ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ายังไม่หันกลับไปแก้ที่ต้นเหตุของปัญหา ก็ยากที่ "ไฟใต้" จะดับลงได้




บทความ โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก


ช่วงที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค รับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ได้แถลงนโยบายเกี่ยวกับภารกิจดับไฟใต้ไว้ว่า จะไม่ใช้ความรุนแรง แต่จะเน้นใช้สันติวิธีเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ โดยเฉพาะการพุดคุยกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น

จากนั้นไม่กี่วัน กองกำลังติดอาวุธและแนวร่วมได้ก่อเหตุขึ้นมากมาย ที่ต้องบันทึกเป็นพิเศษและเป็นข่าวใหญ่ไปแล้ว เช่น ลอบวางระเบิดและเผาปั๊มน้ำมัน 2 แห่งที่ จ.ปัตตานี ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยอมรับเป็นฝีมือบีอาร์เอ็น พร้อมชี้ว่าเป็นการแสดงตัวตนและส่งสัญญาณถึงบรรดาผู้นำโลกที่มาร่วมประชุมเอเปก

อีกทั้ง ยังมีการก่อเหตุต่อคนไทยพุทธที่เข้าไปหาของป่าเสียชีวิต 1 ศพ และบาดเจ็บ 2 รายที่ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ต่อด้วยการสูญเสีย ร.อ.ชินดนัย แร่ทอง นายทหารฝ่ายยุทธการที่ถูกลวงให้เข้าพื้นที่สังหารด้วยระเบิดที่ จ.นราธิวาสเช่นกัน

ตามด้วยการปิดล้อมจับกุมกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นที่มีหมายจับคดีเผาปั๊มน้ำมันติดตัวด้วย เหตุเกิดที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งนำไปสู่การสูญเสียผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่ถูกเชิญตัวให้ไปช่วยเจรจา แล้วจบลงด้วยการวิสามัญฯ โจรใต้ได้ในที่สุด

จากนั้น 22 พฤศจิกายน 2565 มีคาร์บอมบ์แฟลตตำรวจที่ จ.นราธิวาส ทำให้ต้องสูญเสีย ร.ต.อ.สุทธิรักษ์ พันธนิยะ รองสารวัตรงานป้องกันปราบปราม ปฏิบัติงานจราจรและความมั่นคง สภ.เมืองนราธิวาส และมีผู้บาดเจ็บอีกราว 50 ราย ล่าสุด มีการปะทะที่ อ.จะแนะ วิสามัญฯ โจรใต้ที่มีหมายจับเพียบได้ 1 ศพ ที่เหลือฝ่าวงล้อมหนีไปได้



มีประเด็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยคือ โจรใต้ที่เพิ่งถูกวิสามัญฯ มีหมายจับคดีการก่อการร้ายที่กรุงเทพฯ 1 คดี และหมายจับก่อการ้ายในชายแดนใต้ถึง 3 คดี ที่สำคัญยังเป็นฝ่ายอูลามาในพื้นที่ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มี นายดุลเลาะ แวมะนอ อดีต ผบ.กองกำลังบีอาร์เอ็น เป็นผู้จัดตั้งและรับผิดชอบ

เหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือฝ่ายบีอาร์เอ็น อันมีนัยว่า นอกจากเพื่อต้อนรับแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คนใหม่แล้ว ยังต้องการส่งสัญญาณให้เห็นถึงการปฏิเสธนโยบายที่ประกาศล่าสุดว่า ไม่ใช้ความรุนแรง แต่มุ่งเน้นใช้สันติวิธีของ พล.ท.ศานติ อย่างไม่ต้องสงสัย

เคยมีการป่าวร้องตั้งแต่สมัย “แม่ทัพเดฟ” พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ต่อด้วย “แม่ทัพเกรียง” พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือกว่า 4 ปีมาแล้ว ว่า สถานการณ์ไฟใต้มีแต่ดีขึ้นเรื่อยๆ และนโยบายที่ใช้ก็เดินมาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะการให้คนในพื้นที่ช่วยชี้เบาะแสนำไปสู่การปิดล้อมที่ส่วนใหญ่จบลงด้วยการวิสามัญฯ

ดังนั้น เมื่อคิดว่าสถานการณ์ดีขึ้น นโยบายที่ใช้เดินมาถูกทางตลอด นี่หรือเปล่าที่ทำให้มาตรการเข้มข้นกลับผ่อนคลายลง นำไปสู่ความหละหลวมจนบีอาร์เอ็นก่อเหตุใหญ่ได้ไม่ยากเย็น ซึ่งหลังคาร์บอมบ์กลางเมืองนราธิวาส จึงต้องจับตาเมืองท่องเที่ยวและการค้าอื่นๆ กันต่อไป โดยเฉพาะกับเมืองหาดใหญ่และเมืองสะเดาใน จ.สงขลา

จึงขอแสดงความเสียใจมาด้วย ณ ที่นี้ต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทุกราย อีกทั้งไม่ขอตำหนิผู้เกี่ยวข้องกรณีคาร์บอมบ์ที่นราธิวาส เพราะโดยธรรมชาติแฟลตตำรวจนอกจากจะเป็นเป้าหมายสำคัญแล้ว ยังเป็นที่พักของคนหมู่มากที่ต้องเข้าออกได้ตลอดเวลา ความเข้มงวดก็ต้องหย่อนยานบ้างเป็นเรื่องธรรมดา

หรือใครที่ชอบโทษจุดตรวจและจุดสกัดทำไมจึงปล่อยให้คนร้ายนำรถยนต์ที่ประกอบเป็นคาร์บอมบ์ผ่านไปได้ง่ายๆ ประเด็นนี้ขอบอกว่างานจุดตรวจและจุดสกัดเป็นการ “สุ่มตรวจ” และสัมพันธ์กับ “งานการข่าว” อย่างแยกไม่ออก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเวลานี้ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ล้มเหลวในงานการข่าวมาโดยตลอด

อีกทั้งไม่ปฏิเสธว่าการที่ พล.ท.ศานติ มีคำสั่งให้รื้อประวัติย้อนหลังรถยนต์ 5 ปี ซึ่งวิธีนี้เป็นการป้องกันเหตุ ไม่ใช่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่สำคัญการสอบสวนหลังเกิดเหตุต้องรอบคอบ ไม่อย่างนั้นอาจจับได้ “แพะ” เพราะวิสัยมุสลิมชายแดนใต้มักซื้อขายรถยนต์ด้วยการ “โอนลอย” แถมยังขายต่อกันไปเรื่อยๆ ด้วยหลักฐานแบบนั้น



ที่เขียนมาเพียงต้องการชี้ให้เห็นปรากฏการณ์หลัง พล.ท.ศานติ เข้ามารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ว่าเกิดอะไรขึ้นในชายแดนใต้บ้าง และเพื่อที่จะถามท่านว่า ในเมื่อการดำเนินนโยบายสันติวิธีและไม่ใช้ความรุนแรงยังมีการสูญเสียมากมายขนาดนี้ แล้วต่อไป กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าที่จะลดความรุนแรงได้อย่างไร

สุดท้ายอยากกระตุก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบดับไฟใต้ให้กลับมามองที่ “ต้นเหตุ” ของปัญหา โดยเฉพาะกับคำพูดของนายดุลเลาะ แวมะนอ แกนนำบีอาร์เอ็นที่ว่า ขบวนการมีต้นทุนทางสังคมที่ได้เปรียบฝ่ายรัฐไทยอยู่ 3 ข้อคือ

1.หมู่บ้านแยกกัน หมายถึง ไทยมุสลิมอยู่ส่วนมุสลิม ไทยพุทธอยู่ส่วนไทยพุทธ ซึ่งใช้ปลุกระดมได้ตลอด 2.การศึกษาแยกกัน เด็กมุสลิมเรียนโรงเรียนมุสลิม เป็นการแบ่งแยกตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องสำคัญๆ ในสังคมพื้นที่ นำไปสู่การบ่มเพาะและปลูกฝังให้เห็นดีเห็นงามกับการแยกดินแดนในที่สุด และ 3.ภาษาและศาสนาแยกกัน ที่วันนี้ได้เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องอัตลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า เขากับเราแปลกแยกกัน

และสุดท้ายนายดูลเลาะ แวมะนอ ยังบอกกับสมาชิกบีอาร์เอ็นและคนที่เขาได้ทำการบ่มเพาะว่า “พวกเรากำลังต่อสู้กับซีแย เราสู้ไปเรื่อยๆ สู้แบบนี้สู้ได้เป็น 100 ปี และที่สุดบีอาร์เอ็นจะต้องชนะอย่างแน่นอน

สุดท้ายการที่บอกว่าสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ และนโยบายเดินมาถูกทางแล้วนั้น อยากให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กลับไปดูการทำพิธีศพแนวร่วมบีอาร์เอ็นที่มีเยาวชนคนหนุ่มสาวไปร่วมจำนวนมาก มีการทำให้โจรที่ตายกลายวีรบุรุษในความรู้สึกของมุสลิม

สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็น “หายนะ” ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้ายังมุ่งเน้นเอาแต่แก้ที่ปลายเหตุ ไม่มุ่งมั่นหันกลับไปแก้ไขที่ต้นเหตุ หรือแก้ 3 ข้อดังที่ว่ามาแล้ว เชื่อว่าความสูญเสียจากการก่อเหตุร้ายของบีอาร์เอ็นจะยังไม่จบสิ้นง่าย และโดยเฉพาะวินาศกรรมใหญ่ๆ อย่างคาร์บอมบ์ก็อาจเกิดขึ้นได้อีก

ส่วนจะเกิดขึ้นที่ไหน กับใคร และในเวลาใดเป็นเรื่องที่ยากรับรู้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]