“ไทย” และ ”อาเซียน” ต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในการขยายอำนาจทางทหารของ 'สหรัฐอเมริกา' ที่มีผลกระทบต่อจีน






บทความ โดย.. เมือง ไม้ขม


แม้ว่า สงครามระหว่าง ”รัสเซีย” กับ ”ยูเครน” จะอยู่ห่างจาก ”อาเซียน” และไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ”ประเทศไทย” แต่สิ่งที่ประเทศไทยและคนไทย รวมทั้งประเทศในกลุ่มอาเซียนและประชาชนในกลุ่มของประเทศอาเซียนต้องติดตามอย่างรู้เท่าทัน นั่นคือ ผู้ที่ชักใยอยู่เบื้องหลังสงครามทั้ง 2 ประเทศ และเป็นผู้ที่กำหนดเกมของการทำสงครามให้ยืดเยื้อ คือประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชักนำประเทศต่างๆในสหภาพยุโรปเข้ามาเป็นคู่สงครามกับรัสเซีย ในการช่วยเหลือยูเครน ทั้งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยี การเงิน และ อื่นๆ

พฤติกรรมของ ”สหรัฐอเมริกา” ต่อปัญหาความขัดแย้งใน “รัสเซีย-ยูเครน” อาจจะเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศในเอเชีย ซึ่งรวมประเทศในกลุ่มอาซียน ที่มาจากความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ ”จีน” ต้องการให้กลับคืนไปสู่ความเป็น ”จีนเดียว” ในอนาคต แต่สหรัฐอเมริกากลับใช้วิธีการสนับสนุนให้ไต้หวันทำการแข็งข้อ ประกาศตัวเป็นประเทศอิสระ โดยมีสหรัฐอเมริกาช่วยเหลือในด้านความมั่นคง เช่นการขายอาวุธยุทโธปกรณ์และด้านเทคโนโลยี และอื่นๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กองทัพของไต้หวัน เพื่อใช้ต่อสู้กับประเทศจีน ซึ่งจีนและประเทศที่เป็นกลาง เห็นว่า ไม่ถูกต้อง และเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศจีน

นอกจากเรื่องของไต้หวันในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากที่ “โจ ไบเดน“ ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บทบาททางทหารของสหรัฐอเมริกาในด้านของทะเลจีนใต้เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยที่สำคัญ โดยการอ้างสิทธิเสรีภาพ ในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ที่ต้องเป็นเสรี และอ้างปัญหาข้อพิพาทในเรื่องของดินแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างประเทศต่างๆ กับจีน เป็นข้ออ้าง

โดยมีการส่งเรือรบเข้าลาดตระเวนใน “ทะเลจีนใต้” แบบถี่ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รวมทั้งการส่งกองเรือรบเข้ามาป้วนเปี้ยน เพื่อแสดงแสนยานุภาพในทะเลชั้นนอก และหลายต่อหลายครั้งที่มีการส่งเครื่องบินรบแบบต่างๆ เข้ามาบินโฉบเฉี่ยวใกล้กับน่านฟ้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทั้งหมดคือการยั่วยุ เพื่อให้เกิดข้อพิพาท เพื่อไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง

ดังนั้น กรณีไต้หวัน และกรณีข้อพิพาทในดินแดนทางทะเลจีนใต้ เป็นอีกกรณีที่ ”สหรัฐอเมริกา” ถือโอกาสในการเข้าแทรกแซง และทำให้เกิดความขัดแย้ง ด้วยกำลังทหารเกิดขึ้น ที่ไม่แตกต่างกับสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” เพียงแต่เปลี่ยนจาก”รัสเซีย-ยูเครน” มาเป็น “สาธารณรัฐประชาชนจีน” กับ ”ไต้หวัน” และ”ประเทศเล็กๆ ที่อยู่ใน”ทะเลจีนใต้” ซึ่งมีข้อพิพาททางดินแดนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ใช้วิธีการเจรจา ทำข้อตกลงกันได้ โดยไม่ต้องมีการให้ความรุนแรง หากไม่มีสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซง

กรณีการขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อเดินมกราคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาเยือนประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีการลงนามในข้อตกลงขอใช้ฐานทัพของประเทศฟิลิปปินส์ทั้ง 5 แห่งเพื่อทางการทหาร ซึ่งในกรณีนี้ เป็นที่แน่ชัดว่า หากเกิดความขัดแย้งขึ้น ระหว่าง “จีน” กับ ”สหรัฐอเมริกา" ฐานทัพเรือทั้ง 5 แห่งในประเทศฟิลิปปินส์ ก็จะเป็นฐานทัพ ที่สหรัฐอเมริกาใช้ในการทำสงครามในทะเลจีนใต้



และประเด็นที่สำคัญ ที่สหรัฐอเมริกาพยายามเป็นอย่างยิ่ง คือการเจรจากับผู้นำของประเทศไทย เพื่อขอเช่า หรือขอใช้สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง ของประเทศไทย เพื่อภารกิจด้านการทหารและความมั่นคง ซึ่งแม้ว่า ไทยยังไม่มีคำตอบในเรื่องดังกล่าว แต่ไทยก็เป็นประเทศที่จีนจับตามองด้วยความไม่ไว้วางใจเช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ และสำหรับประเทศที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ ที่เป็นประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย สิ่งสำคัญคือการสร้างความสมดุลด้านนโยบายต่างประเทศ โดยไม่เอนเอียงไปอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ที่ผ่านมากลุ่มประเทศในอาเซียนและประเทศไทยเองถูกมองว่าไม่มีเอกภาพในกรณีของ ”ยูเครน” และในกรณีของเมียนมา แต่ในกรณีของ “ไต้หวัน” และ ”ทะเลจีนใต้” ซึ่งหากมีการเกิดขึ้นในอนาคตที่ไม่ช้านี้ อาเซียนและไทย มีนโยบายอย่างไร สิ่งเหล่านี้คือ ”โจทย์ใหญ่” ที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนรวมทั้งผู้นำของไทย จะต้องมีการพูดคุย เพื่อเป็นการตั้งรับและหาทางออก หากเกิดความขัดแย้ง และมี ”สหรัฐอเมริกา” เข้ามาทำตัวเป็นผู้ช่วยอย่างที่เกิดขึ้นกับ ”ยูเครน” ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง ประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด หลีกหนีไม่พ้นที่ต้องรับผลกระทบที่เกิดขึ้น

ปี 2023 กลุ่มประเทศอาเซียนมีประเทศอินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน ซึ่งหลายประเทศคาดหวังว่า ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีเอกภาพ มีความเข็มแข็งมากกว่าที่ผ่านมา ดังนั้นนอกจากปัญหาของ ”เมียนมา” แล้ว สิ่งที่สำคัญคือต้องเตรียมการรับมือการขยายอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีเป้าหมายต่ออาเซียนและทะเลจีนใต้ ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องมีนโยบายในการสร้างสมดุล เพื่อการถ่วงดุลของสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งอาจะถึงคราที่ต้องมีการเลือกข้าง ซึ่งต้องคิดให้รอบคอบว่า จะยืนอยู่ฝ่ายไหน ระหว่างมหาอำนาจผู้กระหายสงคราม กับมหาอำนาจที่ยึดมั่นในสันติภาพ ซึ่งทั้งประเทศไทยและอาเซียนย่อมรู้ดีว่า ควรจะยืนอย่างไร และควรจะยืนอยู่กับฝ่ายไหน



ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]