ว่าที่ผู้สมัครเขต 4 “ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์” จากภูมิใจไทย สู้ด้วยนโยบาย ขอคนตรัง “เปลี่ยน”




การเมือง: สัมภาษณ์พิเศษ


"ตรัง เขต1 เปลี่ยนไปแล้ว ก็อยากให้ประชาชนเขต 4 เปิดโอกาสให้พรรคอื่นเข้ามา เกิดการแข่งขันสูงขึ้น พรรคไหนก็ได้ แต่ต้อง เปลี่ยน"

“ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์” ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ตรัง เขต 4 พรรคภูมิใจไทย


ถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่กลุ่มจังหวัดอันดามันร้อนแรงน่าจับตายิ่ง โดยเฉพาะในสมรภูมิการต่อสู่กันระหว่าง 2 พรรคร่วมรัฐบาล ระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” เจ้าของพื้นที่เดิม ขวัญใจคนใต้ กับ “พรรคภูมิใจไทย” ที่เข้ามาทำพื้นที่อย่างหนักหน่วง และทยอยเก็บแต้ม เติมเก้าอี้ ส.ส.ในกลุ่มจังหวัดอันดามันในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้หลายที่นั่ง

เซียนการเมืองวิเคราะห์ตรงกันว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมาถึงเร็วๆ นี้ “ภูมิใจไทย” อาจกวาดที่นั่งในโซนอันดามันได้เกือบทั้งหมดก็เป็นได้

จากกระแส กระสุน รวมไปถึงต้นทุนของ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่คนใต้รับรู้กันดีว่า เริ่มลดน้อยถอยลง ขณะที่พรรคแกนนำอย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” ในทางลับก็ไฟเขียวปล่อยบางพื้นที่ให้ “ภูมิใจไทย” ขับเคลื่อนดำเนินการ

มาที่ จ.ตรัง ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์มาอย่างยาวนาน แม้ครั้งที่ผ่านมา โดน “พรรคพลังประชารัฐ” แบ่งไปได้ 1 เก้าอี้ในเขต 1 แต่ยังคงได้ ส.ส.ใน 2 เขตเลือกตั้งที่เหลือ และในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะกลับมาเป็น 4 เขต เลือก ส.ส.ได้ 4 คนตามเดิม จนเกิดสงครามแย่งพื้นที่ของคนกันเอง

กระทั่งต้องทำโพลตัดสินและผลปรากฏว่า แชมป์เก่าหลายสมัยอย่าง “สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” อดีต ส.ส.ตรังเขต 4 เลขานุการ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร พ่าย “กาญจน์ ตั้งปอง” สท.เมืองกันตัง ที่ได้รับการผลักดันจาก “บ้านโล่สถาพรพิพิธ”

ในส่วนของว่าที่ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทยนั้น แท้จริงก็ไม่ใช่คนไกล เป็นลูกหลาน “บ้านโล่สถาพรพิพิธ” นั่นคือ “เอก" ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์ ผู้มีแม่เป็นพี่สาวแท้ๆ ของ “สมชาย โล่สถาพรพิพิธ”

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “ดิษฐ์ธนิน” ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐในเขต 3 ชนกับ “สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ” ลูกพี่ลูกน้องของตัวเอง และได้คะแนนมาในระดับที่ไม่ขี้เหร่เลยทีเดียว แต่รอบนี้เขาเลือกใส่เสื้อสีน้ำเงินของ “ภูมิใจไทย” และย้ายเขต และเตรียมตัวเตรียมใจ ลงพื้นที่ล่วงหน้ามาหลายปีแล้ว


ช่วงบ่ายแก่ๆ ที่ร้านกาแฟ ว่างเว้นจากการลงพื้นที่ “ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์” ทยอยปอกเปลือก เล่าถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจลงสนามเขต 4 จ.ตรังในครั้งนี้ ในฐานะว่าที่ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย เจ้าของสโลแกน “พูดแล้วทำ”


๐ พื้นที่ จ.ตรัง พรรคภูมิใจไทย ตอนนี้มีผู้สมัครครบทั้ง 4 เขตหรือยัง

ตอนนี้ว่าที่ผู้สมัครที่ชัดเจน มี 1 เขต คือเขต 4 ซึ่งต้องไปประชุมพรรคที่กรุงเทพฯ เดือนละครั้ง เพื่อไปรับนโยบายจากทางพรรค ส่วนเขต 1-3 ตอนนี้มีการไปพูดคุยทาบทามกัน และมีผู้เสนอตัวทำงานกับพรรคภูมิใจจำนวนมากขึ้น เนื่องจากกระแสภูมิใจไทยทั้งประเทศมีกระแสบวก และพรรคมีนโยบายที่ดี เช่น นโยบายปลดล็อกกัญชา ที่ทำได้จริง

ทั้งมีการคาดหวังว่านายอนุทิน ชาญวีระกุล หัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูจากจังหวัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น จ.กาญจนบุรี จ.พัทลุง .สงขลา เขต3 ได้นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ มาเป็นผู้สมัคร หรือที่ จ.ภูเก็ต เขต 3 มีนายเฉลิมรัฐ เก็บทรัพย์

ผมยังเชื่อมั่นว่าต่อไปกระแสข่าวลักษณะว่ามีคนจะย้ายเข้ามาภูมิใจไทยจะมีมากขึ้น จะทำให้คนอื่นๆ ที่มีความตั้งใจจะทำงานการเมือง เริ่มเข้ามาพิจารณาพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นอดีต ส.ส. หรือ คนที่มีความพร้อม เขาคิดว่าภูมิใจไทยน่าจะมีอนาคตในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
 

๐ นโยบายไหนของภูมิใจไทย ที่จูงใจ และดึงคะแนนเสียงคนภาคใต้ได้

เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยประสบความสำเร็จเรื่องการปลดล็อกกัญชา พรรคภูมิใจไทยจะพูดเรื่องนโยบายการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนให้ความเชื่อถือมากขึ้น เราพูดแล้วเราทำจริง

นโยบายต่อไปของพรรคจะมี 1.นโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอน มีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดให้ 30% ของภาษีที่เราจ่ายไปลงใน อปท.ไหน ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้ เช่น ภาคใต้มีทะเลขนาบทั้งสองฝั่ง มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละมหาศาล แต่ภาษีท่องเที่ยวทั้งหมดถูกเก็บเข้าสู่ส่วนกลาง กระทรวง ทบวง กรม ทำหน้าที่ทำงบฯ แจกจ่ายทั่วประเทศ แต่ภาคใต้เสียเปรียบ เพราะพื้นที่เล็ก จำนวน ส.ส.มีน้อย ภาคอื่นๆ พื้นที่ใหญ่ จำนวน ส.ส.มาก โอกาสของการของบประมาณไปจ่ายในพื้นที่ของเขา

ภาคใต้เสียโอกาสมานาน เราเป็นเมืองท่องเที่ยวและจัดเก็บภาษีได้เยอะ แต่เงินกลับไปอยู่ในส่วนกลางและภาคอื่น หากนโยบายนี้ทำได้สำเร็จ พรรคภูมิใจไทยเราบอกได้เลยพูดแล้วทำ ความเชื่อมั่นของประชาชนต้องมาแน่ๆ

กัญชาที่ว่ายากยังทำแล้ว จึงอยากให้เชื่อมั่นว่านโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอนจะเกิดขึ้นแน่นอน และพรรคกำลังเดินไปสู่การเป็นพรรคที่ขายนโยบาย เช่นการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคสีส้มหาเสียงแบบไม่มีรูปผู้สมัคร มีเพียงหมายเลข และนโยบาย เขาได้คะแนนเสียง 30,000 กว่าคะแนน

แสดงว่าประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เขาอยากได้นโยบาย และพรรคภูมิใจจะเป็นพรรคที่ไปถึงจุดนั้น

2. นโยบายพักหนี้ ปลอดดอก 3 ปี ยอดหนี้รวมไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคน แต่ต้องเป็นหนี้ในระบบ ซึ่งเหตุผลที่กำหนดไว้ 3 ปี เพราะผู้ใหญ่ในพรรคมองว่าประเทศไทยประสบปัญหาโควิด-19 มา 3 ปี เศรษฐกิจหยุดชะงัก และอีก 2 นโยบายผมจะขึ้นไปรับในเดือนกันยายนนี้

ก่อนหน้านี้ผมได้ผลักดันนโยบายนำพื้นที่แนวชายหาด 119 กิโลเมตรของ จ.ตรังเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตอนยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตอนนี้ได้มีการทำหนังสือมายังจังหวัดตรังเพื่อประเมิน และหากผ่านความเห็นแล้ว จะมีงบฯ มาวิจัย หากผ่านเกณฑ์ทั้งหมดใน 119 กิโลเมตร ชายฝั่งทะเลตรังจะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นี่ก็เป็นนโยบายส่วนตัวของผมเช่นกัน

ส่วนนโยบายยางพาราและปาล์ม เมื่อครั้งที่ผมสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ พรรคได้บอกให้นำนโยบายเกี่ยวราคายางมาหาเสียง แต่หลังการเลือกตั้ง ทำไม่ได้ตามที่หาเสียงไว้ ผมคงจะไม่มีหน้าไปตอบชาวบ้าน จึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ผมต้องย้ายมาอยู่ภูมิใจไทยในครั้งนี้ ทั้งที่พลังประชารัฐยังมีโอกาสในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหน้า ซึ่งมีอยู่หลายปัจจัย

เรื่องนโยบายผมคิดว่า ถ้าเราอยู่กับเขาไม่ได้ เขาไม่เห็นคุณค่า เขาไม่ให้เรามีบทบาทขับเคลื่อน เราก็ไม่มีโอกาสที่จะไปเดินการเมืองเพื่อจะเป็นที่รู้จักในเขต

เรื่องเขตเนื่องจากว่ามีการเพิ่มทีหลัง เขต 4 ประกอบด้วย อ.ย่านตาขาว 4 ตำบล อ.กันตัง และ อ.สิเกา การลงสมัครครั้งที่แล้วในนามพรรคพลังประชารัฐ ในเขต 3 จะมีด้วยกัน 4 อำเภอ คราวนั้น ผมลงพื้นที่หนักๆ คือ อ.หาดสำราญ กับ อ.กันตัง ส่วน อ.ปะเหลียนเป็นบ้านเกิดของแม่ผม


ผมคิดว่าตอนนั้นมีเวลาแค่ 4 เดือน หากบริหารจัดการไม่ดีจะเดินไม่ทัน ซึ่ง 4 อำเภอนั้นมีประชากร จำนวน 2.5 แสนคน จึงแบ่งเดิน ย่านตาขาวเป็นบ้านเกิดของผมจึงไม่ได้ลงพื้นที่มาก มารุกที่ อ.หาดสำราญ กับ อ.กันตัง ตอนนั้นเป็นการเดินปฎิรูปหรือปฏิวัติการเลือกตั้งผู้แทน

ก่อนหน้านี้หากพูดถึงการเลือกตั้งจะมีการขึ้นป้ายหาเสียง โบกมือของผู้สมัคร

ตอนนั้นผมแข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งผมเป็นคนในตระกูล เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และผมก็รู้ว่าคนในตระกูลโล่ฯ ของผม เขาทำการเมืองกันแข็งเกร่ง ผมต้องขยัน เอาความตั้งใจมาแลก จึงเป็นที่มาของการเดิน เดิน เดิน จนกระแสขึ้นมา เป็นที่รู้ในกันตังและหาดสำราญ มีกันตังเป็นตัวหลัก มีประชากร 80,000 คน 4 ตำบลของย่านตาขาว ประชากร 28,000 คน สิเกาทั้งอำเภอ ประชากร 28,000 คน

ฉะนั้น กันตังผมเป็นที่รู้จักแล้ว พอมาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงทำให้เดินได้ง่ายขึ้น และผมเดินโดยใช้แนวทางเดิมมาเป็นปีๆ แล้ว คนกันตังลึกๆ เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว และหากผมตั้งใจจริง ไปพบปะเขา เขาจะพิจารณาเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น


๐ ในเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัว เครือญาติ และประเด็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรค จะแยกความสัมพันธ์ตรงนี้กันอย่างไร

ผมมองว่าแต่ละคนก็ต้องทำบทบาทและหน้าที่ของพรรค น้าชายของผม (สมชาย โล่สถาพรพิพิธ) ผมก็เข้าใจท่าน เพราะ ส.ส.สุณัฐชา เขาก็เป็นผู้แทนและเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย บทบาทของพรรค เขาก็ต้องขับเคลื่อนให้ชัดเจน

ถ้าผมตอบในฐานะที่ลงสมัครพรรคภูมิใจไทย ผมก็ต้องขับเคลื่อนให้ดีที่สุด แพ้หรือชนะเป็นอีกเรื่อง ผมคิดว่าหากผมทำดีที่สุด เชื่อว่า พรรคจะให้ความสำคัญกับผมในหลายๆ บทบาทในครั้งต่อไป


๐ ในการเลือกตั้งนอกจากตัวผู้สมัคร นโยบายพรรค สรรพกำลังอื่น ที่สำคัญคือการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ของพรรคด้วย

ตอนนี้ นอกจากที่ผมต้องไปประชุมกับพรรคเดือนละครั้ง ยังต้องมีการประชุมกลุ่มหรือการประชุมย่อย ซึ่งจัดที่ จ.นครศรีธรรมราช พรรคให้ความสำคัญ ในการประชุมย่อยเขาก็คาดหวัง โดยจะพูดถึงรายละเอียดหลายๆ เรื่อง เช่น การวางแผน การเดิน การประสานกับรัฐมนตรีหากมีกิจกรรมที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนา หรือสร้างกระแสการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ก็ให้ทำเรื่องส่งไปเพื่อพิจารณา

ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐมนตรีใดๆ ก็จะไปลงพื้นที่ เพื่อสร้างความนิยมให้พรรค นี่เป็นโอกาส
 

๐ เขต 4 ตรัง ภายใต้ความรับผิดชอบของ ดร.นาที รัชกิจปราการ และ นายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ ท่านให้ความสำคัญมากแค่ไหน

ชัดเจนครับ (เสียงหนักแน่น) ตอนนี้ผมยังได้ร่วมประชุมกลุ่มเล็ก ซึ่งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเลือกตั้งแล้ว อยากให้มองย้อนหลังกับไป 4-5 เดือนก่อน รัฐมนตรีของภูมิใจไทย เช่น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ นางกนกวรรณ วิลาวรรณ จะลงมาจังหวัดตรังบ่อยมาก เกือบจะทุกเดือนด้วยซ้ำ ตรงนี้พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า จ.ตรัง ก็เป็นเป้าหมายของพรรค


๐ ความยาก ง่าย ของเขต 4 ตรัง เป็นอย่างไร

ไม่ยากครับ ความท้าทายคือตอนนี้เนื่องจากว่าเขต 4 มีอำเภอสิเกา ซึ่งถือว่าใหม่สำหรับผม ฉะนั้นอยู่ที่ว่าผมจะมีเวลาลงพื้นที่สิเกามากน้อยแค่ไหน หากผมนำแนวทางของกันตังไปใช้กับสิเกา ก็เชื่อว่าต้องได้ใจคนสิเกา


๐ เดิมทีที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์ จ.ตรังเป็นเหมือนเมืองหลวงของประชาธิปัตย์ มีอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และเป็นประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน รู้สึกเป็นอุปสรรคไหม

การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นคำตอบแล้ว ในหลายจังหวัดและเขต1 ตรัง ก็ได้นายนิพันธ์ ศิริธร จากพลังประชารัฐ ซึ่งก็สะท้อนออกมาด้วย ตอนนี้ ผมลงพื้นที่หาเสียงก็ได้บอกกับชาวบ้านว่า ในหลายจังหวัดมีจำนวน ส.ส.หลายคนจากหลายพรรคการเมือง ซึ่ง ส.ส.จะแย่งกันทำพื้นที่ แย่งกันพัฒนา เพื่อต้องการขยายฐานให้ใหญ่ขึ้น การจะใหญ่ได้ต้องได้ใจประชาชน นี่เป็นโอกาสและเป็นข้อดีของการแข่งขัน

คำว่า “เปลี่ยน” ผมใช้เป็นหัวใจสำคัญของการหาเสียง โดยเขต 1 มีการเปลี่ยนไปแล้ว จึงอยากให้ประชาชนเขต 4 เปิดโอกาสให้พรรคอื่นที่เข้ามา เกิดการแข่งขันสูงขึ้น พรรคไหนก็ได้แต่ต้อง “เปลี่ยน”


๐ ภูมิใจไทยเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่ จ.ตรัง มีการพูดถึงว่า ถูกสาปเรื่องความเจริญไว้นาน ซึ่งต่างจากจังหวัดอื่นในฝั่งอันดามันที่เขามีความเจริญในมิติของภาคท่องเที่ยว ตรงนี้จะทำอย่างไร

ด้วยบทหน้าที่ของผู้แทน ต้องไปว่ากันด้วยเรื่องของกฎหมาย ซึ่งผู้แทนสะท้อนความต้องการไปยังรัฐมนตรีได้ ยกตัวอย่างระหว่างพัทลุงกับตรัง ตรังมีทรัพยากรธรรมชาติทั้งทะเล เขา น้ำตก คำขวัญ จ.ตรัง ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยว แต่เราไม่มีโอกาสประชาสัมพันธ์หรือผลักดันออกมาขาย ให้เป็นเรื่องระดับประเทศ หรือ ระดับโลก เรายังเป็นเมืองรอง

ผมตั้งใจว่าหากได้เป็นผู้แทน ภายใน 10 ปีจะดันตรังให้เป็นท่องเที่ยวเมืองหลัก หากเราได้เรื่องภาษีบ้านเกิดเมืองนอนมาด้วย ผมคิดว่าเมืองรองจะเติบโตเป็นเมืองหลักได้ และตอนนี้เรื่องการท่องเที่ยวได้ผลักดันกิจกรรมที่เกี่ยวกับภูเขา น้ำตก เช่น ปั่นจักรยาน รวมทั้งการขยายถนนจากเส้นที่ผ่านน้ำตกสายรุ้ง–น้ำตกโตนเตะ (หรือ ถนนเส้นบ้านละมอ-ปะเหลียนใน)

ตอนนี้ได้งบประมาณมาแล้ว ที่ได้เพราะภูมิใจไทยดูแลทั้งคมนาคมและท่องเที่ยว ฉะนั้นการบูรณาการจะง่าย

ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ ท่านก็ได้เห็น จ.ตรังแล้ว เพราะท่านมาบ่อย และตอนนี้ผมเริ่มประชาสัมพันธ์นโยบายพรรค 2 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น และผมเห็นปัญหาของชาวบ้าน ต.นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง เขามีปัญหาเรื่องอาชีพประมง เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ซึ่งชาวบ้าน ต.นาเกลือ เขาใช้ชีวิตกับทะเล กับอาชีพประมง จึงอยากให้มีการใช้กฎหมายหรือนโยบายที่เขาจะได้ทำมาหากิน แบบประมงยั่งยืน
 

๐ ในการแข่งขันทางการเมือง มีการพูดคุยกันว่าคุณดิษฐ์ธนินมาลงสมัครในเขต 4 ทั้งที่ไม่ใช่คนกันตัง

จริงๆ แล้วการพูดว่าไม่ใช่คนพื้นที่ มันควรจะเป็นอะไรที่เขตใหญ่มาก ไปมาไม่ถึงกัน ควรจะเป็นคำพูดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันการสัญจรสะดวก เช่น การสัญจรจากย่านตาขาวมากันตัง ผ่านถนนทุ่งค่าย–ป่าเตียว ระยะทางแค่ 12 กิโลเมตร ในขณะเดียวกันผมเดินทางจากย่านตาขาวไป อ.สิเกา ใช้เวลาเดินทางแค่ 25 นาที


ตอนนี้สายทุ่งค่ายป่าเตียวระยะทาง 12 กิโลเมตร กว้าง 9 เมตร ผมได้นำเรื่องนี้บอกกับผู้ใหญ่ในพรรค ขอให้ขยายเป็น 12 เมตร และตอนนี้งบประมาณปี 2566 ผ่านสภาฯ แล้ว ได้งบมา 30 ล้านบาทเพื่อขยายถนน

นี่ผมยังเป็นแค่ว่าที่ผู้สมัคร ยังไม่ใช่ผู้แทนเลย แต่สิ่งที่ผมบอกไปยังพรรคฯ เขาก็เห็นถึงความสำคัญ เห็นโอกาส และคุณอยู่กับคนกันตังมากี่สิบปี? แล้วผลเป็นอย่างไร?


๐ ระหว่างคู่แข่งที่ชื่อ กาญจน์ ตั้งปอง กับ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ประเมินคู่แข่งขันสองคนนี้ไว้อย่างไร

ผมเจอใครก็ได้ แต่ผมมองการระหว่างสองคนนี้ มันมีการขึ้นป้ายคู่ สท.กาญจน์ขึ้นป้ายคู่ ส.ส.สุณัฐชา คุณสมบูรณ์ขึ้นป้ายคู่ท่านชวน

ผมมองประเด็นเดียวว่า 2 คนนี้ ใครที่เอาป้ายลงแล้วเกิดความเสียหายกับพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด ผมมองว่านี่เป็นองค์ประกอบที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องคิดด้วย

ในส่วนของผมเจอกับใครก็ได้ เมื่อผมคิดมุมมองนี้ ทำให้ผมคาดเดาได้ว่าจะต้องเจอกับใคร ซึ่งผมเก็งคู่ต่อสู้ไว้แล้ว ส่วนเรื่องความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์ก็มีเข้าหูทุกวัน ผมได้นำจุดนี้ว่าวิเคราะห์คู่ต่อสู้ ซึ่งประชาธิปัตย์เขาก็มีแนวทางเดินของเขาอยู่ ส่วนผมก็ต้องเดินในแนวทางของภูมิใจไทย พรรคก็ให้การซัพพอร์ตผม ขอให้ขยัน ตั้งใจ จริงใจกับชาวบ้าน ให้ได้ใจชาวบ้านมา


๐ ความขุ่นเคืองทางการเมืองในอดีตภายในครอบครัวของคุณดิษฐ์ธนินกับตระกูลโล่สถาพรพิพิธ สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร

ผมก็พยายามเข้าใจน้าชาย (นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ) ซึ่งเขาก็ต้องทำบทบาทในฐานะพ่อเพื่อลูกสาวของเขาด้วย ซึ่งผมไม่ได้มีประเด็นอะไร และผมก็ได้คุยกับน้าสมชายอยู่บ้าง ส่วนความสัมพันธ์กับญาติคนอื่นๆ เช่น กับนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ว. ก็ดีกันครับ

ผมคิดว่าความเคลื่อนไหวของผมมันเป็นประโยชน์กับญาติๆ ผมหลายคน ซึ่งผมเดินหาเสียงผมก็บอกกับชาวบ้านว่าผมเป็นหลานของนายก อบจ.ตรัง ซึ่งเราขายมุมมองอีกมุมว่า หากตอนนี้เรามีนายบุ่นเล้ง เป็นนาย กอบจ.แล้ว หากหลานของนายก อบจ.ได้เป็น ส.ส.ด้วย การทำงานในระดับจังหวัดและระดับประเทศจะไปในทิศทางเดียวกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]