“วัวไม่ตรงปก-คอกไม่ตรงแบบ” ปัญหาของ ‘โคบาลชายแดนใต้’ อยู่ที่ใคร?







บทความ โดย.. ไชยยงค์ มณีพิลึก


หากกล่าวถึงโครงการ “โคบาลชายแดนใต้” ก็จะพบว่า โครงการนี้เกิดจากการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเจ้าของโครงการ ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในด้านของเงินทุน และมีหน่วยงานของมหาดไทยเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบ

ในหลักการ ถือว่า เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะทุกวันนี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซื้อวัว แพะ แกะ จากประเทศไทยจำนวนมากในแต่ละปี รวมทั้งในพื้นที่เอง ความต้องการบริโภคเนื้อวัวก็มีสูง ในขณะที่ผลผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในพื้นที่ ต้องนำมาจากจังหวัดอื่นๆ และภาคอื่น เช่นภาคเหนือ ภาคกลาง เป็นต้น

ดังนั้น ศอ.บต.จึงขับเคลื่อนให้เกษตรกร ที่ต้องการจะเลี้ยงวัวเป็นอาชีพ จัดตั้งเป็นกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชน” เพื่อเข้าเงื่อนไขของโครงการโคบาลชายแดนใต้ ส่งเสริมให้เลี้ยงวัวพันธุ์พื้นเมือง ครอบครัวละ 5 ตัว กลุ่มละ 50 ตัว โดยการกู้เงินจากโครงการส่งเสริมการเกษตร ที่รัฐเป็นผู้จัดหาให้ มีการทำแปลงหญ้าเพื่อเป็นอาหารวัว และทำคอกรวม เพื่อใช้ในการเลี้ยง รวมทั้ง มีงบประมาณในการบริหารจัดการ ที่เป็นค่าอาหารและค่าแรงของสมาชิกวิสาหกิจ ที่เข้าร่วมโรงงานเป็นรายเดือน

ในเบื้องต้น ศอ.บต.ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้มีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในโครงการโคบาลชายแดนใต้ 400 กลุ่ม โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ก็มีการนำร่องในพื้นที่ จ.สตูล 20 กลุ่ม และใน จ.ปัตตานี และ นราธิวาส รวมทั้งสิ้น 42 กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการไปได้ด้วยดีตามเงื่อนไข ในข้อตกลงของของโครงการโคบาลชายแดนใต้

แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการร้องเรียนจากกลุ่มวิสาหกิจใน จ.สตูลและปัตตานีถึงเรื่องของ “วัวไม่ตรงปก” หรือได้รับวัวที่เป็นแม่พันธุ์จากบริษัท ที่นำมาขายให้ ไม่เป็นไปตามทีโออาร์หรือสัญญาหรือเงื่อนไขที่กำหนดในการเข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้

ปัญหาใน จ.สตูล ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของโคบาลชายแดนใต้ เรื่องแรกคือ “คอกรวม” ที่มีการสร้างในพื้นที่ป่าสงวนฯ ซึ่งต้องถามว่าเป็นความผิดของใคร ระหว่างบริษัทวิชัยฟาร์มกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้เข้าร่วมโครงการ

โดยข้อเท็จจริง เกษตรกรใน จ.สตูล ในหลายอำเภอ ไม่ว่าจะเป็น อ.ละงู อ.ควนโดน และอื่นๆ ต่างมีที่ทำกินในเขตป่าสงวนฯ และอยู่มาหลายชั่วคน เป็นการทำกิน โดยที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เมื่อเข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ ทั้งแปลงหญ้า ที่ใช้ในการเลี้ยงวัวและคอกรวม ที่ใช้ในการดูแลวัวกลุ่มละ 50 ตัวต่อหนึ่งคอก ก็ต้องสร้างในที่ “สงวน” ที่อยู่ในชุมชน และผู้ที่กำหนดสถานที่ให้วิชัยฟาร์มสร้างคอกรวม ก็เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ไม่ใช่วิชัยฟาร์มเป็นผู้กำหนดสถานที่




แต่เมื่อสร้างคอกรวมแล้วกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะหน่วยงานของปศุสัตว์จังหวัดบอกว่า “ผิดเงื่อนไข” เพราะไปสร้างคอกรวมในป่าสงวนฯ ทั้งที่นายอำเภอและปศุสัตว์อำเภอเห็นว่า ทำได้ เมื่อปศุสัตว์จังหวัดบอกผิดเงื่อนไข ทำให้กลุ่มวิสาหกิจเหล่านี้เข้าโครงการไม่ได้ ในขณะที่ได้ซื้อวัวหรือรับมอบวัวไปแล้ว

วัวที่รับไปจึงจำเป็นที่จะต้องเลี้ยงดูไปก่อน จนกว่าจะแก้ปัญหาเรื่องของคอกรวมได้ และเมื่อปัญหายังคาราคาซังอยู่ เงินที่จะในการบริหารจัดการ ตั้งแต่เรื่องอาหารวัวและค่าแรงของผู้รับผิดชอบในการเลี้ยงวัวก็เบิกไม่ได้

ที่สำคัญ ในปี 2566 ที่ผ่านมา ในพื้นที่มีน้ำท่วมถึง 2 ครั้ง วัวที่อยู่ในโครงการก็ได้รับผลกระทบ ทั้งเรื่องอาหาร เรื่องการเลี้ยงดู ที่เบิกเงินในการบริหารจัดการไม่ได้ วัวจึงอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้น เกษตรกรที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีปัญหาจึงออกมาเรียกร้องให้วิชัยฟาร์ม ที่เป็นเจ้าของวัวรับผิดชอบ ทั้งเรื่องวัวผอมและเรื่องคอกรวม

และอีกประเด็นที่เรื่องของคอกรวมหลายคอกถูกกล่าวหาว่า สร้างไม่ตรงกับแบบ ประเด็นนี้เกิดจากกลุ่มวิสาหกิจบางกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการขอร้องกับวิชัยฟาร์ม ขอสร้างเอง เพราะต้องการมีงานทำ โดยให้บริษัทสนับสนุนวัสดุในการก่อสร้าง ส่วนการก่อสร้าง สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ก่อสร้างเอง และรับค่าจ้างไปแล้ว ซึ่งหลายแห่ง ประตูและอื่นๆ ไม่เป็นไปตามแปลน แต่เป็นไปตามความต้องการของกลุ่ม เพราะเป็นผู้ใช้งาน

ส่วนในประเด็นวัวผอม น้ำหนักไม่เป็นไปตามเกณฑ์ ก็เป็นปัญหาหนึ่ง ที่ในเงื่อนไขของสัญญา คือ ในวันที่ตรวจรับ ทั้งสองฝ่ายได้ตรวจรับอย่างถูกต้อง มีคณะกรรมการเป็นผู้ตรวจรับ และเป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งในเงื่อนไขระบุว่า ถ้าวัวที่ได้รับไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ข้อตกลง ให้เปลี่ยนวัวได้ภายใน 1 เดือน แต่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนำวัวไปเลี้ยงแล้ว 1 ปีกว่า เมื่อสภาพของวัวไม่เติบโต เพราะมีปัจจัยหลายอย่างตามที่กล่าวมาแล้ว บริษัทจึงไม่เปลี่ยนวัวหรือไม่รับซื้อคืนตามความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจที่มีปัญหา

วันนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมในโครงการโคบาลชายแดนใต้จึงได้นำเรื่องที่เกิดขึ้นมาร้องเรียน เพื่ออยากจะปลดภาระที่เกิดขึ้น และเห็นว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ยิ่งปัญหายังแก้ไม่ได้ การเลี้ยงวัวที่ได้มาแล้วยิ่งเป็นภาระ โดยเฉพาะเงินในการบริหารจัดการ ในเรื่องอาหารวัว และค่าแรงคนเลี้ยง ที่เบิกจากเงินกู้ตามเงื่อนไขไม่ได้

ทั้งหมดคือ ประเด็นที่เกษตรกร ผู้เข้าร่วมกลุ่มโคบาลชายแดนใต้ใน จ.สตูล ออกมาเรียกร้อง เพื่อให้ทุกหน่วยงานทร่วมรับผิดชอบ และบริษัทที่ร่วมโครงการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายต้องหาทางออก เพื่อให้กลุ่มวิสาหกิจชุชนที่มีปัญหาขับเคลื่อนเดินหน้าไปได้ เพราะโครงการโคบาลชายแดนใต้เป็นโครงการที่ดี เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมโครงการ เพียงแต่มีเงื่อนไขของทางราชการ ที่กลายเป็นปัญหาอุปสรรค

ที่สำคัญ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการ และขับเคลื่อนไปได้ โดยไม่มีปัญหาและประสบความสำเร็จ มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนที่เป็นปัญหาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ดังนั้น ศอ.บต. กรมปศุสัตว์ และมหาดไทย ต้องหาทางออกให้แก่เกษตรกรในกลุ่มที่ประสบปัญหา ส่วนวิชัยฟาร์ม ซึ่งเป็นเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการในการขายวัวให้แก่เกษตรกร ก็ต้องช่วยเหลือให้โครงการนี้ไปต่อ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรส่วนใหญ่ ที่เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ไปแล้วนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]