ภาคประชาชนชายแดนใต้ค้าน “ยาบ้า 5 เม็ดเป็นผู้เสพ” จี้รัฐบาลรับฟัง-แก้ไข
กระบวนการยุติธรรม - ประธานยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายาเสพติด ภาคประชาชน ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และประชาชนต่างไม่เห็นด้วยกับนโยบายการครอบครองยาบ้า 5 เม็ดเป็นผู้เสพของกระทรวงสาธารณสุข ชี้รัฐบาลจะต้องรับฟังและนำไปแก้ไข เตรียมนำตัวแทน 65 ตำบลเดินทางไปดูงาน “ตำบลต้นแบบ” พร้อมขับเคลื่อนรุกหนักเอ็กซเรย์พื้นที่หาผู้เสพ-ผู้ค้า
18 เมษายน 2567 พล.อ.วิชาญ สุขสง ประธานยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายาเสพติด ภาคประชาชน ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการขับเคลื่อนโดยกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทั้งการพบปะประชาชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น รวมทั้งการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่ และการเข้าตรวจเยี่ยมเรือนจำต่างๆ พบว่า ปัญหายาเสพติดยังเป็นปัญหาหลัก และปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขในทุกมิติ ทั้งเรื่องการบำบัด การคุมขัง การฝึกอาชีพ และมีอาชีพให้แก่ผู้ที่พ้นโทษ หรือผ่านการบำบัด เพื่อให้เขามีอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัว เพื่อที่จะไปกลับไปเป็นผู้ค้า ผู้เสพ
“ปัญหาที่ภาคประชาชนสะท้อนให้รับทราบคือ สถานที่บำบัดของรัฐไม่เพียงพอ สถานที่บำบัดของเอกชนไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐเท่าที่ควร และที่สำคัญ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำศาสนา และประชาชน แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายการครอบครองยาบ้า 5 เม็ดเป็นผู้เสพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเสียงสะท้อนเหล่านี้ รัฐบาลจะต้องรับฟังและนำไปแก้ไข” พล.อ.วิชาญกล่าว
พล.อ.วิชาญกล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมนำประชาชนที่เป็นตัวแทนของตำบลอาสาแก้ปัญหายาเสพติดจาก 65 ตำบลๆ ละ 2 คน เดินทางไปดูงานการแก้ปัญหายาเสพติด ที่ดำเนินการโดยภาคประชาชนและประสบความสำเร็จ ที่เรียกว่า ตำบลต้นแบบ ที่ ต.วังเพนียด อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี และที่ ต.ท่าอิฐ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ในระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน โดยการประสานงานกับกองทัพในการเดินทางจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยเครื่องบินลำเลียง C 130 ไปยังกรุงเทพฯ และเดินทางโดยรถยนต์ไปยัง จ.ลพบุรี จากนั้น คณะของตัวแทนตำบลอาสาก็จะเข้าพบกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อรับฟังนโยบายของกระทรวงยุติธรรมในเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ก่อนที่จะเดินทางกลับจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยขบวนรถไฟสายใต้
พล.อ.วิชาญกล่าวว่า หลังจากกลับจากการดูงานของตำบลต้นแบบ คณะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภาคประชาชนในการแก้ปัญหายาเสพติด ก็จะรุกหนักในพื้นที่ของตำบลต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ 65 ตำบล เพื่อทำการ เอกซเรย์พื้นที่ หาผู้เสพและผู้ค้า เพื่อดำเนินการตามแผนการของการแก้ปัญหายาเสพติดในตำบลที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ผู้เสพต้องถูกจับกุม เพื่อเข้าสู่ขบวนการตามกฎหมาย ทั้งการถูกจำคุกและการเข้ารับการบำบัด ส่วนผู้ค้าก็จะมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยใช้กฎหมายเข้าดำเนินการ เพื่อให้ทุกตำบลที่เข้าร่วมโครงการเป็นพื้นที่ปลอดยาเสพติด
นอกจากนี้ จะมีการเปิดเวทีชาวบ้านในทุกตำบลที่เข้าร่วมโครงการการแก้ปัญหายาเสพติดครั้งนี้ เพื่อการรับฟังข้อคิดเห็นจาก ชาวบ้าน เพื่อใช้ในการเป็นแผนในการแก้ปัญหายาเสพติด เพราะการแก้ปัญหายาเสพติด โดยภาคประชาชนต้องมาจากความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านจะรู้ปัญหาดีกว่าหน่วยงานอื่นๆ เพราะชาวบ้านอยู่กับปัญหา และผู้เสพ ผู้ค้า ก็เป็นคนในหมู่บ้าน ตำบล และผู้ที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของยาเสพติดก็เป็นครอบครัวของชาวบ้าน
นอกจากนั้น จะมีการขับเคลื่อนด้วยการ แข่งขันกีฬา ที่เป็นที่ต้องการของคนในพื้นที่ว่า อยากจะมีการให้คณะขับเคลื่อนใช้กีฬาอะไรในการสร้างกิจกรรม เพื่อดึงเยาวชนกลุ่มเสี่ยงออกจากวงจรของยาเสพติด เพราะ เยาวชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งยังไม่ได้ถูกดึงเข้าวงจรของการเป็นผู้เสพ ผู้ค้า จะเป็นคนกลุ่มใหญ่ในทุกพื้นที่ ถ้าป้องกันเยาวชนและประชาชน กลุ่มนี้ได้ และในขณะเดียวกัน ถ้านำผู้เสพออกจากพื้นที่ และจับกุมผู้ค้าในพื้นที่ให้ได้ ก็จะบรรลุผลของตำบลปลอดยาเสพติด โดยภาคประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น: