BRN ประณามการอุ้มฆ่าสมาชิก ศพลอยกลางน้ำโกลก หวั่นกระทบเวทีพูดคุยสองฝ่าย





ชายแดนใต้: BRN ออกแถลงการณ์ในนามโฆษกกลุ่ม ประณามความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ล่าสุดที่พบศพ "ยะห์รี ดือเลาะ" ในแม่น้ำสุไหงโก-ลก สมาชิกกลุ่ม ที่ถูกอุ้มหายจากมาเลเซีย ชี้ลดทอนความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกระบวนการสร้างสันติภาพ เรียกร้องให้ยุติการละเมิดต่างๆ ทั้งหมด

20 ตุลาคม 2565 - เพจ Patani Notes รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม BRN ได้ออกแถลงการณ์ในนามของ "อับดุล การิม คาลิด" โฆษกกลุ่ม BRN ประฌามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขากล่าวอ้างกรณีพบศพ "ยะห์รี ดือเลาะ" หรือ "ซาฮารี บิน อับดุลลา" วัย 42 ปี ลอยขึ้นมาตามกระแสน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลกในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

แถลงการณ์ BRN ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน มีผู้นำตัว "ยะห์รี ดือเลาะ" ออกจากเมืองรันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนมาเลเซีย-ไทย ต่อมาเชื่อว่าได้สังหาร "ยะห์รี ดือเลาะ" อย่างโหดร้าย เห็นได้จากบาดแผลที่คอและบนร่างกาย และคาดว่า มีการทรมานอย่างหนักก่อนเสียชีวิต

Patani Notes รายงานว่า แถลงการณ์ BRN ในนามของอับดุล การิม คาลิด โฆษกกลุ่ม BRN ยังประนามความรุนแรง อีกหลายเรื่อง เช่น นอกจากการอุ้ม ฆ่า จับกุมควบคุมตัวที่ละเมิดกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการบังคับจัดเก็บดีเอ็นเอจากเยาวชนและเด็ก

เหตุการณ์ต่างๆ รวมถึงการสังหารนายยะห์รี ที่เป็นเหตุการณ์ล่าสุด ได้ลดทอนความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งกำลังมีการพูดคุยระหว่างรัฐบาลและกลุ่ม BRN ที่จะเข้าสู่รอบที่ 6 แถลงการณ์เรียกร้องว่า ต้องยุติการละเมิดต่างๆ ดังกล่าวมาทั้งหมดเพื่อจะปูทาง "ที่ปลอดภัยและยั่งยืน" ให้แก่การสร้างสันติภาพในพื้นที่


Patani Notes รายงานว่า เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพนั้น แถลงการณ์ฉบับนี้ระบุว่า "BRN ต้องการข้อตกลงทางการเมืองที่มีศักดิ์ศรี ที่จะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนและแท้จริง อย่างไรก็ตาม เป็นเวลาเกือบ 3 ปีมาแล้ว ที่ผู้นำและตัวแทน BRN ทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศต่างยังไม่ได้รับหลักประกันในเรื่องความปลอดภัยหรือการคุ้มครองไม่ดำเนินคดี”

ในเวลานี้จึงมีคำถามใหญ่ว่า "ตัวแทน BRN จะดำเนินการในเรื่องการหารือสาธารณะอย่างไร หากยังไม่มีการให้หลักประกันในเรื่องความมั่นคงและปลอดภัย



Patani Notes ยังกล่าวถึงเพจ Benar News ว่าได้รายงานอ้างนายอานัส อับดุลเราะมาน หัวหน้าคณะพูดคุยของ BRN ยืนยันเรื่องนายยะห์รีเป็นสมาชิกกลุ่ม พร้อมกับระบุว่า การพิสูจน์ทราบตัวตนของยะห์รีต้องใช้การตรวจดีเอ็นเอยืนยัน ข่าวของเบนาร์นิวส์ยังมีรายละเอียดว่าเขาถูกกลุ่มบุคคลใช้รถ 3 คันเข้าอุ้มตัว

ขณะที่ศพของเขาส่อเค้าถูกกระทำอย่างรุนแรง มีทั้งร่องรอยที่อาจเป็นการช็อตด้วยไฟฟ้าและการรัดคอ นายอานัสกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า คิ้วข้างหนึ่งของยะห์รีหายไปรวมทั้งหูข้างหนึ่ง เสื้อผ้าที่สวมใส่ผิดไปจากชุดที่ใส่ในวันนั้นและยังใส่นาฬิกาที่ไม่ใช่ของตนเองด้วย

ก่อนหน้านี้สำนักสื่อ Wartani รายงานข่าวไว้ว่า ศพของนายยะห์รีที่พบในแม่น้ำสุไหงโก-ลกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ส่อสภาพการถูกทำร้ายจนญาติจำแทบไม่ได้ เขาถูกโกนหัวและอยู่ในชุดเสื้อผ้าที่ไม่ใช่ของตนเอง รายงานระบุด้วยว่า นายยะห์รีถูกลักพาตัวโดย “การปฎิบัติการร่วมของบุคคลไม่ทราบฝ่ายสองประเทศ”

Patani Notes รายงานด้วยว่า ขณะที่แถลงการณ์ในนามโฆษกกลุ่มประนามการสังหารและการใช้ความรุนแรงว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ แต่เบนาร์นิวส์อ้างอานัส อับดุลเราะมานที่เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยของกลุ่มกล่าวว่า เขาเองยังไม่ชัดเจนว่าการสังหารยะห์รีเป็นฝีมือใครและไม่แน่ชัดด้วยว่าต้องการอะไร

อีกด้านเบนาร์นิวส์ก็อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลไทยยืนยันว่า "ไทยไม่ได้ทำ" แต่เปิดเผยว่า ยะห์รีเคยถูกควบคุมตัวสอบปากคำมาแล้วก่อนที่จะเดินทางไปมาเลเซีย เบนาร์นิวส์อ้างแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ไทยสงสัยว่า เรื่องนี้อาจเป็นฝีมือคนภายใน BRN ที่ไม่ต้องการเห็นการพูดคุยสันติภาพ

ข่าวของเบนาร์นิวส์ยังอ้างแหล่งข่าวอีกแหล่งที่ใกล้ชิดกับ BRN ระบุว่า ยะห์รีเป็นหัวหน้ากลุ่มยุวชนของ BRN ในนราธิวาสและอาศัยอยู่ในมาเลเซียมาได้ 2-3 ปีแล้ว



Patani Notes ระบุว่า ข่าวการอุ้มฆ่าจากฝั่งมาเลเซียถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปรากฎต่อสาธารณะ แม้จะมีรายงานข่าวบางแหล่งระบุว่า เคยมีการอุ้มในลักษณะใกล้เคียงกันนี้เกิดขึ้นมาแล้ว เหตุการณ์อุ้มฆ่านายยะห์รีนับเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่มความตึงเครียดให้พื้นที่เป็นกรณีล่าสุด จากที่ก่อนหน้านี้มีเหตุรุนแรงและการกดดันการใช้เสรีภาพในการแสดงออกมาแล้วหลายเรื่อง

ในขณะที่อีกด้านการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายยังคงเดินหน้า แต่ในสภาพที่ผสมผสานไปด้วยสภาพที่ไม่มีความคืบหน้าบวกกับการเลื่อนการพบปะทั้งนี้ภายใต้การอำนวยความสะดวกของมาเลเซีย

Patani Notes รายงานว่า ในเรื่องของความรุนแรงนี้ กลุ่มด้วยใจ กลุ่มสิทธิมนุษยชนในพื้นที่รายงานเอาไว้ด้วยว่า หลังรอมฎอนสันติสุขมีเหตุการณ์รุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการวิสามัญฆาตกรรม ซึ่งเฉพาะเดือนรกฎาคม เดือนเดียว มีถึง 7 ราย และถ้านับตั้งแต่ต้นปีก็คือ 14 ราย

ขณะที่การก่อเหตุรุนแรงก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคม มีการลอบวางระเบิดตามเป้าหมายเศรษฐกิจโดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อถึง 17 จุดทั่วพื้นที่

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]