นักวิจัย ม.อ. ศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด–19 สูตรผสมในไทย ผลงานตีพิมพ์ใน JMIR Public Health and Surveillance






รายงานพิเศษ


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยประสบปัญหาอย่างหนัก มีประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปในวงกว้าง ซึ่งความหวังในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อ นั่นคือ วัคซีนโควิด-19

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ผศ. ดร.นพ.พลกฤต ขำวิชา สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ชนิดต่างกันในประเทศไทย ร่วมกับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi)

มี ศาสตราจารย์ นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ประธานหลักสูตร สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ทาง JMIR Public Health and Surveillance ซึ่งมี impact factor 8.5

ผศ. ดร.นพ.พลกฤต ขำวิชา สาขาวิชาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่
  1. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) นั่นคือ วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) และวัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ซึ่งประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ประมาณ 50-60% 
  2. วัคซีนชนิด Viral Vector นั่นคือ แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณ 70-80% 
  3. วัคซีนชนิด mRNA นั่นคือ ไฟเซอร์ (Pfizer) และ โมเดอร์นา (Moderna) ซึ่งถือเป็นชนิดที่ทั่วโลกนิยมใช้มากที่สุด ประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณมากกว่า 90% จากการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 (ระยะการทดสอบระยะสุดท้ายก่อนการพิจารณาใช้งานจริงอย่างแพร่หลาย)

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นการฉีดวัคซีนสูตรผสม เนื่องจากมีการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศอย่างจำกัด ซึ่งจะมีทั้ง
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็ม และบูสเตอร์เข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนชนิด Viral Vector
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดเชื้อตายกับ Viral Vector และบูสเตอร์เข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนชนิด mRNA
  • และผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิด Viral Vector 2 เข็ม และบูสเตอร์เข็มที่ 3 ด้วยวัคซีนชนิด mRNA 

โดยช่วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาและโอไมครอนที่มีการกลายพันธุ์ไปมากจากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ถูกนำมาใช้พัฒนาวัคซีน

ดังนั้นการระดมฉีดวัคซีนจึงไม่ได้หวังผลการป้องกันการติดเชื้อ แต่เพื่อป้องการการป่วยหนักและการตายจากโควิด-19



คณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและการตายจากโควิด-19 ของการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรผสมแบบต่างๆ ในประเทศไทยตามหลักการทางระบาดวิทยา โดยรับการสนับสนุนข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประชาชนในประเทศไทยจากกระทรวงสาธารณะสุขและกระทรวงมหาดไทย

พบว่า 2 เดือนหลังจากการฉีดวัคซีนสูตรผสม 2 เข็ม ประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักจากโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 50% ยิ่งเวลาผ่านไปภูมิคุ้มกันของร่างกายจะยิ่งตกไปเรื่อยๆ จนประสิทธิภาพลดเหลือต่ำกว่า 40% 

และเมื่อผ่านไปเป็นระยะเวลา 7 เดือน เมื่อประสิทธิภาพต่ำกว่า 50% ถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับแล้ว เนื่องจากโดยปกติประสิทธิภาพของวัคซีนที่เป็นที่ยอมรับต้องมีประสิทธิภาพการป้องกันอย่างน้อย 50% 

จึงสรุปได้ว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรผสม 2 เข็ม ประสิทธิภาพที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งการป้องกันการตายจากโควิด-19 พบว่า หลังฉีดวัคซีนสูตรผสม 2 เข็ม เป็นระยะเวลา 2 เดือน ประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณกว่า 50% และเมื่อผ่านไปเป็นระยะเวลา 7 เดือน ประสิทธิภาพจะลดต่ำกว่า 50% เช่นกัน

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มที่ 3 เป็นเวลา 2 เดือน พบว่า ประสิทธิภาพเกิน 80% และหลังจากระยะเวลา 7 เดือนหลังจากฉีด ถ้าวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า จะยังคงประสิทธิภาพอยู่ที่ประมาณ 70-80% ในขณะที่ถ้าเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา ประสิทธิภาพจากเดิมอยู่ที่ประมาณกว่า 80% จะเริ่มลดลงเป็น 60-70% และถ้าฉีด 3 เข็ม โดยใช้วัคซีน 3 ชนิด ที่แตกต่างกันทั้ง 3 เข็ม ประสิทธิภาพจะลดลงเร็วมาก ซึ่งจะอยู่ได้แค่ประมาณ 8 เดือน และหลังจากนั้นประสิทธิภาพจะน้อยกว่า 50% 

และเมื่อวิเคราะห์แยกอายุพบว่าการฉีดวัคซีน 3 เข็ม ในคนเกือบทุกช่วงอายุมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและการตายจากโควิด-19 อย่างน้อย 50% เกิน 8 เดือน ยกเว้นในกลุ่มคนชราที่มีอายุเกิน 80 ปี ประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างน้อย 50% จะอยู่ได้นานไม่เกิน 6 เดือน

////////////////////



ไม่มีความคิดเห็น:

กระบวนการยุติธรรม

[๐ กระบวนการยุติธรรม][bleft]

อุบัติเหตุ

[๐ อุบัติเหตุ][twocolumns]

คุณภาพชีวิต

[๐ คุณภาพชีวิต][bsummary]

ชายแดนใต้

[๐ ชายแดนใต้][bleft]

บทความ

[๐ บทความ][bsummary]