความ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก

เป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ไฟใต้ในเวลานี้เกี่ยวพันกับการ “พูดคุยสันติสุข” ในนิยามของรัฐไทย หรือการ “เจรจาสันติภาพ” ในนิยามของขบวนการบีอาร์เอ็น แต่ไม่ว่าจะเรียกอะไร ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกระบวนการนี้ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงในพื้นที่เป็นด้านหลัก

เป็นความรุนแรงที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เรียกว่า “การก่อความไม่สงบ” แต่ฝ่ายการเมือง บีอาร์เอ็นเรียก “ขัดกันด้วยอาวุธ” ขณะที่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นตำรวจ อัยการ กระทั่งคำพิพากษาของศาลในคำว่า “ก่อการร้าย”

ถามว่า แล้วสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้ายย้อย ระหว่าง “กองกำลังติดอาวุธ” และ “แนวร่วม” ของบีอาร์เอ็น กับทหาร ตำรวจและกองกำลังท้องถิ่น ที่ขึ้นตรงทางยุทธการกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในขณะนี้เป็นอย่างไร

จงเจาะเฉพาะเดือนสิงหาคมที่เพิ่งผ่านมามีเหตุรายวันที่มากเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ซุ่มโจมตีชุด ชคต. ลอบวางระเบิดโดยเอาประชาชนเป็นเหยื่อล่อให้เจ้าหน้าที่เดินเข้าสู่พื้นที่สังหาร ซุ่มยิงตำรวจขณะเดินทาง แต่ที่สาหัสสากรรจ์คือบุกเข้าวางระเบิดและวางเพลิงปั๊มน้ำมันและร้านสะดวกซื้อคืนเดียว 17 จุดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา

และที่สำคัญตรวจพบมีการขุดหลุมริมถนนเชื่อมระหว่างตำบล-อำเภอเป็นจำนวนมากที่ จ.นราธิวาส ซึ่งหน่วยความมั่นคงเชื่อว่าเตรียมไว้ลอบวางระเบิดในห้วง “วันชาติมาเลเซีย” ซึ่งบีอาร์เอ็นถือเป็นวันสัญลักษณ์ของประกาศเอกราช ตรงกับวันที่ 31 สิงหาคมของทุกปี แต่โชคดีที่ปีนี้มีการตรวจพบเสียก่อน



สำหรับการก่อวินาศกรรมคืนวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น แม้เวลานี้จะผ่านไปครึ่งเดือนแล้ว แต่ก็ยัง “ชี้นิ้วกันไปมา” ระหว่าง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากับบีอาร์เอ็นว่า ใครเป็นคนก่อเหตุกันแน่

บีอาร์เอ็นชี้นิ้วมาที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าว่า เป็นฝ่ายสร้างสถานการณ์เพื่อหวังผลขึ้นมาเอง ซึ่งก็เป็น “สูตรสำเร็จ” ในการสร้างความคลุมเครือให้มวลชนในพื้นที่ ที่ส่วนใหญ่มีทัศนคติไม่ดีต่อเจ้าหน้าที่รัฐอยู่แล้ว และที่สำคัญคนจำนวนมากก็พร้อมเชื่อโดยไม่ต้องมีเหตุผลรองรับมาโดยตลอด

ขณะที่ตำรวจรวบรวมหลักฐานจนทำให้เชื่อได้ว่าเป็นปฏิบัติการกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะมีภาพ CCTV ที่เห็นเครื่องแบบและสัญลักษณ์ของบีอาร์เอ็น แถมไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เจ้าหน้าที่จะสร้างสถานการณ์ขึ้น เพราะที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าก็พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น

ประเด็นนี้ยืนยันได้จากการนับจำนวนการเกิดเหตุโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ยังมีความพยายามปิดบังอำพรางข้อเท็จจริง เพราะต้องการลดจำนวนตัวเลขให้น้อยลง เพื่อให้ทั้งรัฐบาล กองทัพ รวมถึงประชาชนเชื่อมั่นว่า สถานการณ์ไฟใต้มีแต่ดีขึ้น อีกทั้งการพูดคุยสันติสุขกำลังจะจบลงในปี 2570 ตามเป้าหมายที่วางไว้

มีข่าวสารที่น่าสนใจจาก “คณะพูดคุยสันติสุข” รัฐไทยที่มี พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ เป็นหัวหน้าคณะ ที่มี พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 เป็นเลขานุการ และมี พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเป็นที่ปรึกษา กล่าวคือ หลังเดินทางกลับจากการไปเยือนกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะ “แขกรับเชิญ” ของ “คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC)” องค์กรที่เสนอตัวเป็น “คนกลาง” ในการเข้ามาไกล่เกลี่ย หรือช่วยจัดการกับปัญหาไฟใต้ในประเทศไทย คณะพูดคุยฝ่ายไทยได้แสดงความชื่นชมใน “นโยบาย” ของไอซีอาร์ซี ที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกดินแดนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศว่า แก้ปัญหาจนประสบความสำเร็จด้วยสันติวิธีโดยใช้ “การเจรจา” เป็นเครื่องมือหลัก

มีการยกกรณีที่ไอร์แลนด์เหนือและไอร์แลนด์ใต้ ที่โคลอมเบีย และที่ซูดานใต้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่มีบริบทไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ไฟใต้ของไทยแต่อย่างใด และที่สำคัญ “จุดจบ” ของปัญหาที่องค์กรชาติตะวันตกทำสำเร็จคือ การเกิดขึ้นใหม่ของ “เขตปกครองพิเศษ” หรือ “เขตปกครองตนเอง”



มีข้อน่าสังเกตคือ “เสธ.เมา” พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ให้ข้อมูลว่า ฝรั่งตาน้ำข้าวเห็นว่าปัญหาไฟใต้ของไทย “เล็กนิดเดียว” ซึ่งนี่คือข้อเท็จจริง เพราะไฟใต้ไม่ได้ใหญ่โตจนเป็นเหตุนำไปสู่ความเป็นปัญหาในระดับ “สากล” และเป็นเรื่องที่รัฐบาล โดยกองทัพทำให้ยุติลงได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาองค์กรจากต่างประเทศ เพียงแค่อาศัยการจัดการภายในเท่านั้น

แต่ปัญหาไฟใต้ระลอกใหม่ที่ผ่านมากว่า 18 ปี รัฐบาลและกองทัพ “ไม่มียุทธศาสตร์ในการต่อสู้ที่ชัดเจน” มีแต่ทำโครงการที่เทอะทะ ไม่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญเป็นการ “รวบอำนาจ” แบบ “รวมงบประมาณ” ไว้ที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพียงหน่วยเดียว

ที่บอกว่า “บูรณาการ” กับหน่วยงานอื่นๆ นั่นเป็นเพียงวาทกรรม ที่สำคัญมีการ “ซุกปัญหาไว้ไต้พรม” มากมาย มีการค้ากำไรจากงบประมาณจนมีเสียงนินทาหนาหูในหมู่ “นายทหารระดับสูง” ใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงระบบของการ “ส่งส่วย” ที่เกิดขึ้นในหน่วย ซึ่งในอดีตไม่เคยมีมาก่อน

เมื่อปัญหาไฟใต้ “เล็กนิดเดียว” แล้วทำไม “คณะพูดคุยสันติสุข” ต้องทำให้ใหญ่โตด้วยการเชื้อเชิญให้ “ไอซีอาร์ซี” เข้ามามีส่วนร่วมดับไฟใต้ หรือไม่รู้ว่านัยะแฝงเร้นที่องค์กรต่างชาติต้องการให้แผ่นดินชายแดนใต้กลายเป็น “เขตปกครองพิเศษ” หรือ “เขตปกครองตนเอง”

โดยข้อเท็จจริงเคยมีการสอบถามคนในชายแดนใต้มาแล้ว พบว่า กว่า 90% ไม่เห็นด้วยหรือไม่ต้องการให้ชายแดนใต้เป็น “เขตปกครองพิเศษ” หรือ “เขตปกครองตนเอง” ดังนั้นจึงต้องถามไปที่ “คณะพูดคุยสันติสุข” ว่าท่าน “คิดดี” และ “คิดรอบคอบ” แล้วหรือที่จะให้ฝรั่งตาน้ำข้าวนำสถานการณ์ไฟใต้ดำเนินไปสู่การเป็นเช่นนั้น

ประเด็นต่อมามีการกล่าวว่า บีอาร์เอ็นก่อเหตุรุนแรงเพื่อต้องการให้ “องค์การสหประชาชาติ (UN)” ส่งกองกำลังเข้ามารักษาความสงบ เรื่องนี้น่าจะเข้าใจไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน UN ไม่ใช้วิธีส่งกองกำลังเข้าไปแก้ไขเหมือนในอดีต แต่จะใช้กฎว่าด้วยมนุษย์ธรรมระหว่างประเทศแทน

ที่สำคัญองค์กรที่ UN ส่งเข้าไปเพื่อทำหน้าที่ควบคุมให้คู่ขัดแย่งยุติการทำสงครามกันคือ “ไอซีอาร์ซี” นั่นแหละ

เห็นหรือยังว่า ทำไมไอซีอาร์ซีจึงเข้ามาตั้งฐานปฏิบัติการในชายแดนใต้ของไทยตั้งแต่ก่อนปี 2559 และเวลานี้ก็ได้ทำหารศึกษาและเก็บข้อมูลทุกอย่างไปเรียบร้อยแล้ว เชื่อเถอะ วันนี้หน่วยงานความมั่นคงของไทยยังมีข้อมูลในพื้นที่ที่ครอบคลุมทุกมิติไม่เท่าที่ไอซีอาร์ซีมีอยู่ด้วยซ้ำ



สุดท้ายการที่ “คณะพูดคุยสันติสุข” เห็นว่า บีอาร์เอ็นก่อความรุนแรงมากเท่าไหร่ มีแต่ยิ่งจะทำให้คนในพื้นที่ไม่เอาด้วยเท่านั้น แถมมีแต่จะทำให้องค์กรต่างชาติเห็นถึงความไร้มนุษย์ธรรมมากขึ้น สิ่งนี่อาจเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเขาใช้วิธีแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แถมผู้คนก็ยังตกอยู่ใต้อาณัติของกองกำลังหรือแนวร่วมมาโดยตลอด

การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่เคยมียุทธศาสตร์แย่งชิงมวลชนมาได้ เสียดายที่ “คณะพูดคุยสันติสุข” มีคนที่เคยเป็นถึงอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 แถมปัจจุบันยังมีแม่ทัพน้อยที่ 4 อยู่ในคณะด้วย แต่กลับอ่านยุทธศาสตร์ของบีอาร์เอ็นในเรื่องการควบคุมประชาชนและการสร้างมวลชนไม่ออก

ถ้าจะดูความเข้มแข็งของมวลชนที่ถูกสร้างด้วยยุทธศาสตร์การเมืองของบีอาร์เอ็นว่าเป็นอย่างไร ควรย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ตั้งแต่มีการชุมนุมของเยาวชนชาย ณ หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และการชุมนุมของเยาวชนหญิงที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ช่วงหลังเดือนรอมฎอน

ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการเชิญนักวิชาการและผู้นำบางคนใน “คณะเจรจาสันติภาพ” ของบีอาร์เอ็นไปแสดงวิสัยทัศน์ผ่านช่องทางการสื่อสารฝ่ายการเมืองของบีอาร์เอ็นมาด้วย หรือพิจารณาเรื่อยไปจนถึงการจัดชุมนุมในงานเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ผ่านมา ซึ่งก็จะเห็นร่องรอยที่อาจจะไปกระตุ้นให้ต่อมสำนึกเกินเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

เชื่อเถอะถ้าสถานการณ์ในชายแดนใต้ยังเอาไม่อยู่ และภายใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยังเละตุ้มเป๊ะ โดยเฉพาะเรื่องที่กำลังถูกแฉอย่างฉาวโฉ่จากกรณีของ “ส.ต.ต.หญิง” ถึง “บัญชีผี” แบบมีผลประโยชน์ที่ “ส่อทุจริต” ดำรงอยู่ทุกกรมกอง ต้องนับว่าเป็นเรื่องยากที่จะสร้างศรัทธาประชาชนให้กลับมาได้

ถ้าสถานการณ์ภายในเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข แถมการสู้รบยังมีแต่พ่ายแพ้ให้แก่บีอาร์เอ็นมาโดยตลอด ในเวทีพูดคุยสันติสุขย่อมไม่มีทางที่รัฐไทยจะได้ถือไพ่เหนือกว่าบีอาร์เอ็นแน่นอน

ส่วนเรื่องการเชื้อเชิญไอซีอาร์ซีเข้ามาร่วมดับไฟใต้ ควรต้องกลับไปคิดทบทวนให้ดีอีกครั้ง หรือถ้าจะเดินต่อก็ต้องเอาบุคคลที่มีความรู้เรื่องสันติภาพและสันติวิธีไปทำหน้าที่บ้าง

ที่บอกเล่ามาไม่ได้ต้องการ “ด้อยค่า” ใคร เพียงแต่ที่ได้อ่านมาหรือได้เห็นมา จึงสรุปไว้ ณ ที่นี้ได้เลยว่า ทั้งหมดทั้งปวงไม่น่าจะใช่วิธีการดับไฟใต้ที่ถูกต้อง

0 ความคิดเห็น